THGลุยเฮลธ์เทคต่อยอด ดีลซื้อรพ.ดันรายได้โต10%


THG วางหมากปี 2566 รายได้โตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 1.15 หมื่นล้านบาท รับผู้ใช้บริการขยายตัว พร้อมซุ่มดีล M&A โรงพยาบาลทั้งใน-นอก เปิดช่องรับทรัพย์เพิ่ม คาดชัดเจนภายในปีนี้ แถมควักงบ 4.7 พันล้านบาท รีโนเวตโรงพยาบาล-ขยายเตียงเพิ่ม ลุย “ดิจิทัลเฮลธ์เทค” ในอีก 3 ปีจากนี้ ปูทางโกยเงินระยะยาว
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้ แนวคิด “ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต” (Lifetime Health Guardian For All) เปิดเผยว่า ในปี2566 บริษัทประมาณรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ราว 1.15 หมื่นล้านบาท เนื่องจากทิศทางผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลขยายตัว รวมทั้งมีรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเข้ามาเสริม
*ลงทุนขยายฐาน
ขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาในการขยายการลงทุนใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรูปแบบมีความเป็นไปได้ทั้งควบรวมกิจการ (M&A) หรือเข้าร่วมลงทุนอยู่ประมาณ 2-3 ดีล เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายช่องทางสร้างรายได้ของบริษัทให้กว้างขึ้น (คาดใช้งบส่วนนี้ราว 1.5-2.0 พันล้านบาท (ไม่รวมงบลงทุนปกติ)) หวังได้เห็นความชัดเจนในปี 2566
นอกจากนี้ได้วางงบลงทุนช่วง 3 ปีนับจากนี้ (2566-2568) ไว้ประมาณ 4.7 พันล้านบาท (ไม่รวมM&A) รองรับการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารใหม่ในโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ แบ่งเป็น โรงพยาบาลธนบุรี 1 อยู่ที่ 2 พันล้านบาท, โรงพยาบาลธนบุรี 2 อยู่ที่ 1 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นอื่นๅ หวังเสริมศักยภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้น่าจะช่วยสนับสนุนให้มีเตียงใหม่เพิ่มอีกราว 200 เตียง จากปัจจุบันที่ราว 1,460 เตียง จากโรงพยาบาลธนบุรีและเครือรวมราว 10 แห่ง
*ลุยเฮลธ์เทคต่อยอด
ขณะที่ในปี 2566 ทาง THG วางกลยุทธ์มุ่งผนึกความร่วมมือกับ รพ.เครือข่ายและสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพสร้างโอกาสเชื่อมต่อฐานลูกค้าทุกช่วงวัยบน On Site (การรักษาพยาบาลและบริการใน รพ.) และ Online ด้วย Digital Health Tech สอดรับเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมอง หาเฮลธ์แคร์ที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้าครอบคลุม 3 กลุ่มสำคัญ
ได้แก่ กลุ่ม B2C นำDigital Health Tech มาเพิ่มความสะดวกในการตรวจรักษาและบริการ ควบคู่ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นจุดขายหลัก, กลุ่ม B2B มองหาโอกาสจากหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ให้พนักงาน รวมถึงจับมือกลุ่มบริษัทประกัน กลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการพาร์ตเนอร์, กลุ่ม B2G มองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนภาครัฐ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพให้กับประชาชนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี เดิมทาง THG มี “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” รับผิดชอบดูแลธุรกิจบริหารศูนย์ หัวใจ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ รพ.พัทลุง รวมทั้งดูแลธุรกิจความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐบาลและเอกชน(PPP) ได้แก่ การบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต และล่าสุด “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด" ในเครือ THG ก็เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด Horizon Rehab Center
*ตั้งบริษัทใหม่
ทั้งนี้ปัจจุบันรายได้หลักธุรกิจเฮลธ์แคร์ยังมาจากการตรวจรักษาแบบ On Site แต่จาก Database พบว่าค่าเฉลี่ย ผู้ป่วยโรคทั่วไปจะเข้า รพ. ลดลงจาก 4-6 ครั้งต่อปี เหลือ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนมีความสนใจHealth Literacy มากขึ้น Online จึงถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล นัดหมายก่อนตรวจรักษา รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของ รพ.
ดังนั้นแนวโน้ม Digital Health Tech จึงสำคัญมากต่ออนาคต THG เพราะธุรกิจเฮลธ์แคร์ยุคต่อไปต้องนำ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมของปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื่อมต่อฐานลูกค้า สร้างรายได้และสร้างแบรนด์ ซึ่งภายใน 5 ปีจากนี้ รพ.ใดปรับตัวได้ก่อนก็จะได้เปรียบ ล่าสุด THG จึงจัดตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด รับผิดชอบดูแลธุรกิจเทเลเมดิซีนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะ