เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-2060093/ สวัสดีครับ วันนี้ผู้เขียนมีสาระดีดีมาฝากท่านผู้อ่านทั้งหลายอีกแล้วครับท่าน วันนี้มาแนวกฎหมายครับ เรื่องที่ผู้เขียนอยากนำเสนอวันนี้เรื่องของ “ละเมิด” ครับ คำว่าละเมิดทางกฎหมายนั้นจะมี 2 ลักษณะนะครับ คือ ความรับผิดทางกฎหมายอาญา และความรับผิดทางละเมิดในทางแพ่ง ซึ่งวันนี้จะนำเรื่องความรับผิดทางละเมิดในทางแพ่งมาคุยกันครับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ครับ ได้วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ถือว่าเป็นการละเมิดครับ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” ทีนี้เรามาดูกันครับว่ามันเกี่ยวกับท่าน ๆ เรา ๆ อย่างไร เครดิตภาพจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.) คำว่า ผู้ใด หมายถึงใครครับ..... คำตอบ หมายถึงใครก็ได้ในโลกนี้ที่เป็นมนุษย์ครับ คือ มีสภาพบุคคล (เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอด อยู่รอดเป็นมนุษย์และสิ้นสุดลงเมื่อตาย) คำว่า ใจจง หมายถึง ตั้งใจมีเจตนาที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ เช่น นายแสวง ตั้งใจเข้าไปตบหัวนายทอง หรือนายแก้วตั้งใจผลักนายดำให้ล้ม เป็นต้น คำว่า ประมาทเลินเล่อ หมายถึง ความที่กระทำการใด ๆ โดยปราศจากความระมัดระวังหรือละเลย ไม่ใส่ใจเรื่องที่ต้องกระทำนั้น เช่น นายแพทย์ผ่าตัดไส้ติ่งให้คนไข้แต่กลับลืมสำลีไว้ในท้องคนไข้หลังผ่าตัดเสร็จ อันนี้หละครับหมายถึง ประมาทเลินเล่อ คำว่า บุคคลอื่น หมายถึง ใครก็ได้ครับที่มีสภาพเป็นมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ แต่ไม่รวมถึงตัวเองนะครับ คำว่า เสียหายถึงชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ความหมายตรง ๆ ตัวครับคือ ทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นเหล่านี้ถือว่าเป็นการละเมิด เช่น นายคำแพงจับด.ช.ต๋อยไปขังอันนี้ก็เป็นละเมิดต่อเสรีภาพหรือนายปัญญาเอาไม้ไปทุบโทรทัศน์ของนางปราณี อันนี้ก็เป็นละเมิดต่อทรัพย์ของนางปราณีเช่นกันคำว่า ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หมายถึง ต้องชดใช้ค่าเสียหายนั่นหละครับ แต่ทีนี้ก็ต้องดูตามพฤติการณ์ และความเหมาะสมด้วยนะครับว่าจะต้องใช้ค่าสินไหมเท่าไรต้องดูพฤติการณ์ของผู้ถูกละเมิดว่ามีส่วนร่วมในความผิดประกอบด้วยด้วยหรือไม่ เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-898931/ กรณีศึกษา เช่น นายดำขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตกขับไปในเส้นทางที่เป็นหลุมมีน้ำขังอยู่ น.ส.อุษา ยืนรอรถประจำทางอยู่ข้างถนน นายดำขับรถตกหลุมโดยไม่สนใจว่า น.ส.อุษา ยืนรอรถอยู่ทำให้นำโคลนกระเด็นใส่ น.ส.อุษาทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าสกปรก อันนี้ก็เป็นการละเมิด และหากเห็นว่ามีความเสียหาย น.ส.อุษาสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้นได้หรือนายเอกโต้เถียงกับนายทรงกลด นายเอกไม่พอใจนายทรงกลด จึงใช้ไม้หน้าสามตีหัวนายทรงกลดแตก แบบนี้นายเอกต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายทรงกลด แต่อย่าลืมนะครับว่าหากนายทรงกลดมีส่วนร่วมในการทะเลาะ (มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอยู่ด้วย) ก็ต้องพิจารณาอัตราค่าสินไหมกันไปตามนั้น (อาจจะลดลงได้) เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-553836/ เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-1016218/ อย่าลืมนะครับนี้คือการใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะทางแพ่ง แต่ความผิดทางอาญาก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการของกฎหมายอีกทีหนึ่งไม่ใช่ว่าชดใช้ในส่วนของค่าสินไหมในทางแพ่งนี้แล้วอาญาจะจบไปด้วย.....ไม่จบนะครับ อย่าแอบไปละเมิดใครเข้าหละ....