รีเซต

ศธ. ย้ำฉีดวัคซีนในเด็กตามความสมัครใจ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

ศธ. ย้ำฉีดวัคซีนในเด็กตามความสมัครใจ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
ข่าวสด
14 กันยายน 2564 ( 08:31 )
42
ศธ. ย้ำฉีดวัคซีนในเด็กตามความสมัครใจ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาประกาศชัดเจนถึงนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ให้กลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ ผู้ปกครองหลายคนเริ่มคิดหนักและดิ้นรนหาข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนในเด็ก ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนยังรอนโยบายที่ชัดเจนจากกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

"น้ำผึ้ง" เป็นคุณแม่คนหนึ่งที่ต้องตัดสินใจว่าจะยินยอมให้ลูกชายวัย 15 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่ บอกกับบีบีซีไทยว่าเธอเพิ่งได้เห็นแบบสำรวจความคิดเห็นจากทางโรงเรียนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้นักเรียนเมื่อวันที่ 12 ก.ย. แต่ก็คิดว่าจะให้ลูกชายเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แม้กังวลเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และไม่อยากให้ลูกรับเชื้อโรคเข้าร่างกายก็ตาม

 

 

"ตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ต้องมีการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาช่วยเพื่อรักษาชีวิตได้ทันท่วงที ถึงเราไม่อยากฉีด ก็อาจจำเป็นต้องฉีด เพราะนอกจากป้องกันไม่ให้โรคมันรุนแรง มันยังเป็นเรื่องของส่วนรวมด้วย" คุณแม่วัย 40 ปีเศษ กล่าวกับบีบีซีไทย

 

 

เอกสารที่เธอเรียกว่าเป็นการ "หยั่งเสียงจากทางบ้าน" ถูกส่งมาจากคุณครูของลูกชายในรูปแบบกูเกิ้ลฟอร์มผ่านแอปพลิเคชันไลน์ นอกจากให้กรอกข้อมูลทั่วไปของนักเรียน ชื่อ-สกุล, ห้องเรียน, เลขประจำตัวนักเรียน, เลขประจำตัวตามบัตรประชาชน, หมู่เลือด ในหน้าสุดท้าย มีการสอบถามประวัติว่าเคยรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วหรือไม่ และให้ติ๊กว่ามีความประสงค์จะฉีดวัคซีนหรือไม่

 

 

ทว่าสิ่งที่น่าสังเกตคือเอกสารนี้ถูกส่งเข้าห้องสนทนาที่มีเฉพาะเด็ก ๆ ไม่ใช่ห้องผู้ปกครอง แต่คุณแม่รายนี้มาทราบเรื่องในภายหลัง เมื่อครูอีกคนหนึ่งเข้าไปทวงถามและเรียกเก็บเอกสารจากนักเรียนบางรายที่ยังไม่ส่งคืนทางโรงเรียน นั่นหมายความว่าอาจมีนักเรียนบางส่วนเป็นผู้ให้ความยินยอมในการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนเอง โดยที่ผู้ปกครองไม่ทราบเรื่อง

"เขาส่งลิงก์กูเกิ้ลชีทเข้าห้องเด็ก ไม่ได้แจ้งผู้ปกครอง" และ "ครูแจ้งเดดไลน์ (เส้นตาย) ส่งเอกสารกลับตั้งแต่เมื่อวาน (12 ก.ย.)" น้ำผึ้งเล่า

บุตรชายของน้ำผึ้งเป็นนักเรียนชั้น ม. 3 ของโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม และมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนราว 40 คน ถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าต้องกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนเมื่อไร จึงต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน

ข้อมูลที่ผู้ปกครองรายนี้คาดหวังจะรู้ก่อนตัดสินใจคือ ความปลอดภัยและผลข้างเคียงของวัคซีน, ต้องไปฉีดที่ไหนอย่างไร, ได้ฉีดเข็มแรกแล้วจะได้เข็มสองไหม รวมถึงทางโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร หากมีทั้งเด็กนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดและไม่ฉีดวัคซีน แต่ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เธอยังไม่มีโอกาสรู้

หลัง ศบค. มีมติให้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็ก ๆ คุณแม่รายนี้เริ่มเสริชหาข้อมูลข่าวสารตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มาอ่านทันที จากตอนแรกที่ไม่ได้ติดตามโดยละเอียดนัก เพราะคิดว่าไฟเซอร์คงมาไม่ถึง ประกอบกับเธอและลูกก็อยู่ในสภาพแวดล้อมปิด ไม่ได้ออกไปไหนมาไหนมาก อย่างไรก็ตามหากลูกได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน เชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนจะดีขึ้น จากเดิมที่เรียนผ่านระบบออนไลน์และได้ความรู้แบบ "ลุ่ม ๆ ดอน ๆ" เพราะโรงเรียนเองก็ปรับตัวไม่ทัน

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ มีมติเมื่อ 10 ก.ย. อนุมัติหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนและนักศึกษากว่า 4.5 ล้านคน

คุณแม่ลูกสี่อยากได้วัคซีนเชื้อตายให้ลูกมากกว่า

ขณะที่ "เก๋" คุณแม่ลูกสี่ ตัดสินใจให้บุตรสาว 2 คนซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม. 2 วัย 13 ปี และนักเรียนชั้น ป. 6 วัย 12 ปี เข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์ม หลังทางโรงเรียนส่งแบบสอบถามและเอกสารขอความยินยอมจากผู้ปกครองมาให้ และคาดว่าจะได้ฉีดภายในเดือน ก.ย. นี้ แต่สำหรับลูกชายวัยย่าง 15 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม. 3 ในโรงเรียนมัธยมชื่อดัง เธอยังลังเลใจหลังทราบว่าจะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

"ที่เราให้ลูกสาว 2 คนฉีดวัคซีน เพราะเป็นเชื้อตาย ผลกระทบน้อยกว่า แม้ภูมิขึ้นน้อยกว่าไฟเซอร์ แต่มันดีกับเขามากกว่าในระยะยาว เพราะเด็กยังอยู่อีกนาน" เก๋กล่าวและว่า แม้องค์การอาหารและยา (อย.) ยังไม่ได้รับรองการใช้ซิโนฟาร์มในเด็ก ๆ แต่ข้อมูลที่เก๋สืบค้นมาพบว่าทางการจีนฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ให้เด็ก ๆ และเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก

เหตุที่เก๋กังวลใจต่อการฉีดวัคซีน mRNA ของบุตรชาย เพราะปู่และตาของเด็ก ๆ มีประวัติเป็นโรคหัวใจ เมื่อเธอสืบค้นและอ่านข้อมูลข่าวสารจากหลาย ๆ แหล่ง ทำให้ทราบว่าวัคซีนชนิดนี้มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) โดยเฉพาะในเด็กชาย

"ถ้าให้เสี่ยงปอดกับหัวใจ แม่ยอมเสี่ยงปอดเสียหายดีกว่า เพราะถ้าหัวใจมีปัญหา มันส่งผลระยะยาว.. แม้เขาบอกว่าถ้ามีเอฟเฟกต์ (ผลกระทบ) จะรักษาให้ แต่สำหรับเด็ก ก็ไม่รู้ว่ามีเอฟเฟคต์ทีหลังหรือเปล่า มันจะส่งผลกับเขาอย่างไรในอนาคต" เก๋เผยความรู้สึก

ในฐานะคนเป็นแม่ ย่อมต้องแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูก เธอจึงสอบถามครูประจำชั้นของบุตรชายถึงความเป็นไปได้ที่โรงเรียนจะจัดหาซิโนฟาร์มมาฉีดให้เด็ก

คำตอบที่ได้จากครูคือแล้วแต่นโยบายของผู้บริหาร ทำให้เธอยังมองไม่เห็นทางเลือกสำหรับบุตรชายคนโต

"ถึงเวลา ถ้าโรงเรียนส่งใบมา ก็อาจต้องลง (จองฉีดไฟเซอร์) ไปก่อนน่ะค่ะ และระหว่างนั้นก็รอดูว่าจะมีตรงไหนให้ฉีดซิโนฟาร์มสำหรับเด็ก ๆ ไหม ถ้ามีเราก็ค่อยถอนไปเอาซิโนฟาร์ม.. เพราะถ้าหลุดจองรอบนี้ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเปิดให้จองวัคซีนสำหรับเด็กอีกเมื่อไร ยิ่งตอนนี้ลูกเรียน ม. 3 แล้วเตรียมสอบคัดเลือกเข้า ม. 4 ด้วย หากถึงเวลาสนามสอบไม่ให้เข้าสอบเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็จะถึงขั้นซวยเลย โอกาสเด็กก็จะถูกปิดไป เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น" คุณแม่ลูกสี่กล่าว

เก๋กล่าวด้วยว่า อาจเป็นการดีกว่าหากทางการจะเปิดเผยข้อมูลผลการรับวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็ก ๆ ก่อนหน้านี้ รอดูผลก่อนว่าเป็นอย่างไร แทนที่จะเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้โรงเรียนเปิดภาคเรียนที่ 2 เดือน พ.ย. นี้

"เรากังวลแน่นอน ผู้ปกครองได้แต่หันมามองหน้ากันว่าจะเปิดได้ไง ถึงเด็กฉีดวัคซีนแล้ว รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้รับเชื้อมาจากบ้าน ยิ่งเด็กเล็ก การป้องกันตัวเองเขาไม่เต็มที่.. ไหน ๆ เรียนออนไลน์มาเทอมหนึ่งแล้ว เรียนอีกเทอมก็ไม่น่าเสียหาย แต่ก็เข้าใจว่าเด็กบางคน ไม่สะดวกเรียนออนไลน์" เก๋กล่าว

"หนูจะเป็นอะไรไหม"

แต่สำหรับคุณแม่ที่ใช้ชื่อว่า "จิ๊บ" ตัดสินใจให้ลูกสาววัย 13 ปี 9 เดือน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ รพ.พระมงกุฎ อย่างไม่ลังเลตั้งแต่เดือน ส.ค. และกำลังจะได้ฉีดเข็มสองในเร็ววันนี้ เนื่องจากเด็กน้อยมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด

ข้อมูลงานวิจัยเรื่องพบความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจในเด็กที่รับวัคซีน mRNA ก็ผ่านหูผ่านตาคุณแม่รายนี้เช่นกัน แต่เธอเน้นว่าพบในเด็กชายมากกว่า และในล้านคน พบอาการนี้ 60 คน จึงคิดว่ามีความเสี่ยงในระดับต่ำ

"กล้ามเนื้อหัวใจ รักษาได้ และอาการจะหายไปเอง เมื่อมาเทียบกับกรณีลูกเราที่เป็นหอบหืด แค่เป็นไข้หวัดใหญ่ เชื้อก็ลงปอดทันที อีกทั้งถ้าดูผู้ป่วยโควิดที่แม้รักษาหายแล้ว ในปอดก็ยังมีรอยโรคอยู่ จึงคิดว่าถ้าได้รับวัคซีนจะเป็นประโยชน์มากกว่า" จิ๊บกล่าว

นอกจากศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง จิ๊บยังต่อสายปรึกษาแพทย์ประจำตัวของบุตรสาว ซึ่งหมออธิบายข้อมูลต่าง ๆ มา ก่อนระบุว่า "เห็นประโยชน์มากกว่าผลเสีย" ทำให้เธอพาลูกเข้ารับวัคซีนเข็มแรก

Getty Images
ขณะนี้วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนขององค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ในประเทศไทยมียี่ห้อไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

"จริง ๆ ก็กลัวเหมือนกัน เพราะมันใหม่มาก เป็นกลุ่มแรก ๆ เลย คิดอยู่นาน... ถ้าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยลูกเราก็เป็นกรณีศึกษาให้ทุกคนได้เห็น เพราะวัคซีนนี้มันจะเข้ามาในไทยอยู่แล้วไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว" จิ๊บกล่าว

ก่อนพาลูกไปรับวัคซีน เธอยอมรับว่าลูกสาวตื่นเต้นเล็กน้อยและถามว่า "หนูจะเป็นอะไรไหม" ทำให้เธอต้องยกข้อมูลที่คุยกับหมอมาอธิบายให้ลูกฟัง โดยที่เด็กหญิงก็ไม่ปฏิเสธการรับวัคซีน

หลังฉีดวัคซีน คุณแม่รายนี้เข้าร่วมกรุ๊ปไลน์ของผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปฉีดไฟเซอร์ ซึ่งทาง รพ. ตั้งขึ้นเพื่อติดตามอาการ มีหมอเด็กคอยให้คำตอบต่าง ๆ โดยมีสมาชิกนับพันคน เธอพบว่ามีเพียงไม่กี่รายที่เข้ามาแจ้งว่าลูกเป็นไข้ ตัวร้อน อาเจียน พบได้ 2-3 วัน

แต่ปัจจุบันเมื่อ ศบค. ประกาศให้ใช้ไฟเซอร์กับกลุ่มเด็ก ก็เริ่มปรากฏข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียมากขึ้น มีหมอหลายคนออกมาวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานา ทำให้เธอ "เริ่มวิตกจริตบ้าง" หลังมีการพูดกันว่าอาการจะมาหลังได้ฉีดโดสสอง ทั้งนี้จากการอ่านและคิดวิเคราะห์ จิ๊บเห็นว่าเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเหมาะกับไฟเซอร์ แต่เด็ก ๆ ที่สุขภาพแข็งแรงดีอยู่แล้ว อาจต้องพิจารณา

อย่างไรก็ตามเธอไม่รู้สึกกังวลใจ หากลูกสาวที่ได้รับวัคซีนแล้วต้องกลับไปเรียนในห้องเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ บางคนที่อาจยังไม่ฉีดวัคซีน และเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นประเด๋นอ่อนไหว

"มันเป็นเส้นบาง ๆ บางคนอาจมองระยะยาวกลัวว่าลูกจะเป็นอะไร จะมีผลในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ผิดในการที่จะปกป้องลูกเขา ไม่ว่าระยะสั้นหรือยาว ไม่ได้คิดว่าเป็นอุปสรรค เพราะอย่างไรลูกของเราก็ได้วัคซีนแล้ว ถือว่ามีเกราะป้องกันแล้ว" จิ๊บกล่าว

คำถามที่แม่ ๆ อยากรู้ ก่อนตัดสินใจ

จากการพูดคุยกับคุณแม่ใน 3 ครอบครัว บีบีซีไทยพบว่าข้อมูลที่ผู้ปกครองคาดหวังจะได้รับ ก่อนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ มีดังนี้

  • ความปลอดภัยและผลข้างเคียงของการใช้วัคซีนในเด็ก
  • ข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับเด็กไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนหน้านี้ว่ามีผลเป็นอย่างไรบ้าง
  • ต้องไปฉีดวัคที่ไหน โรงเรียน หรือโรงพยาบาล
  • เด็ก ๆ จะได้รับวัคซีนกี่ซีซี เพราะน้ำหนักของแต่ละคนแตกต่างกันแม้อยู่วัยเดียวกัน
  • ได้ฉีดเข็มแรกแล้วจะได้เข็มสองหรือไม่และเมื่อไร
  • โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร หากมีทั้งเด็กนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดและไม่ฉีดวัคซีน

ศธ. ตั้งเป้าฉีดไฟเซอร์ใน 29 จ. แดงเข้มก่อนเปิดเทอม

น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า แผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ คือ ผู้มีอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด และจะอนุโลมให้แก่นักเรียน/นักศึกษาที่มีอายุเกินด้วย ซึ่งจะครอบคลุมเด็กวัยเรียนกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี
  • นักเรียน/นักศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
  • นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในเดือน ต.ค. จะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน/นักศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน/นักศึกษาทุกคน ต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564

ปัจจุบันมีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด

ในระหว่างการแถลงข่าววันนี้ (13 ก.ย.) น.ส. ตรีนุชย้ำว่า "การฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน" โดย ศธ. จะเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวก่อนและหลังรับวัคซีน

ด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หน้าที่ในการกระจายวัคซีนเป็นยังพื้นที่ต่าง ๆ เป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ต้องจัดเก็บในพื้นที่มีอุณหภูมิติดลบ ส่วนหน้าที่ของ ศธ. คือจัดเตรียมรายชื่อของนักเรียน/นักศึกษา ตามที่ สธ. กำหนด พร้อมแนบใบให้ความยินยอมฉีดวัคซีนจากผู้ปกครอง โดยวันที่ 14 ก.ย. จะมีการประชุมศึกษาธิการจังหวัดทั้งประเทศ และวันที่ 15 ก.ย. จะมีการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการฉีดวัคซีนในเด็ก จากชั้นโรงเรียน ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และจังหวัด

อย่างไรก็ตามโฆษก ศธ. ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหากผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่ประสงค์จะให้บุตรหลานฉีดวัคซีน การจัดการเรียนการสอนจะออกมาในลักษณะใด โดยบอกเพียงว่าหน้าที่ของ ศธ. ขณะนี้คือการทำความเข้าใจ โดยได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอัดคลิปวิดีโอให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อว่าน่าจะทำให้มีความประสงค์รับวัคซีน

"แรก ๆ เขาอาจได้ข่าวสารที่คลาดเคลื่อน แต่พอได้ข่าวสารที่ไม่คลาดเคลื่อน ทุกคนก็มุ่งหวังจะฉีดวัคซีน เราต้องทำความเข้าใจโดยใช้คนมีความรู้โดยตรงมาให้ความรู้" โฆษก ศธ. กล่าว

ท้ายที่สุดหากมีนักเรียนบางส่วนไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนจริง ๆ ศธ. ได้เตรียมแผนสำรองอย่างไร นางเกศทิพย์กล่าวว่า "เขาก็สามารถมาเรียนได้ ไม่ได้กังวล แต่เรื่องของวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ทำให้การติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากหรือน้อย เหมือนเป็นเสื้อเกราะ ถ้ามีไว้น่าจะปลอดภัยและเกิดความเชื่อมั่นมากกว่า"

ส่วนที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก จะทำให้เกิดความกังวลใจในหมู่ผู้ปกครองและไม่ยินยอมให้บุตรหลานีดวัคซีนหรือไม่ โฆษก ศธ. กล่าวว่า ศธ. ได้เตรียมพร้อม โดยจะจับคู่ระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล หากมีอาการใด ๆ เกิดขึ้นก็จะส่งตัวให้โรงพยาบาล ทันที

โรงเรียนต่างจังหวัดพื้นที่สีแดงยังรอรับนโยบาย

บีบีซีไทยสอบถามไปยังโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือพื้นที่สีแดงเข้ม ได้ข้อมูลว่าผู้บริหารยังรอรับนโยบายจากส่วนกลางเกี่ยวกับการให้นักเรียนฉีดวัคซีนในเดือน ต.ค.ที่จะถึง

น.ส. ทิพย์วัลย์ นุ่มประเสริฐ รอง ผอ.โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บอกบีบีซีไทยว่า ทางโรงเรียนยังรอรับนโยบายตลอดจนการจัดระบบการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งหากเทียบกับการฉีดวัคซีนให้กับครูก่อนหน้านี้ ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งเทอมในการทยอยฉีดครูให้ครบ 100%

รอง ผอ. โรงเรียน ที่มีเด็กนักเรียนกว่า 3,700 คน บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ติดตามช่องทางการรับวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เปิดให้สถานศึกษาขอรับวัคซีนซิโนฟาร์ม แต่ก็มีพบว่ามีเงื่อนไขต้องเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น รวมทั้งได้สอบถามไปยังช่องทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังยืนยันว่าได้รับการจัดสรรวัคซีน แต่ด้วยความเสี่ยงของจังหวัด แม้ไม่ได้เป็นจังหวัดปริมณฑล แต่การเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับ กทม. และมีการไปมาข้ามเขตกันทั้งฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ทั้งคนวัยทำงานและนักเรียน นับได้ว่าฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่เปราะบาง

"ทางโรงเรียนระมัดระวังเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงการระบาดแรก ๆ เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของทุกอำเภอ มีนักเรียนมาจากทุกพื้นที่"

Getty Images
เด็กชายใน จ.นนทบุรี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่เซ็นทรัลเวสเกต เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบ "นนท์พร้อม"

อีกประเด็นหนึ่งที่ทางโรงเรียนกังวลส่วนหนึ่งยังมีเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนจากการฉีดวัคซีน โควตาที่จะได้รับการจัดสรร ซึ่งในระยะต่อไปถ้านักเรียนในโรงเรียนได้วัคซีนไม่ครบอาจส่งผลต่อการพิจารณาว่าโรงเรียนจะสามารถเปิดการเรียนการสอนออนไซต์ได้ทั้งหมดหรือไม่

"ถ้าทยอยให้โควตาเหมือนอย่างครู เด็กที่ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ปกครองก็อยากให้มาออนไซต์ (เรียนที่โรงเรียน) อยู่แล้ว ถ้าได้โควตาไม่ครบ ให้เรียนออนไซต์บางส่วน ออนไลน์บาง ถ้าอย่างงี้ก็ตีกันตายเลย เพราะว่าได้สิทธิที่ไม่เท่ากัน แล้วเกิดการลักลั่นในเรื่องการจัดการเรียนรู้" น.ส. ทิพย์วัลย์ กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์

วัคซีนขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มียี่ห้ออะไรบ้าง

จนถึงขณะนี้วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนขององค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้สำหรับกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ในประเทศไทยมียี่ห้อไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่ได้รับการอนุมัติออกเป็นเอกสารกำกับยาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. ให้ขึ้นทะเบียนสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ภายหลังที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม ทั้งหมด 43 โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมจำนวนนักเรียน 50,479 ราย

นอกจากนี้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทไบโอเจนเนเทค ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้มายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนขอขยายอายุการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป เป็นสูตรเดิมที่ผลิตก่อนหน้านี้ แต่เป็นการยื่นเพิ่มเรื่องการขยายเวลาการฉีดวัคซีน หลังจากมีการทดลองฉีดในเด็ก

สำหรับขนาดยาและวิธีการใช้ยาของวัคซีนไฟเซอร์ หรือที่มีชื่อทางการค้าว่า "โคเมอร์เนตี" เอกสารกำกับยาที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของ อย. ระบุว่า สำหรับบุคคลที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป แผนการฉีดไฟเซอร์ ประกอบด้วยการฉีดวัคซีนหลังเจือจางยาแล้วเข้าทางกล้ามเนื้อในขนาด 0.3 มิลลิลิตร จำนวน 2 ครั้ง การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ควรให้หลังจากการฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ และแนะนำให้ผู้ที่ได้รับการฉีดไฟเซอร์ในเข็มแรก ควรได้รับการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 2 ด้วย ไฟเซอร์เช่นเดิม

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของไฟเซอร์ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้เยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้วกว่า 10 ล้านคน และมีข้อสรุปว่าประโยชน์ที่เด็กกลุ่มนี้จะได้รับจากวัคซีนในการป้องกันไม่ให้ล้มป่วยจากโควิด-19 และภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มีมากกว่าความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดจากอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน

ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อิตาลี แคนาดา สเปน และอิสราเอล ให้วัคซีนแก่เยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วยเหตุผลเดียวกันกับสหรัฐฯ ว่าประโยชน์ในการป้องกันโควิดมีมากกว่าความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์

สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญในสหราชอาณาจักรยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่เด็กในกลุ่มอายุ 12-15 ปี ยกเว้นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคโควิด

......

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง