รีเซต

กสทช. รับคำร้องเครือข่ายเยาวชนตรวจสอบทีวีดิจิทัล 2 ช่องเสนอข่าวเข้าข่ายมอมเมาประชาชน

กสทช. รับคำร้องเครือข่ายเยาวชนตรวจสอบทีวีดิจิทัล 2 ช่องเสนอข่าวเข้าข่ายมอมเมาประชาชน
บีบีซี ไทย
3 กรกฎาคม 2563 ( 17:52 )
38
1
กสทช. รับคำร้องเครือข่ายเยาวชนตรวจสอบทีวีดิจิทัล 2 ช่องเสนอข่าวเข้าข่ายมอมเมาประชาชน

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับตรวจสอบทีวีดิจิทัล 2 ช่อง หลังเครือข่ายปกป้องสิทธิเด็กร้องเรียนให้เอาผิดกรณีละเมิดสิทธิเด็กและมอมเมาประชาชนจากการนำเสนอข่าวฆาตกรรม เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่ จ.มุกดาหาร

นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และเครือข่ายนักกฏหมายเพื่อเด็กและเยาวชนยื่นจดหมายเปิดผนึกเมื่อ 3 ก.ค. ถึง เลขาธิการ กสทช. ขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง ที่นำเสนอข่าว กรณีเด็กหญิง 3 ขวบเสียชีวิตใน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ไปในทางที่ละเมิดสิทธิผู้เสียหายและมอมเมาประชาชน

เด็กหญิงคนดังกล่าวหายไปจากบ้านใน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อ11 พ.ค. 3 วันต่อมา ชาวบ้านพบศพเธออยู่ในป่าบนเทือกเขาภูพาน ห่างจากบ้านราว 2 กิโลเมตร การชันสูตรโดยแพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจพบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายและมีบาดแผลที่อวัยวะเพศ จนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้

https://twitter.com/K_H_G_G_E_Z/status/1278983823368192000

ทางกลุ่มผู้ร้องเรียนไม่ได้ระบุชื่อทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง แต่เสียงวิจารณ์ตำหนิทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวนี้ในช่วงที่ผ่านมาคือ ไทยรัฐทีวีและอมรินทร์ทีวี อีกทั้ง บีบีซีไทยพบว่าทั้ง 2 ช่องมีการนำเสนอข่าวคดีเด็กหญิงนี้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงข่าวค่ำซึ่งเป็นช่วงข่าวหลักของทั้ง 2 สถานี

"เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องสะเทือนใจ มีความละเอียดอ่อนและส่งผลต่อความรู้สึกคนในครอบครัวเด็ก ชุมชน สังคม แต่การนำเสนอของข่าวของสื่อทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง มีการลงรายละเอียดเกินความจำเป็น ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักจริยธรรม และประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว" นายณัฐพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงกล่าว

ทั้ง 2 ช่องส่งผู้สื่อข่าวไปประจำอยู่ในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ให้เวลาในการนำเสนอข่าวนานหลายสิบนาทีเป็นประจำทุกวัน และมีการสร้างภาพกราฟิกอิมเมอร์ซีฟจำลองเหตุการณ์จากคำบอกเล่าประกอบการนำเสนอข่าวด้วย

https://twitter.com/popularkc/status/1278944580381978624

บีบีซีไทยติดต่อไปยังกองบรรณาธิการข่าวของทีวีดิจิทัลทั้ง 2 สถานีต่อข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น แต่ได้รับแจ้งจากไทยรัฐทีวีว่าผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไทยรัฐไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ ขณะที่อมรินทร์ทีวียังไม่ติดต่อกลับ

"ทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง มีการใช้ภาพจริงที่คาดตา ใช้ชื่อเล่นจริง ๆ (ของเด็ก) ไม่ใช่นามสมมุติ อธิบายรายละเอียดเกินความจำเป็น มีการจำลองภาพความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัมภาษณ์บุคคลจนกลายเป็นดรามาใหญ่โต ตั้งคำถามข้ามเส้นจรรยาบรรณ จนกลายเป็นการซ้ำเติมความรู้สึก ซ้ำเติมความทุกข์ของครอบครัว ชุมชน" นายณัฐพลกล่าว

เขาเสริมว่า การนำเสนอภาพและชื่อของบุคคลต่าง ๆ โดยระบุว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ต้องสงสัย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความหวาดระแวง สร้างความขัดแย้งแตกแยกในชุมชนอีกด้วย

"นอกจากนี้ยังผูกโยงไปถึงไสยศาสตร์ ลากข่าวยาวนานเกือบสองเดือน เสมือนเรียลลีตี้โชว์เพื่อเรียกเรทติ้ง และล่าสุดเลยเถิดถึงขั้นใบ้หวยให้เลขเด็ด นำเสนอคำทำนายของร่างทรงว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดี นำเสนอภาพและเสียงเกี่ยวกับตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งเข้าข่ายเชิญชวนให้มีการเล่นการพนัน มอมเมาประชาชน" นักเคลื่อนไหวด้านการปกป้องสิทธิเด็กกล่าว

นายชูวิทย์ เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวตั้งคำถามว่า "สังคมได้อะไรจากการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้"

"เท่าที่ทราบมาทั้ง 2 ช่องนี้ก็ถูก [กสทช.] เชิญมาสอบสวนหลายครั้ง แต่ก็ยังทำเรื่องแบบนี้ซ้ำ ๆ ผมจึงเสนอว่าควรต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ เพราะเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิด เขาก็ยอมเสียค่าปรับ เพราะสุดท้ายแล้วเขาได้เรทติ้ง ได้ความนิยม" นายชูวิทย์กล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้บริหารสื่อทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องคิดถึงผลกระทบจากการนำเสนอข่าวต่อผู้เสียหาย ครอบครัว ชุมชนและสังคมโดยรวมให้มากกว่านี้ และ "นำเสนอข่าวอย่างพอดี สร้างสรรค์ ไม่ละเมิดสิทธิเด็กหรือสิทธิส่วนบุคคลของใคร"

Getty Images

สำหรับข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกที่เครือข่ายยื่นต่อ กสทช. มีดังนี้

  • ตรวจสอบการเผยแพร่ข่าวของสื่อ 2 ช่องดังกล่าว ย้อนหลังไป 2 เดือน ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าข่ายมอมเมาประชาชนให้เล่นการพนันหรือไม่ หากพบความผิดจริงให้ดำเนินคดีตามาตรา 53 มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
  • เร่งออกมาตรการควบคุมจริยธรรมสื่อมวลชนในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน รวมทั้งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของสื่อในกรณีละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • เรียกร้องผ่านไปยังคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติและองค์กรวิชาชีพสื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ และเรียกร้องให้ประชาชนแสดงออกด้วยการปฏิเสธ ไม่สนับสนุนสื่อที่นำเสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ ละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล มุ่งมอมเมาประชาชน

นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาฯ กสทช. กล่าวว่ากสทช. จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และนำเข้าอนุกรรมการที่กำกับดูแลเรื่องผังรายการตรวจสอบว่าเข้าข่ายมีความผิดหรือไม่อย่างไร โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน หากพบว่ามีความผิดจริงจะเชิญทางช่องและผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง