หลายคนเรียกการวาดภาพจากภาพถ่ายว่าดราฟ ซึ่งแท้จริงแล้ว ดราฟคือการร่างภาพเท่านั้น ส่วนการวาดภาพจากภาพถ่ายต้นฉบับจนได้ภาพเสมือนจริงนั้นเรียกว่า เทรซ (Trace) ซึ่งในสมัยปัจจุบันการเทรซภาพไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีโปรแกรมที่สามารถทำให้คุณสามารถสร้างผลงานภาพวาดจากภาพถ่ายได้เสมือนต้นฉบับ โดยมีทั้งโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์และแอพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่าง โปรแกรมของค่าย Adobe อย่าง Illustrator ที่มีคุณสมบัติในการร่างเส้นจากภาพถ่ายและลงสีได้เสมือนจริง และ Photoshop ที่มีคุณสมบัติในการตกแต่งภาพให้เป็นภาพวาดได้โดยการใช้เอฟเฟ็กต์ช่วย แต่สำหรับใครที่ไม่มีหรือไม่เคยสองโปรแกรมนี้เลย คุณก็สามารถเทรซภาพจากภาพถ่ายได้ง่าย ๆ โดยใช้โปรแกรมที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องมีอย่างแน่นอน นั่นคือ PowerPoint ค่ะหลายคนอาจจะแปลกใจว่า โปรแกรม PowerPoint นั้นจะสามารถวาดภาพได้อย่างไร ปกติเขาใช้ในการสร้างสไลด์นำเสนองานมิใช่หรือ ที่จริงแล้ว โปรแกรมสามัญประจำคอมพิวเตอร์นี้ ไม่ได้มีดีแค่ทำสื่อนำเสนองานและใส่ลูกเล่นให้สไลด์นำเสนอได้อย่างเดียวนะคะ ยังสามารถนำมาใช้วาดภาพได้ด้วย โดยการใช้ฟังก์ชันการวาดรูปร่างที่อยู่ในเมนูแทรกค่ะ ซึ่งมีรูปร่างสำเร็จรูปให้เราเลือกหลายแบบทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หัวใจ ดาว ลูกศร ซึ่งรูปร่างเหล่านี้แหละค่ะที่เราจะสามารถนำมาแก้ไขให้เป็นรูปร่างที่เราต้องการได้ วันนี้ผู้เขียนจะสาธิตวิธีการเทรซภาพโดยใช้ PowerPoint กันค่ะ สำหรับภาพที่ผู้เขียนจะนำมาเป็นต้นฉบับในการเทรซวันนี้ คือภาพของมะม่วงหิมพานต์ หรือ มะม่วงหาว ตอนนั้นผู้เขียนจะตัดต่อไปประกอบกับมะนาวโห่ เป็นภาพปกบทความเรื่อง ไขข้อข้องใจ "มะม่วงหาว มะนาวโห่" คือผลไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่ (ภาพปกด้านล่าง) แต่บทความไม่ผ่านอนุมัติ (ฮือ ๆ เรื่องมันเศร้าจริงหนอ) เขียนจึงถือโอกาสในการนำภาพมะม่วงหาวที่ตัดภาพพื้นหลังเรียบร้อยแล้ว มาต่อยอดเป็นงานเทรซภาพในบทความนี้ จากภาพด้านล่าง ทางซ้ายมือคือภาพมะม่วงหาวที่ตัดพื้นหลังเรียบร้อยแล้ว ภาพจริงมาจากเว็บไซต์ Pixabay จาก bobbyvj0 (คลิกดูภาพต้นฉบับ) ส่วนภาพขวาคือผลงานการเทรซภาพจากต้นฉบับค่ะ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้คุณสมบัติจากโปรแกรม PowerPoint ทั้งหมด ไม่ได้ใช้โปรแกรมอื่นเสริมค่ะ เริ่มต้นโดยการเปิดโปรแกรม PowerPoint วางภาพต้นฉบับไว้ที่สไลด์หน้าปัจจุบัน เราจะเริ่มขั้นตอนการวาดโครงร่างของภาพ โดยคลิกที่เมนู "แทรก" และตามด้วย "รูปร่าง" (หมายเลข 1) จากนั้นให้เลือกรูปร่างสำเร็จรูปที่ใกล้เคียงกับรูปทรงของผลมะม่วงหาวมากที่สุด ในที่นี้ผู้เขียนเลือกรูปหยดน้ำ (หมายเลข 2) จะได้รูปร่างหยดน้ำที่มีพื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน ปรับขนาดให้เท่ากับภาพต้นฉบับ (หมายเลข 3) เหมือนภาพประกอบด้านล่างนี้ค่ะ รูปร่างที่เห็นอยู่นี้ ประกอบไปด้วยจุดสีดำยึดต่อกันเป็นเส้นรูปร่าง ซึ่งเราจะใช้วิธีดึงเส้นของแต่ละจุดเพื่อแก้ไขรูปร่างให้เป็นไปตามทรงที่เราต้องการได้ เริ่มต้นคลิกที่รูปร่าง และคลิกที่ "รูปแบบ" (หมายเลข 1) จากนั้นคลิกที่ "แก้ไขรูปร่าง" และ "แก้ไขจุด" (หมายเลข 2) กลับมาดูที่รูปร่างของเรา จะปรากฏจุดสีดำขึ้นมา ให้เราคลิกที่จุด (หมายเลข 3) จะมีเส้นที่มีหัวสี่เหลี่ยมตรงปลายทั้งสองข้าง สำหรับให้ดึงเพื่อเปลี่ยนรูปร่าง ให้เราคลิกที่ปลายข้างใดข้างหนึ่งและบิดไปมา เพื่อให้รูปทรงในส่วนนั้นโค้งไปมาตามภาพต้นฉบับได้ เราสามารถคลิกขวาเพื่อเพิ่มจุดในบริเวณที่มีเหลี่ยมมุม หรือลบจุดที่ไม่จำเป็นออกได้ ซึ่งเครื่องมือในส่วนนี้เหมือนโปรแกรม Illustrator แต่ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าค่ะเราสามารถเอาสีพื้นหลังของรูปร่างออกได้ โดยอยู่ที่เมนู "รูปแบบ" (หมายเลข 1) จากนั้นคลิกที่ "เติมสีรูปร่าง" และเลือก "ไม่เติม" (หมายเลข 2) จะเหลือแต่สีของเส้นรูปร่าง ทำให้เราเห็นรูปทรงของต้นฉบับขณะที่แก้ไขรูปร่างได้ง่ายขึ้นเมื่อปรับโครงร่างของผลมะม่วงหาวจนได้ตามต้องการแล้ว เราจะมาวาดโครงร่างในส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แต่ เมล็ด และก้าน ผู้เขียนใช้รูปสามเหลี่ยม (หมายเลข 1) และใช้เทคนิคการปรับจุดจนได้รูปร่างตามต้องการ (หมายเลข 2) ทั้งเมล็ดและก้าน จากนั้นให้นำเส้นร่างของทุกส่วนไปประกอบกันโดยวางทาบบนภาพต้นฉบับเมื่อได้โครงร่างของมะม่วงหาวโดยภาพรวมแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการลงสี ให้เลือกรูปร่างส่วนที่ต้องการ และคลิกที่ "รูปแบบ" (หมายเลข 1) และเลือก "เติมสีรูปร่าง" (หมายเลข 2) เราสามารถใช้เทคนิคการลงสีได้หลากหลาย เพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ (หมายเลข 3) เริ่มต้นผู้เขียนใช้หลอดดูดสีไปจิ้มที่ส่วนที่คาดว่าเป็นสีหลักของภาพต้นฉบับมาก่อน (หมายเลข 4) จากนั้นใช้ตัวเลือก "ไล่ระดับสี" ใช้เทคนิคไล่โทนสีให้เหมือนกับในภาพต้นฉบับ แต่สีที่โปรแกรมกำหนดมาให้ยังไม่ตรงกับที่ต้องการ จึงเลือก "การไล่ระดับสีเพิ่มเติม" เพื่อกำหนดสีเอง (หมายเลข 5) จะปรากฏแท็บ "จัดรูปแบบและรูปร่าง" ขึ้นมาทางขวามือ ประกอบไปด้วยเครื่องมือสำหรับจัดการรูปร่างที่หลากหลาย ผู้เขียนจะเริ่มต้นจากการลงสี โดยคลิกที่รูปถังสี (หมายเลข 1) และเลือกช่อง "เติมไล่ระดับสี" เราสามารถเพิ่มจุดไล่ระดับสีด้านล่างให้หลากหลาย โดยการจิ้มไปตามส่วนต่าง ๆ ของภาพต้นฉบับ เราสามารถเปลี่ยนทิศทางและรูปแบบการไล่ระดับสี เพื่อให้ได้สีตรงกับต้นฉบับมากที่สุด ในที่นี้ ผู้เขียนเลือกการไล่ระดับสีแบบรัศมี มีจุดเริ่มต้นจากบนลงล่าง จากนั้นคลิกที่รูปห้าเหลี่ยม (หมายเลข 2) เพื่อใส่แสงเงาโดยใช้โทนสีที่เข้มขึ้นตรงมุมใดมุมหนึ่ง เพื่อเพิ่มมิติให้ผลมะม่วงหาวที่วาดออกมาดูสมจริงมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่เอฟเฟ็กต์ให้กับรูปร่างได้ แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นภาพปกติก่อน โดยการคลิกขวาที่รูปร่างที่ต้องการ เพื่อคัดลอกและวางเป็นภาพ (หมายเลข 1) จากนั้นให้เลือก "รูปแบบ" (หมายเลข 2) และ "เอฟเฟ็กต์แนวศิลป์" ที่ทำให้เราสามารถใส่เทคนิคพิเศษให้ภาพได้ เช่น ฟองน้ำชุบสี โมเสค ในที่นี้ผู้เขียนใช้การเรืองแสงแบบพร่ากระจาย เพื่อเพิ่มความสว่างให้กับส่วนที่ตรงข้ามกับเงามืด สังเกตว่า ภาพเริ่มมีแสงกระจายจนคล้ายต้นฉบับ (หมายเลข 3) ทำซ้ำกับส่วนเมล็ดและก้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนรูปร่างเป็นภาพแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขเส้นและสีของรูปร่างได้ ดังนั้น ควรเก็บรูปร่างต้นฉบับแยกไว้ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นภาพ เผื่อเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนสีในภาพหลัง เสร็จแล้วค่ะ ทีนี้ลองเอาภาพที่เทรซเสร็จแล้ว มาวางเทียบกับภาพต้นฉบับดูนะคะ ถือว่าใกล้เคียงกับต้นฉบับประมาณ 85% ส่วนที่ยังขาดไปคือ ผิวขรุขระของผลมะม่วงหาว จริง ๆ มีเอฟเฟ็กต์ผิวขรุขระอยู่นะคะ แต่พอทดลองใช้แล้วมันไม่ตรงกับที่ต้องการ จึงตัดในส่วนนี้ออกไปนี่คือตัวอย่างของการเทรซภาพแบบง่าย ๆ โดยใช้โปรแกรม PowerPoint ค่ะ ที่คุณก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง แรก ๆ อาจจะไม่ค่อยชินเท่าไร ต้องอาศัยการฝึกฝน ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนได้แนวทางที่เหมาะสมกับการเทรซภาพแต่ละภาพให้ออกมาสมจริงที่สุด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจอยากเทรซภาพ แต่ไม่มีหรือไม่เคยใช้โปรแกรมเฉพาะทางอย่าง Illustrator มาก่อน มาทดลองใช้โปรแกรมสามัญประจำคอมพิวเตอร์อย่าง PowerPoint เป็นเครื่องมือในการฝึกเทรซภาพค่ะ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการวาดภาพจากต้นฉบับกันนะคะ ภาพปก : Pixabay โดย bobbyvj0 และ WikipediaCommons โดย BEBBOY ตกแต่งโดยผู้เขียนภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน