วันนี้เราจะขอพาไปเกาะกัน แต่เป็นเกาะกลางแม่น้ำนะ ไม่ใช่เกาะกลางทะเล เกาะที่ว่านี้ก็คือ เกาะเกร็ด ในจังหวัดนนทบุรีนี่เอง จะพามารู้จักกับอาชีพของชาวมอญที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ด เป็นอาชีพที่สืบต่อจากโบราณ จากรุ่นสู่รุ่น อาชีพนั้น ก็คือ อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผานี้ เรียกได้ว่าอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีตนะครับ คนในสมัยก่อนนี้เขานำเครื่องปั้นดินเผามาใช้ประโยชน์เป็นภาชนะในครัวเรือน แต่ในปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนไทยเริ่มห่างหายจากการใช้เครื่องปั้นดินเผาแล้ว จากเคยใช้หม้อดินก็ใช้หม้ออะลูมิเนียมแทน เคยใช้ครกดินเผาก็มาใช้เครื่องบดปั่น ถ้วยชามก็เปลี่ยนเป็น แก้ว กระเบื้อง หรือพลาสติกกันหมด เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตมากขึ้น การใช้เครื่องปั้นดินเผาจึงไม่นิยมอีกต่อไป แต่มีกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งนะ ที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา การทำเครื่องปั้นดินเผาไว้อยู่ ซึ่งก็คือชาวชุมชนเกาะเกร็ดแห่งจังหวัดนนทบุรีนี่เองครับขอบคุณภาพจาก pxfuel มาทำความรู้จักเกาะเกร็ดกันก่อนครับ เกาะเกร็ด เป็นเกาะกลางน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอำเภอปากเกร็ด ในจังหวัดนนทบุรี ต้องนั่งเรือข้ามฝากจากฝั่งปากเกร็ดเพื่อขึ้นไปเที่ยวเกาะ มักรู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการปั้นเครื่องปั้นดินเผา และประเพณีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านดั้งเดิม ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี เรียกว่ายังอยู่กันแบบเดิมบนเกาะ ส่วนงานฝีมือการปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้น ก็ยังคงมีการประกอบอาชีพนี้กันอยู่เหมือนเดิมนะครับ แต่ไม่ใช่ในทุกครัวเรือนเเล้ว แต่ก็มีให้ได้พบได้เห็นอยู่ ที่หมู่ 1 และ หมู่ที่ 7 ของตำบลเกาะเกร็ดเท่านั้น จึงยังคงได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเกาะเกร็ดได้เป็นอย่างดีขอบคุณภาพจาก pxfuel การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ด มีวัตถุดิบอุปกรณ์ที่สำคัญ คือ1.ดินเหนียว2.ทราย3.ฟืน กระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ด1.นำดินที่ได้จัดวางในที่ร่ม โดยทำการย่อยดินเป็นแผ่นบาง ๆ ตากไว้ให้แห้ง2.นำดินที่แห้งมาหมัก แช่น้ำไว้ประมาณ 4-5 วัน3.นำดินที่หมักได้ที่แล้ว ลงเครื่องปั่นเพื่อให้ดินนั้นแตกตัวเข้ากับน้ำจนเป็นน้ำโคลน4.จากนั้นจะใช้ตะแกรงลวดคัดกรองเพื่อคัดแยกกรวดทราย5.นำดินที่ผ่านการคัดกรองมาเข้าเครื่องรีดน้ำดิน ประมาณ 7-8 ชั่วโมงเมื่อเสร็จจะได้ดินที่แห้งพร้อมพร้อมที่จะขึ้นรูป แล้วนำมาปั้นขึ้นรูปตามแบบที่ต้องการด้วยแป้นหมุนปั้น เสร็จแล้วจะตากผึ่งลมไว้ประมาณ 12 ชั่วโมงขั้นตอนต่อมาคือการแกะลวดลาย เมื่อแกะลวดลายเสร็จแล้ว จะทำการขุดตกแต่งผิวเก็บรายละเอียดอีกครั้ง หนึ่งลมให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วถึงนำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิในการเผา 1100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเผา 24 ชั่วโมง เมื่อเผาเสร็จแล้วจะปิดเตาพักเอาไว้ยังไม่นำออกจากเตา 20 ชั่วโมง เพื่อให้คุณภูมิลดลงอย่างช้า ๆ ได้เวลาจึงเปิดเอาผลิตภัณฑ์ออกมาได้เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการวิธีการทำเห็นกระบวนการทำแล้วต้องร้อง โอ้โห !!!ไม่ใช่ง่าย ๆ เลยนะครับ ที่กว่าจะได้หม้อสักใบหนึ่ง ขั้นตอนทั้งการเตรียมดินเอย การปั้น การตาก การเผา ล้วนแล้วแต่มีกรรมวิธีที่ละเอียดซับซ้อนเป็นขั้นเป็นตอนมาก ใครคิดว่าไม่น่ายากแค่ปั้น ๆ เผา ๆ ก็เสร็จแล้ว บอกเลยว่าคิดผิดนะครับ แบบง่ายนั่นมันปั้นดินเป็นวัวควายสมัยเด็ก ๆ ครับ ฮ่า ฮ่า ฮ่าขอบคุณภาพจาก pxfuel เครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านเกาะเกร็ด จะมี 2 สีนะครับ คือ ส้มอิฐ และ สีดำ สีดำนี้เกิดจากเวลาเผาจะนำหมกขี้เลี่อยขี้เถ้า เมื่อเผาเสร็จจะเป็นสีดำ ดูมีเสน่ห์มีความขลังไปอีกแบบนะครับขอบคุณภาพจาก pxfuel แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านเกาะเกร็ดนี้ สะท้อนเรื่องราวของคนไทยสมัยก่อนได้เยอะเลยนะครับ ก็น่าดีใจที่ชาวชุมชนเกาะเกร็ดก็ยังคงรักษา และอนุรักษ์การทำเครื่องปั้นดินเผาเอาไว้อยู่ ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ 2 หมู่ในเกาะเกร็ด แต่ก็ยังดีกว่าไม่เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้ และรู้จัก ที่น่าประทับใจอีกอย่างก็คือ ยังได้จัดสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องเครื่องปั้นดินเผา ไว้ให้ผู้ที่มาเที่ยวชม ได้หาความรู้บนเกาะเกร็ดด้วยนะครับ เครื่องปั้นดินเผานี้ เป็นศิลปะที่ประณีต และสวยงามมาก ๆ ถึงกาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดนั้น ก็จะอยู่คู่กับชาวเกาะเกร็ดตราบเท่าที่คนรุ่นเก่าแก่จะรักษาไว้ได้ เราในฐานะคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ภูมิปัญญาอันสวยงามเหล่านี้ไว้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ก็อาจจะเลือนหายไป เหลือไว้แค่ชื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียกกันเท่านั้นนะครับ