'เกษตรฯ' ขอรัฐบาล 9.5 หมื่นล้าน ช่วยเกษตรกรสู้โควิด-ภัยแล้ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำเสนอโครงการเพื่อดำเนินการในภาวะเร่งด่วนรองรับผลกระทบภัยแล้งและโควิด-19 วงเงิน 95,543.11 ล้านบาท เพื่อของบประมาณจากรัฐบาล
ในส่วนของมาตรการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ที่รัฐบาลกันงบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยรายละเอียดวงเงินที่ขอเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และแรงงานคืนถิ่น หลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงินประมาณ 61,531.53 ล้านบาท และเป็นงบป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 61,531.53 ล้านบาท จะถูกนำไปช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ การชดเชยรายได้และค่าครองชีพให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร 50,558.95 ล้านบาท แบ่งเป็น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 จำนวน 35,196.65 ล้านบาท และสนับสนุนค่าครองชีพให้แก่ครัวเรือน เกษตรกร 15,362.3 ล้านบาท ด้วยการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยางจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การจัดหาถุงเกษตรยังชีพ เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 15 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณไปช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแรงงานคืนถิ่นและสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกร 2,763.72 ล้านบาท ด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็งแบบครบวงจรในสถาบันเกษตรกร สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดการใช้สารเคมีการเกษตรโดยระบบสหกรณ์พัฒนาแรงงานคืนถิ่นพลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา โดยเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชในเขตปฏิรูปที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 392.45 ล้านบาท การบริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 1,326 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุน อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท จะจัดสรรเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตทางการเกษตร จำนวน 33,700.43 ล้านบาท ด้วยการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน จำนวน 27,917.48 ล้านบาท อาทิ การก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ก่อสร้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติซ่อมแซมและปรับปรุง อาคารชลประทานที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน และจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน จำนวน 2,250 ล้านบาท อาทิ ขุดสระน้ำในไร่นาของเกษตรกร สนับสนุนระบบสูบน้ำใต้ดินพลังงานแสงอาทิตย์ ระดับไร่นา สร้างฝายโดยการมีส่วนร่วมของชุนชน ส่งเสริมการใช้ยางภาครัฐ จำนวน 3,512.78 ล้านบาท และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 20 ล้านบาท
พัฒนาศักยภาพการผลิต จำนวน 311.14 ล้านบาท แบ่งเป็น การพัฒนาสุขภาพสัตว์ จำนวน 216 ล้านบาท โดยส่งเสริมสุขภาพแม่โคเนื้อ กระบือ แพะอุ้มท้องและเลี้ยงลูกอ่อน และพัฒนาการผลิตพันธุ์พืช จำนวน 95.14 ล้านบาท โดยผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพดีและตรวจสอบรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์คุณภาพ