การนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาอาการนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้พืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและหาได้จากท้องถิ่น ซึ่งพืชสมุนไพรนั้นก็มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดนั้นล้วนมาสรรพคุณที่แตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรน้อยมาก และรู้จักพืชสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น อีกทั้งพืชสมุนไพรบางชนิดก็เริ่มหาได้ยาก และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เต็มที ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการนำสมุนไพรมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ จะกลายเป็นเรื่องไกลตัว แต่คุณค่าและภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่ถูกสืบทอดมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ก็คู่ควรแก่การอนุรักษ์และสืบสานต่อไปผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการนำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพืชสมุนไพรมาเผยแพร่ให้ความรู้แก้ผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงลักษณะและสรรพคุณของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด อันจะทำให้พืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรเก่าแก่หนึ่งชนิด มาบอกเล่าถึงสรรพคุณที่น่าสนใจ สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อว่า “คงคาเดือด” เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันในบทความนี้ภาพถ่ายโดยผู้เขียนลักษณะของ “คงคาเดือด” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นกลมตรง มีคดบ้างเล็กน้อย แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่ม ผิวเปลือกบางขรุขระเล็กน้อย มีสีเทา มีเนื้อไม้แข็งเหนียว กิ่งอ่อนที่แตกออกจะมีสีเขียว ใบรูปร่างรีแกมไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบทั้งสองข้างเรียบขนานกัน ผิวใบมันเรียบ เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียบสลับกันที่กิ่ง ดอกมีสีแดงอมน้ำตาลออกเป็นกระจุกเป็นช่ออยู่ปลายยอด ลักษณะของกลีบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ผลเป็นรูปทรงรี เป็นผลแบบแคปซูล บาง เกลี้ยง ปลายผลและขั้วผลแหลม มีปีก 3 ปีก พอแห้งจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่กลับมีขนขึ้นสีน้ำตาลปกคลุมภาพถ่ายโดยผู้เขียนสรรพคุณของ “คงคาเดือด” แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยถ่ายพยาธิ แก้แผลในปาก ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ บำรุงปอด แก้อาการคันตามผิวหนังเมื่อสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กมักพบ “คงคาเดือด” ขึ้นอยู่ตามริมน้ำริมคลองที่ติดอยู่กับท้ายสวน ได้ทราบจากปู่ว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการต่าง ๆ ได้หลายอาการ ครั้งหนึ่งผู้เขียนมีอาการลมพิษทำให้เกิดมีผื่นคันตามร่างกาย ปู่ได้นำเปลือกของ “คงคาเดือด” มาต้มน้ำให้ผู้เขียนอาบ ซึ่งเมื่ออาบเสร็จก็บรรเทาจากอาการคันและหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ปู่ยังบอกอีกว่าเปลือกและเนื้อไม้ของ “คงคาเดือด” สามารถนำมาต้มเป็นยาสมุนไพรใช้ดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เจ็บคอ และช่วยให้เจริญอาหารได้เป็นอย่างดี ส่วนรสชาติก็จะจืดอมหวานนิด ๆ ดื่มง่ายที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสรพคุณบางส่วนที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มา ซึ่งนอกจากนี้ “คงคาเดือด” ยังสามารถนำไปเข้าเครื่องยาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น เพื่อประกอบเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายอาการ และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ทุกท่านรู้จักกับพืชสมุนไพรมากขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรเหล่านี้ให้คงอยู่สืบต่อไปภาพถ่ายโดยผู้เขียน