รีเซต

โกลบอลโฟกัส: ระบบสาธารณสุขเมียนมา กับรัฐประหารและโควิด-19

โกลบอลโฟกัส: ระบบสาธารณสุขเมียนมา กับรัฐประหารและโควิด-19
มติชน
1 มิถุนายน 2564 ( 01:38 )
46
โกลบอลโฟกัส: ระบบสาธารณสุขเมียนมา กับรัฐประหารและโควิด-19

 

คำเตือนติดปากของผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาว่าด้วยโรคระบาดไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดใดก็ตาม ก็คือ ระลอกที่สองมักรุนแรงกว่าการแพร่ระบาดระลอกแรกเสมอ

 

 

ปัญหาสำหรับชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศในเวลานี้ ที่โควิด-19 กำลังกลับมาแพร่ระบาดอย่างหนัก ทั้งๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการจัดการโควิดในระลอกแรกมาตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา

 

 

เหตุไม่ใช่เป็นเพราะความไม่รู้หรือการไม่ใส่ใจคำเตือนดังกล่าว แต่เป็นเพราะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายชาติอาเซียน เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะมากที่สุด หรือด้วยเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิง

 

 

ตัวอย่างเช่นกรณีของกัมพูชา ทุกอย่างเป็นปกติและอยู่ในความควบคุมด้วยดีมาจนถึง 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อ นักท่องเที่ยวชาวจีน 4 รายเดินทางเข้าประเทศมา ตรงเข้าพักที่โรงแรมสำหรับการกักตัวในกรุงพนมเปญตามเงื่อนไข

 

 

ใครจะไปคาดคิดว่า กักตัวได้เพียงวันเดียว ทั้งหมดก็เล็ดรอดออกจากโรงแรมไปท่องเที่ยวหน้าตาเฉย ทั้งเข้าร่วมในงานปาร์ตี และไนท์คลับ ด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ที่ประจำอยู่ในโรงแรมกักตัวอย่างน้อย 1 ราย

 

 

2 ใน 4 นักท่องเที่ยวจีน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดในไม่นานต่อมา ที่ประจวบเหมาะอย่างยิ่งก็คือ 1 ในจำนวน 2 รายนั้น ติดเชื้อสายพันธุ์เคนท์ จากประเทศอังกฤษ ที่แพร่ระบาดรวดเร็วมาก

 

 

ต้นเดือนพฤษภาคม กัมพูชาทำสถิติติดเชื้อรายวันสูงสุดใหม่ ที่ 730 คน และยังคงอยู่ในระดับสูงเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ ยอดผู้ป่วยสะสมรวมเป็น 28,825 ราย เสียชีวิตไปมากกว่า 200 รายแล้ว

 

 

หรือในกรณีของเวียดนาม ที่เกิดการแพร่ระบาดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยนับตั้งแต่ปลายเมษายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 6,856 ราย เสียชีวิต 47 ราย

 

 

ยอดผู้เสียชีวิตและกว่าครึ่งหนึ่งของยอดติดเชื้อ เป็นผลงานของการแพร่ระบาดเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งสิ้น

 

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพิ่งตรวจสอบพบกันเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมว่า เนื่องจากสานพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งพบเป็นครั้งแรกในโลกที่เวียดนามนี่เอง

 

 

เป็นลูกผสมระหว่าง แวเรียนท์จากอินเดีย กับ แวร์เรียนท์จากอังกฤษ ที่อันตรายสูงอย่างยิ่งทั้งสองสายพันธุ์ เพราะแพร่ระบาดได้เร็วมากนั่นเอง

 

 

สถานการณ์ในไทย และในมาเลเซีย ในเวลานี้ก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน

 

 

แต่ที่สร้างความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญหรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) มากที่สุด ก็คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา

 

 

จากที่เคยดูดี กลับล่มสลายไปในชั่วพริบตา ทั้งการรับมือการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีน

 

 

สืบเนื่องจากการกระทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

 

 

ก่อนหน้าการรัฐประหาร เมียนมา รายงานการตรวจพบการติดเชื้อเพิ่มรายวันอยู่ระหว่างวันละ 300-500 ราย จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 55 ล้านคน

 

 

หลายคนบอกว่า ตัวเลขที่ว่านี้ต่ำไปจากความเป็นจริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการตรวจหาเชื้อมีอยู่น้อยมากในเมียนมา

 

 

แต่หลังการรัฐประหาร แม้แต่ตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงที่ว่านี้ ยังหดหายไปด้วย ไม่มีการรายงานยอดติดเชื้อเพิ่มรายวันอีกต่อไป

 

 

ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมารายหนึ่งบอกว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ บุคลากรสาธารณสุขในเมียนมา ซึ่งรวมไปถึงแพทย์และพยาบาลเป็นเรือนหมื่น เรือนแสน เข้าร่วมในการประท้วงและปฏิเสธที่จะร่วมงานกับรัฐบาลหทารชุดใหม่ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านด้วย “อารยะขัดขืน”

 

 

“ตอนนี้ไม่มีแม้แต่นักเทคนิคการแพทย์เพียงพอที่ตรวจหาเชื้อและอ่านค่าการตรวจได้ เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ถูกต้องจึงไม่มีให้เห็นอีกต่อไป”

 

 

สิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้เพื่อตอบโต้การต่อต้านดังกล่าว กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่หนักข้อขึ้นไปอีก

 

 

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก แสดงให้เห็นว่า แพทย์สนาม อย่างน้อย 13 ราย ถูกสังหารเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการชุมนุม ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น การขนส่งบุคลากรและผู้ป่วย, สถานที่ด้านการแพทย์และพยาบาล และผู้ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพโดยตรงรวมทั้งแพทย์และพยาบาล ถูกจู่โจมมากถึง 179 ครั้ง เทียบเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้

 

 

สเตฟาน โจสท์ ตัวแทนองค์การอนามัยโลกประจำเมียนมาระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ถูกจับกุมควบคุมตัวไปอีกอย่างน้อย 150 คน แพทย์และพยาบาลอีกนับเป็นเรือนพัน ถูกระบุชื่อเอาไว้ในประกาศจับ ต้องการตัวฐานยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำต่อต้านรัฐบาล

 

 

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม การต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ซึ่งเดิมที่รัฐบาลทหารชุดใหม่ ประกาศให้เป็นการดำเนินการสำคัญเร่งด่วนถึงได้ล่มสลาย และแม้ว่าจะพยายามเรียกร้องให้แพทย์และพยาบาลกลับเข้าทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

 

มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ตอบรับคำเรียกร้องดังกล่าวของรัฐบาลทหารเมียนมา

 

 

เจ้าหน้าที่ในหนึ่งในศูนย์เพื่อการกักกันโรคโควิด-19 ในนครย่างกุ้ง เปิดเผยกับรอยเตอร์ไว้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญกับการรับมือโรคระบาดเป็นพิเศษประจำศูนย์แห่งนี้ เข้าร่วมในขบวนการอารยะขัดขืน กันทั้งหมด

 

 

“แผนกตรวจหาเชื้อของศูนย์ฯ เลิกรับผู้ป่วยใหม่มานานแล้ว เพราะ ศูนย์ตรวจหาเชื้อไม่มีเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ที่จะทำหน้าที่ตรวจ”

 

 

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการรัฐประหาร จำนวนการตรวจสอบหาเชื้อทั่วประเทศเฉลี่ยแล้วตกวันละกว่า 17,000 ราย ถึงตอนนี้รวมกันทั่วประเทศ มีไม่ถึง 1,200 รายต่อวัน ในช่วง 7 วันจนถึง 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของเมียนมาในเวลานี้ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมรวม 3,200 ราย จากจำนวนติดเชื้อสะสมทั้งหมด 140,000 ราย

 

 

แต่ยอดการตรวจหาเชื้อที่ร่วงลงมหาศาล ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตที่ว่านี้ ตกอยู่ในความเคลือบแคลงสงสัยว่า ต่ำเกินจริงไปมาก และยังแสดงความเคลื่อนไหวของยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตเป็นแนวระนาบซึ่งขัดกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่แวดล้อมเมียนมาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือ อินเดีย

 

 

หลุยส์ เฟอีร์-ยูนิส ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการโควิด-19 ของ สมาพันธ์กาชาดสากล (ไอเอฟอาร์ซี) และสภาเสี้ยววงเดือนแดง (อาร์ซีเอส) แสดงความกังวลไว้ว่า

 

 

“การขาดหายไปของการตรวจหาเชื้อ, การรักษาพยาบาล และการกระจายวัคซีนที่หลงเหลือจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่งในเมียนในเวลานี้ น่าวิตกอย่างมาก เพราะทุกคนกำลังเสี่ยงอยู่กับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้สูงมาก”

 

 

องค์การอนามัยโลกเอง พยายามติดต่อกับรัฐบาลทหารเมียนมาชุดใหม่ เพื่อดูว่า ดับเบิลยูเอชโอ จะให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

สเตฟาน โจสท์ ตัวแทนของอนามัยโลกประจำเมียนมา ยอมรับว่า ยังมองไม่เห็นว่า สถานการณ์แพร่ระบาดในเมียนมาในเวลานี้จะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร จนกว่าจะมีการแก้ไขเงื่อนปมทางการเมือง เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

 

 

 

ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง