เมื่อกล่าวถึงภูเก็ต เกาะเล็ก ๆ ทางภาคใต้บ้านเรา หลายคนคงนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นท้องทะเลสีครามกับหาดทรายสีขาว แนวปะการังอุดมสมบูรณ์อันเป็นบ้านของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่า ภูเก็ตเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม อารยธรรมที่หลงเหลือให้เราได้เรียนรู้จนถึงทุกวันนี้คือ สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปกรรมหลากหลายรูปแบบเอาไว้ สะท้อนออกมาเป็นอาคารบ้านเรือนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ ชิโน-โปรตุกิส (Sino-Portuguese)ภูเก็ตในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในดินแดนที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูในยุคอาณานิคมตะวันตก ชาติแรกที่เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้คือ โปรตุเกส แต่ในขณะเดียวกันยังมีชาวจีนส่วนหนึ่งเข้ามาพำนักอาศัยยังดินแดนแห่งนี้ มีการติดต่อค้าขายระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์พื้นเมืองเหนือคาบสมุทรมลายู นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับมาเลย์ขึ้นเป็นครั้งแรก การแต่งงานระหว่างชาวจีนกับชาวมาเลย์ก่อให้เกิดสายเลือดใหม่ขึ้น ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินในชื่อ บ้าบ๋า-ย่าหยารูปภาพโดย Sippakorn : Unsplashแต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมืองมะละกากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าเหนือคาบสมุทรมลายู ความยิ่งใหญ่ของเมืองท่าแห่งนี้ล่อตาล่อใจให้ชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกส เข้ามายึดครองเพื่อตั้งถิ่นฐานและแสวงหาผลกำไรทางการค้า เมื่อโปรตุเกสเข้ามาแล้ว ศิลปวิทยาการที่รุ่งเรืองในตะวันตกก็ได้เผยแพร่มายังดินแดนแห่งนี้โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าชาติไหนไปอยู่ที่ใด สิ่งที่ต้องสร้างสรรค์เป็นอันดับแรกคือที่อยู่อาศัย โดยโปรตุเกสใช้คนจีนเป็นแรงงานในการก่อสร้างเคหสถานในครั้งนั้นรูปภาพโดย Tonntp26 : Freepikแต่ด้วยความรู้ของช่างชาวจีนที่มีไม่เท่ากับคนตะวันตก รูปแบบของอาคารบ้านเรือนที่ออกมาจึงไม่ตรงกับแบบที่ชาวโปรตุเกสวางไว้เสียทีเดียว มีการสอดแทรกลวดลายของจีนไว้ตามประตู ด้วยหลักการสร้างที่คำนึงถึงฮวงจุ้ยตามหลักการของจีน แต่ถึงอย่างไรภาพรวมของอาคารบ้านเรือนในยุคนั้น ก็มีความแตกต่างจากบ้านทรงไทยไปโดยสิ้นเชิง จากเรือนไทยที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก กลายเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมแบบยุโรปและลวดลายแบบจีนได้อย่างลงตัว และมีชื่อเรียกว่า ชิโน อันหมายถึงชาวจีน และโปรตุกิส ที่หมายถึงชาวโปรตุเกสรูปภาพโดย Thae Jirapon : Unsplashแต่อาคารชิโน-โปรตุกิสในปัจจุบัน ที่กลายเป็นจุดขายของภูเก็ต ร้านอาหารชื่อดังที่เปิดในย่านเมืองเก่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใต้ชายคาของอาคาร นั่นเป็นผลจากการปรับปรุงอาคารชิโน-โปรตุกิสในสมัยที่ดัตช์กับอังกฤษเข้ามามีอิทธิพล การเว้นพื้นที่ว่างใต้ชายคาและเจาะผนังของตึกแต่ละหลังให้ติดต่อกัน เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับที่พักอาศัยที่ออกโดยอังกฤษ นอกจากจะเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังทำให้ชาวพื้นเมืองได้รับประโยชน์ทางการค้าเป็นผลพลอยได้อีกด้วยรูปภาพโดย Tonntp26 : Freepikอาคารบ้านเรือนประเภทนี้แพร่หลายอยู่บนดินแดนเหนือคาบสมุทรมลายู ไม่ว่าจะเป็นปีนัง สิงคโปร์ รวมทั้งภูเก็ต กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เราเห็นถึงสภาพบ้านเมืองในยุคอาณานิคม การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ปัจจุบันอาคารชิโน-โปรตุกิสเป็นแลนด์มาร์คที่มีชื่อเสียงของเมืองเก่าภูเก็ต เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย มีการรณรงค์ให้รักษาสถาปัตกรรมแห่งนี้ไว้ เพราะนี้ไม่ใช่เพียงเคหาสน์แบบฝรั่งที่หลงเหลืออยู่บนแผ่นดินไทย แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีรูปภาพหน้าปกโดย Oakdog : Pixabay