ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้แพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศ เมืองหลวงของเราอย่างกรุงเทพฯเองก็ได้พัฒนาไปจากเดิมมากขึ้นจริงๆ จากที่ที่เคยเป็นที่ดินโล่งๆก็กลายเป็นห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าที่ตัดผ่าน จากที่ที่เคยเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้คนก็ได้กลายสภาพเป็นตึกสูงระฟ้า ไม่ว่าเราจะมองไปทางไหน ไม่ว่าเราจะไปยังที่แห่งหนใดในเมืองนี้ ก็ล้วนแล้วแต่รายล้อมไปด้วยความศิวิไลซ์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า แต่ในความเจริญก้าวหน้านี้เองก็ได้มีภัยเงียบที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา โดยที่พวกเรานั้นก็ไม่ได้ตระหนักถึงภัยเงียบนี้แม่แต่น้อย ภัยเงียบที่ว่านี้คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากพื้นที่สีเขียวที่ต้องถูกทำลายลงเพื่อให้ได้มาซึ่งความศิวิไลซ์ ดังนั้นเราจึงต้องรีบตระหนักรู้ถึงภัยเงียบนี้ และกระตือรือร้นในการเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้บานปลายไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯมาตั้งแต่เริ่มพัฒนาเมืองในยุคแรกๆ และค่อยๆกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นๆเรื่อยๆจนมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯของเรานั้นมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ปัญหามลพิษจากเขม่าควัญรถยนต์ ปัญหาน้ำเน่าเสียในตัวเมือง และอีกหลากหลายปัญหาที่จัดอยู่ในกลุ่มปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง ซึ่งที่มาของปัญหาเหล่านี้นั้นมาจากหลายสาเหตุ แต่ถ้าหากเรามองลึกลงไปในต้นตอของปัญหา จะพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากการพัฒนาเมืองที่ไร้แบบแผนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองตั้งแต่ต้น อาคารสูงโผล่ขึ้นมาเต็มเมืองแต้ไร้ซึ่งการจัดการพื้นที่สีเขียวและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เส้นทางคมนาคมต่างๆเช่นถนนและทางรถไฟถูกสร้างขึ้นทั่วเมืองแต่ไร้ซึ่งระบบจัดการมลพิษและการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาเมืองที่ไร้แบบแผนนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงโดยเร็ว การพัฒนาเมืองโดยยึดหลักการ Smart City จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ โดยจะขอยก 4 ข้อ ของหลักการนี้มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อแรกคือ Smart Environment ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆมาช่วยบริหารจัดการอย่างมีระบบ เช่น การดูแลสภาพอากาศ การวางระบบบำบัดน้ำเสียและขยะ ข้อที่สองคือ Smart Energy คือการบริหารจัดการเมืองให้จัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อที่สามคือ Smart Mobility คือการมุ่งเน้นพัฒนาระบบคมนาคมโดยควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และข้อสุดท้ายคือ Smart People คือมุ่งพัฒนาและปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชนในด้านองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การคิดนวัตกรรมใหม่ๆในการพัฒนาเมือง จากหลักการข้างต้นทั้ง 4 ข้อ จะเห็นได้ว่าหลักการ Smart city ล้วนแล้วแต่เป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงในการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ดังนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่หลักการ Smart City จะสามารถเป็นรากฐานที่แข็งแรงในการพัฒนากรุงเทพฯของเราในอนาคตได้อีกด้วย ความศิวิไลซ์และความล้ำสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาเมือง แต่ก็อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรละเลยต่อสิ่งแวดล้อมจนไม่สนใจปัญหาอะไรเลย การตระหนักรู้ถึงต้นตอปัญหาและการมีแบบแผนรับมือนั้นถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในการพัฒนาเมือง ถ้าหากเรายังนิ่งเฉยต่อไปก้จะทำให้ภัยเงียบนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่จนอาจจะเลยจุดที่เราสามารถแก้ไขได้ ซึ่งเหตุผลที่ผู้เขียนมองว่าหลักการ Smart City นั้นเป็นหนทางที่ยั่งยืนในการพัฒนาเมืองในภายภาคหน้า เพราะว่าหลักการนี้จะช่วยวางรากฐานของระบบในเมืองต่างๆไปจนถึงการปลูกจิตสำนึกของผู้คน จึงมองว่าจะสามารถแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้ได้ เพื่อให้เมืองหลวงของเราสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญในขั้นต่อๆไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว แหล่งที่มาภาพประกอบที่ 1 โดย allPhoto Bangkok / Pexelsภาพประกอบที่ 2 โดย Oleksandr Pidvalnyi / Pexelsภาพประกอบที่ 3 โดย Oleksandr Pidvalnyi / Pexelsภาพประกอบที่ 4 โดย jimmy teoh / Pexelsภาพหน้าปก โดย Surapat Shutter / Pexels7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร์