การจะต่อหรือประกอบโมเดลคิท พลาสติกโมเดล หรือกันพลาขึ้นมาให้ได้ซักตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน เกรดอะไร สิ่งสำคัญที่จะขาดไปเสียไม่ได้เลยนั่นก็คือคู่มือที่จะช่วยเราในการประกอบตัวกันพลาขึ้นมานั่นเองในคู่มือจะมีรายละเอียดที่สำคัญทุกอย่างที่จะบอกและอธิบายเราเกี่ยวกับกันพลาตัวนั้น ๆ ตั้งแต่วิธีประกอบ พาร์ทชิ้นส่วนต่าง ๆ จำนวนแผง รวมไปถึงรหัสสีและการผสมสีสำหรับผู้ที่ต้องการทำสีตามสีออริจินอลของกันพลาตัวนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลรายละเอียดและประวัติเกี่ยวกับกันพลาตัวนั้น ๆ ด้วยเราจะเห็นว่าคู่มือกันพลาไม่ว่าจะส่งขายประเทศใดก็ตามมันเป็นภาษาญี่ปุ่นเกือบจะแทบทั้งสิ้น พวกข้อมูลพิเศษต่าง ๆ นอกจากวิธีการประกอบแล้วจึงมักไม่ค่อยมีใครสนใจกันเท่าไหร่ (อาจจะยกเว้นผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่น) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการประกอบเพราะเรียกได้ว่าคู่มือมีภาพประกอบเป็นภาษาสากลที่คนทั่วโลกสามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถึงยังไงก็ตามในคู่มือเพื่อการประหยัดเนื้อที่และความสะดวกสบายในการอ่านมักจะมีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้ต่อทราบว่าต้องทำอย่างไรในการประกอบโดยไม่ต้องเขียนอธิบายมากมาย และเป็นการช่วยให้ผู้ต่อสามารถประกอบได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ปลอดภัยต่อชิ้นงาน และได้งานที่สมบูรณ์ โดยตัวสัญลักษณ์จะมีการเขียนอธิบายความหมายไว้ที่หน้าแรกของคู่มือ (ถ้าเป็นกันพลาที่เก่าหน่อยอาจอยู่ที่หน้าท้าย ๆ ) แต่มันก็ยังเป็นภาษาญี่ปุ่นที่หลาย ๆ คนอ่านไม่ออกอยู่ดี แล้วสัญลักษณ์พวกนั้นมันหมายความว่าอะไรละแม้ว่าคู่มือจะอ่านง่ายและเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ก็เชื่อว่ายังมีเพื่อน ๆ น้อง ๆ อีกหลายคนที่ไม่เข้าใจกับสัญลักษณ์เหล่านี้ จนบางครั้งอาจทำให้เสียเวลาหรือประกอบผิดได้ ซึ่งนำมาซึ่งการแก้ งัด แงะ ประกอบใหม่ หรือบางครั้งอาจเกิดการแตกร้าวเสียหายจากการไม่ทำตามคู่มือแนะนำก็เป็นได้ คราวนี้เราจะมาอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ที่เราเจอกันบ่อย ๆ ในคู่มือว่ามันหมายถึงอะไรกันบ้างเพื่อช่วยให้ทุกคนต่อกันพลาได้ง่าย สมบูรณ์แบบ ปลอดภัยและสนุกมากยิ่งขึ้น นี่คือสัญลักษณ์ในคู่มือ Wing Gundam MG Ver.KA ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พบได้บ่อย และมักต้องใช้ในการประกอบโดยส่วนมาก ซึ่งโดยปกติสัญลักษณ์ที่มีอธิบายไว้จะแตกต่างกันในกันพลาแต่ละเกรด เช่น เกรด SD หรือ HG ก็จะมีสัญลักษณ์ที่ใช้น้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้มีขั้นตอนที่ต้องประกอบด้วยวิธีตามสัญลักษณ์เหล่านั้นมาเริ่มกันเลย สัญลักษณ์ในคู่มือประกอบกันพลา แต่ละอย่างหมายความว่าอย่างไร1. Part to be gluedหมายถึง ชิ้นส่วนนี้ต้องมีการทากาวเพื่อประกอบ ซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีแล้วในกันพลาเนื่องจาก ผู้ผลิตได้พัฒนาให้กันพลาต่อได้ง่ายด้วยวิธีการที่เรียกว่า snap-fit โดยไม่ต้องใช้กาว แต่ก็มักจะพบเห็นได้ในโมเดลทหาร รถถัง หรือโมเดลยานภาหนะต่าง ๆ มากกว่า 2. Metallic Sticker Numberหมายถึง จุดที่ต้องติดสติ๊กเกอร์ ซึ่งเป็นสติ๊กเกอร์ฟรอย (ที่ต้องลอกและมีกาวเหนียวติดนั่นแหละ) โดยตัวอักษรที่อยู่ในวงกลมจะหมายถึงอักษรตามสติ๊กเกอร์ชิ้นนั้น ๆ ที่ต้องเอามาติด กันพลายบางตัวจะใช้เป็นตัวเลขแทน 3. Decal Numberความหมายเหมือนกับ Metallic Sticker Number แต่จะเป็นการติดสติ๊กเกอร์ที่เรียกว่า ดีคอล (Decal) หรือ รูปลอกแทนปล. ในสัญลักษณ์เป็นรูปการขูดดีคอล เนื่องจากสมัยก่อนดีคอลรุ่นแรก ๆ เป็นแบบขูด คือใช้การวางทาบดีคอลที่ต้องการติดไปบนชิ้นงาน แล้วใช้วัสดุที่มีความแข็งขูด ๆ ให้ดีคอลลอกติดกับชิ้นงาน แต่ต่อมาก็ได้มีดีคอลรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ดีคอลน้ำ วิธีการใช้ให้นำไปแช่กับน้ำให้ตัวรูปลอกร่อนจากแผ่นกระดาษแล้วนำไปวางทาบติดบนชิ้นงานได้เลย เมื่อแห้งดีคอลจะติดบนชิ้นงานเอง ซึ่งในปัจจุบันยังมีดีคอลทั้งสองรูปแบบใช้อยู่และบางครั้งก็มีดีคอลขายแยกต่างหาก สัญลักษณ์ในคู่มือจึงไม่ได้มีแบ่งแยกประเภทดีคอลมาให้แต่ให้รวมถึงการติดดีคอลทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม 4. Part will be installed on the opposite sideอธิบายง่าย ๆ คือการประกอบสองชิ้นที่ฝั่งตรงการข้ามกันเป็นลักษณะเหมือนกันหรือเป็นภาพสะท้อนกระจก มักเจอในกรณีที่ชิ้นส่วน 2 ชิ้น มีเบอร์เรียงกัน ตัวอย่างเช่น ในภาพเราจะเห็นแค่ชิ้น C6 ซึ่งสัญลักษณ์ในคู่มือบอกเราว่า เราต้องประกอบชิ้น C6 กับ ชิ้น C5 ในด้านตรงข้ามนั่นเอง 5. Symmetrical parts to be installedสัญลักษณืนี้จะมีความคล้ายกับสัญลักษณ์ก่อนหน้าทั้งภาพและความหมาย แต่ให้จำว่าสัญลักษณ์นี้คือการประกบสองชิ้นที่มีความสมมาตรกันเข้าด้วยกัน นั่นคือชิ้นส่วนทั้งสองชิ้นจะมีลักษณ์ที่เหมือนกันเปี๊ยบ ง่าย ๆ ว่ามันคือชิ้นเดียวกันเลย สามารถที่จะติดสลับฝั่งกันก็ได้ แตกต่างจาก Part will be installed on the opposite side ที่ชิ้นส่วนสองชิ้นเป็นภาพสะท้อนกัน ไม่สามารถที่จะประกอบสลับข้างกันได้ 6. Pay attentionอันนี้ตรงตัวนั่นคือ "ให้ระวัง!!" เมื่อพบเห็นสัญลักษณ์ในคู่มือหมายถึงชิ้นส่วนหรือขั้นตอนประกอบนั้นมีความสำคัญมาก ให้เราระวังในส่วนนั้น ๆ ว่าอาจจะเสียหายแตกหักได้ ถ้าหากประกอบผิด ขยับหรือหมุนผิดด้าน ให้เราทำตามภาพในคู่มืออย่างระมัดระวัง 7. Be Carefulสัญลักษณ์นี้ก็ให้ระวังอีกเช่นกัน แต่ใช้กับกรณีที่ต้องมีการขันหรือใช้น๊อตยึด ให้ระวังหากเราขันแน่นไปหรือออกแรงมากเกินไปก็จะทำให้ชิ้นส่วนเสียหายได้ 8. Part to be cutจุดที่ต้องมีการตัด มักใช้ชี้จุดที่ต้องตัดออกจากแผงซึ่งจะมีสัญลักษณ์ตรงข้ามอย่าง จุดที่ห้ามตัด ( Do not cut ) มักใช้ชี้จุดที่เป็นชิ้นส่วนของชิ้นงานที่อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเกทหรือเดือยของรันเนอร์ได้ 9. This procedure has to be repeatedหากพบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมาย คูณ ( X ) กับตัวเลข หมายถึงขั้นตอนนี้ให้ทำซ้ำตามจำนวนตัวเลขที่บอกไว้ ใช้กับชิ้นงานที่ต้องทำเบิ้ลซ้ำ ๆ เหมือน ๆ กันหลายชิ้น เช่น ฟันเนลของนิวกันดั้ม เป็นต้น 10. Connect this part firstให้ประกอบจุดนั้น ๆ หรือขั้นตอนนั้น ๆ เข้าไปก่อนหรือเป็นลำดับแรก เพราะหากไม่ประกอบเข้าไปก่อนอาจมีผลให้ชิ้นอื่นประกอบไม่ได้ หรืออาจต้องถอดประกอบใหม่เมื่อประกอบขั้นตอนอื่นไปแล้ว 11. Connect this part lastตรงข้ามกับสัญลักษณ์อันก่อนหน้า อันนี้คือให้เราประกอบขั้นตอนนี้ทีหลังขั้นตอนอื่น ๆ หรือให้ประกอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย 12. Rotate opposite from its current positionให้เราหมุนชิ้นส่วนจากภาพตามคู่มือตามองศาที่ปรากฎ ใช้กรณีที่อาจจะต้องหมุนส่วนนั้นเพื่อประกอบขั้นตอนต่อไปหรือชิ้นส่วนต่อไป 13. Your choice / Optionsในกันพลาบางตัวจะมีการให้อะไหล่หรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มาให้ด้วย สัญลักษณ์นี้คือให้เราเลือกได้เองว่าจะใช้อะไหล่หรือชิ้นส่วนแบบไหน เช่น อยากให้กันดั้มถือปืน หรือถือดาบ หรือ อยากให้เป็นหุ่นที่ติดปีก ติดบู๊สเตอร์ หรือไม่ติดเป็นแบบมาตรฐาน จะใช้ชิ้นส่วนไหนแทนกันก็ได้ ให้เราเลือกเอาเอง เป็นต้น 14. Opposite side will also move the same directionหมายความว่าทิศทางการเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนที่อยู่ตรงข้ามจะเคลื่อนที่หรือเราต้องจัดให้เคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกันกับชิ้นส่วนอีกด้านหนึ่ง อาจพบบ่อยในหุ่นที่ต้องมีการเปลี่ยนโหมดแปลงร่างหรือต้องพับเก็บส่วนต่าง ๆ เช่น การเป็น bird mode ของวิงกันดั้ม ก็จะต้องมีการหมุนหรือพับ แขนและขา ในทิศทางเดียวกันทั้งสองข้าง ซ้ายและขวา เป็นต้น 15. Sequence guide orderจริง ๆ ต้องจัดเป็นสัญลักษณ์พื้นฐานที่ใครดูก็เข้าใจ นั่นคือลำดับในการประกอบนั่นเอง ลักษณ์นี้คือตัวเลขอยู่ในสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หมายความว่า ให้ประกอบหรือพับ บิด ชิ้นส่วนนั้น ๆ ตามลำดับตัวเลข มันก็คือลำดับขั้นตอนในการประกอบนั่นเอง ซึ่งสัญลักษณ์นี้เราจะเห็นอยู่ตลอดคู่มือ รองจากตัวเลขบอกชิ้นงานหรือแผงนั่นเอง16. points to take note of or be aware ofเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่รู้จะเรียกชื่อไทยสั้น ๆ ว่าอะไรดี แต่จะมีลักษณ์คล้าย ๆ ฟันหนูสองซี่ ซึ่งหมายความว่า ให้เราสังเกตในการประกอบว่าให้ประกอบชิ้นโดยหันตามรูปหรือประกอบเดือยนั้นให้เข้าไปให้พอดี บ้างครั้งจะเป็นการไกด์ให้เราเจอจุดสังเกตของชิ้นงานว่าถูกต้องไหม เช่น เป็นชิ้นของข้างซ้ายหรือข้างขวา หันยังไงให้ใส่พอดี ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกและลดเวลาในการประกอบลงได้มากทีเดียว ในปัจจุบันกันพลาก็ยังคงมีการพัฒนาและออกแบบทั้งตัวกันพลาและวิธีการในการประกอบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงอาจจะมีการอัพเดตสัญลักษณ์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นมากกว่านี้ในอนาคต ถ้ามีการอัพเดตที่น่าสนใจผู้เขียนก็จะนำมาฝากเพื่อน ๆ อีกอย่างแน่นอนเครดิตของรูปภาพ :ภาพปก และ ภาพประกอบ โดยเจ้าของบทความเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !