กุมารแพทย์ชี้เด็กติดโควิด 90%อาการไม่รุนแรง แนะพ่อแม่แยกอยู่กับสูงวัย
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม และ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงประเด็น “โรคโควิด-19 อันตรายกับเด็กอย่างไร” ในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาการทั่วไปไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพียงแต่ความรุนแรงของโรคลดลง แต่แพร่เชื้อง่ายขึ้น ทั้งนี้ การติดเชื้อในเด็กนั้น สิ่งสำคัญคือ จะต้องให้เด็กติดเชื้อแยกตัวออกจากผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการแพร่และติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง
“อาการที่ควรสังเกตในเด็กที่ติดเชื้อ เบื้องต้นคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หนาวสั่น เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ อาจเกิดร่วมกับอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือสูญเสียประสาทรับกลิ่น รับรสชั่วคราว แต่ให้สังเกตว่า ถ้ามีอาการเจ็บคอ หายใจลำบาก บางรายมีอาเจียน คลื่นไส้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า จะติดเชื้อโควิด-19 ให้รีบไปพบแพทย์ทันที” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว
ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า สำหรับเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้วติดเชื้อ ก็จะเหมือนการรับวัคซีนตามธรรมชาติ 1 เข็ม ดังนั้น การฉีดเข็มที่ 2 ที่เป็นเข็มต่อเนื่อง ก็ขอให้ฉีดหลังหายติดเชื้อแล้ว 3 เดือน
“สำหรับเด็กติดเชื้อโควิด-19 พบว่า กว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการรุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่เมื่อหายแล้วให้สังเกตอาการทั่วไปหลังจากนั้น เช่น การเดิน นั่ง นอน การรับประทานได้เป็นปกติ ก็ไม่มีความน่าห่วงกังวล แต่ถ้า 2-6 สัปดาห์ที่หายจากโควิด-19 แล้วมีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ขาบวม ที่เป็นการอักเสบทั่วร่างกายอย่างที่พบในผู้ใหญ่ที่หายจากโควิด-19 ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที ทั้งนี้ ภาวะลองโควิด-19 (Long Covid-19) ในเด็ก พบได้ร้อยละ 25-45 ซึ่งระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวอีกว่า ภาวะเหล่านี้ มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้ ใช้การรักษาตามอาการ และติดตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ควรตรวจหาเชื้อโดยเร็ว หากพบว่าติดเชื้อก็สามารถพักรักษา 7 –14 วัน เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และ หากบุตรหลานยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ขอให้ติดต่อขอรับการฉีดตามกำหนด รวมถึงผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในบ้าน ก็ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ตามกำหนดเช่นกัน เพื่อลดโอกาสแพร่และรับเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองกังวลใจอย่างมาก ดังนั้น ผู้ปกครองจะต้องสังเกตว่า เด็กมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือไม่ เพื่อส่งต่อการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตใจของเด็ก จึงต้องมีการวางแผนดูแล ป้องกันภาวะเครียด ระหว่างการรักษาอาการโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน เพราะเด็กๆ จะถูกจำกัดพื้นที่
“ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องเป็นพี่เลี้ยงที่รู้ใจ พูดคุยคลายความวิตกกังวล แลกเปลี่ยนความรู้สึก โดยผู้รับฟังไม่มีการแทรกแซงในระหว่างที่เล่า ให้กำลังใจโดยการสร้างทัศนคติในเชิงบวก มีกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การวาดรูป การร้องเพลง การเล่นดนตรี การเล่านิทาน การประดิษฐ์งานศิลปะที่ชื่นชอบ” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้บุตรหลานติดเชื้อ โดยป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ ทั้งนี้ ช่วงการระบาดที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ออกคู่มือการดูแลสุขภาพจิตฉบับประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเครียดของคนรอบข้างได้เบื้องต้น ภายใต้ 10 คำถาม เพื่อจำแนกระดับความเครียด 3 กลุ่มสี ให้ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับได้ที่สายด่วน วธ.1765 และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อนำมาปรับใช้ดูแลด้านสุขภาพจิตเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องช่วยกันดูแลให้ดีที่สุด