รีเซต

อัปเดตล่าสุด 3 บริษัทยาระดับโลก จ่อทดลองวัคซีนต้านโควิดโอมิครอน

อัปเดตล่าสุด 3 บริษัทยาระดับโลก จ่อทดลองวัคซีนต้านโควิดโอมิครอน
TNN ช่อง16
26 มกราคม 2565 ( 10:25 )
77
อัปเดตล่าสุด 3 บริษัทยาระดับโลก จ่อทดลองวัคซีนต้านโควิดโอมิครอน

วันนี้ (26 ม.ค.65) บริษัทผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 "ไฟเซอร์" และไบออนเทค เริ่มทดลองทางคลินิกวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวใหม่ล่าสุด เพื่อต้านโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” โดยเฉพาะแล้ว โดยจะทดลองในคนมากกว่า 1,400 คนในสหรัฐฯ

การทดลองครั้งนี้ ไฟเซอร์จะทดลองประสิทธิภาพการคุ้มครองของวัคซีนตัวใหม่ต่อเชื้อโอมิครอน ทั้งในฐานะที่เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดครบแล้ว และในฐานะเป็นเข็ม 1 เข็ม 2 และกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับคนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนต้านโควิดมาก่อน


ด้าน บริษัทผลิตวัคซีนต้านโควิด "โมเดอร์นา" ก็เตรียมจะเริ่มการทดลองทางคลีนิก วัคซีนตัวใหม่ที่ต้านโอมิครอนโดยเฉพาะเช่นกันในเร็ว ๆ นี้

ส่วนทางมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและบริษัท "แอสตร้าเซนเนก้า" เพิ่งเริ่มการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เวอร์ชั่นใหม่เพื่อต้านโอมิครอน ยังไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มทดลองทางคลินิกเมื่อใด


ขณะนี้ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ดั้งเดิมที่มีอยู่ เป็นเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ให้แก่ประชาชนของตน และพบว่า ผลการกระตุ้มเข็ม 3 แม้ด้วยวัคซีนดั้งเดิมที่ใช้อยู่ ยังคงสามารถให้ระดับความคุ้มครองการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ ถ้าหากติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่รวมไปถึงโอมิครอนด้วย

แต่การคุ้มครองของวัคซีนดั้งเดิม ไม่ให้ติดเชื้อโอมิครอน และคุ้มครองจากการเกิดอาการที่ไม่รุนแรง ยังอยู่ในระดับต่ำ และประสิทธิภาพของวัคซีนดั้งเดิม จะลดลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไปหลังได้รับวัคซีน


ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์ เคยระบุว่า อาจได้ใช้วัคซีนต้านโอมิครอนโดยเฉพาะ ในเดือนมีนาคมนี้ โดยการคาดการณ์ล่าสุด ทางบริษัทจะผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ทั้งหมดราว 4,000 ล้านโดสในปีนี้ (2022) ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงวัคซีนต้านโอมิครอนตัวใหม่ที่เพิ่งเริ่มทดลองด้วย ถ้าหากว่าผลการทดลองได้ผลลัพธ์ออกมาดี 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งคำถามว่า การพัฒนาวัคซีนเพื่อต้านโอมิครอนโดยเฉพาะ จะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในขณะนี้หรือไม่ โดยวัคซีนดั้งเดิมสามารถต้านได้ตั้งแต่เชื้อโควิดตัวแรกที่พบในจีน รวมทั้งอัลฟ่าและเดลต้าอยู่แล้ว รวมทั้งจะทันการณ์หรือไม่ เนื่องจากโอมิครอนเป็นเชื้อที่ระบาดได้รวดเร็วมาก

ขณะที่ ศาสตราจารย์ แอนดรู พอลลาร์ด แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ผู้นำทีมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า เป็นเรื่องยากมาก ที่จะพัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตามทันโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น.


ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง