รีเซต

อ่านความเห็นเพจ Spaceth.co 7ปีทำยานไปดวงจันทร์ได้จริงหรือ?

อ่านความเห็นเพจ Spaceth.co 7ปีทำยานไปดวงจันทร์ได้จริงหรือ?
มติชน
14 ธันวาคม 2563 ( 22:51 )
87

จากกรณี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาเปิดเผยระหว่างการ เร็วๆ นี้ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่จะสามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี นั้น

 

คลิกอ่าน เอนก ลั่น ไทยเตรียมเป็นชาติที่ 5 เอเชีย ผลิตยานอวกาศ โคจรรอบดวงจันทร์ คาดใช้เวลาไม่เกิน 7 ปี

 

ล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ Spaceth.co เฟซบุ๊กแฟนเพจของเว็บไซต์ https://spaceth.co/ เว็บไซต์ให้ความรู้ด้านอวกาศชื่อดังได้โพสต์ข้อความถึงกรณีข่าวดังกล่าวในหัวข้อ “7 ปีทำยานไปดวงจันทร์ได้จริงเหรอ อวกาศไทยไม่ได้ขาดเทคโนโลยี แต่กำลังขาดทิศทาง”

 

เนื้อหาระบุบว่า
จากข่าวที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อยู่ดี ๆ ก็พูดขึ้นมาวันนี้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “ประเทศไทยจะทำยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปี” ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามและวิเคราะห์ถึงบทพูดอันไร้บริบทนี้กันใหม่

 

คำถามแรก การทำยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ในเวลา 7 ปีนั้นทำได้จริงหรือไม่ ? คำตอบก็คือได้ และไม่ใช่เรื่องยากด้วย เชื่อหรือไม่ ด้วยความดุเดือดในการแข่งขันด้านอวกาศในโลกที่ทุกคนตื่นเต้นกับการกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 อย่างโครงการ Artemis นั้น ทำให้ตอนนี้ พื้นที่บนจรวด ยานอวกาศ ต่างถูกจับจอง การส่งยานแบบ Orbiter, Lander หรือแม้กระทั่ง Rover ไปลงจอดบนดวงจันทร์ เป็นเสกลงานที่ทำได้ในงบหลักแค่ล้านบาทจนถึงร้อยล้านบาทเท่านั้น

 

ในงานประชุม IAC ประจำปี 2019 (และ 2020 ที่ถูกจัดออนไลน์) บริษัทอวกาศยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างหาแนวร่วมในการพัฒนา Payload หรือยานไปลงบนดวงจันทร์อย่างมีนัยสำคัญ

 

ประเทศอย่างอิสราเอล และบริษัท SpaceIL เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเริ่มต้นจากการพัฒนาด้วยทุนจากโครงการ Google Lunar X Prize ก่อนที่จะมาสำเร็จในเวลาผ่านไปจากความสนับสนุนจากภาคธุรกิจและรัฐบาล พวกเขาส่งยานไปลงจอดดวงจันทร์ในปี 2019 ที่ผ่านมา แม้จะพลาดลงจอดไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าเสกลในการทำงานอวกาศในเรื่องของ Moon Lander นั้นไม่โตเท่าที่คิด

 

การทำยานไปลงดวงจันทร์ในบริบทการแข่งขันยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ เราจะได้เห็นการทดสอบการนำร่องระบบลงจอดต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ซึ่งแน่นอนว่า Payload จำนวนมากก็จะต้องถูกส่งไป ทั้งบนผิวของดวงจันทร์ หรือโคจรบนดวงจันทร์


ดังนั้นถามว่า การทำยานไปลงดวงจันทร์ใช้เวลา 7 ปี กับงบประมาณของประเทศนั้นเป็นไปได้ไหม บอกได้เลยว่าได้ และทำได้

 

แต่คำถามสำคัญก็คือ ทำไปเพื่ออะไร ? อาจจะเป็นคำถามที่ดูเหมือนตั้งแง่ ซึ่งถ้าเราถามสเปซทีเอชว่า เราสำรวจอวกาศไปทำอะไร เราก็อาจจะได้คำตอบแนว ๆ Abstract ที่บอกว่า สำรวจไปเพื่อมนุษยชาติได้รู้จักตัวเองมากขึ้น แต่ในระดับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล (Goverment Policy) นั้น ควรมีการศึกษาและวางเป้าหมายที่ชัดเจน

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือประเทศอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน แต่อินเดียก็ผลักดันเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ (และเทคโนโลยีอื่น ๆ เป็นเป้าหมายชัดเจนที่จะบอกว่าอินเดียจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง) หรือกรณีของประเทศอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาด้านการเงิน (ฮา) แต่ก็สนใจอวกาศเช่นเดียวกัน โดยพยายามเข้ามามีบทบาทในการทำงานอวกาศ เพื่อเป้าหมายคือ ต้องการที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ให้แก่ชนชาติอาหรับ ว่าครั้งหนึ่งชาวอาหรับเคยเป็นผู้นำด้านวิทยาการให้กับโลก ในวันที่โลกไปสำรวจอวกาศพวกเขาก็จะต้องมีที่ยืนเหมือนกัน

 

ทีนี้มาดูถึงจุดยืนของอวกาศในประเทศไทย ประเทศไทยไม่มี Space Agency อย่างไรก็ตามเรามีหน่วยงานอย่าง NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 ปี และนำพาดาราศาสตร์ไทยเข้ามามีบทบาทในเวทีโลก ตั้งแต่การเข้าร่วมในโครงการการสำรวจทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ จนถึงการสร้างจานรับสัญญาณวิทยุจากอวกาศ เพื่อเชื่อต่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม NARIT มีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องของการพัฒนาคน และมีแผนที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการต่องบประมาณปีต่อปี

 

ในขณะที่หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทอีกแห่งหนึ่งคือ GISTDA ในส่วนนี้นั้นเริ่มต้นขึ้นมาจากงานด้านภูมิสารสนเทศ แต่ภายหลังเนื่องจากมีดาวเทียมจึงเกี่ยวข้องกับอวกาศในบางส่วน ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ ภาครัฐ มหาวิทยาลัย เช่น สวทช. (NSTDA) ก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น JAXA โครงการการสนับสนุนกิจกรรมอวกาศในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมอยู่บ่อยครั้ง


อย่างไรก็ดี ความร่วมมือขนาดใหญ่อย่างโครงการไปดวงจันทร์นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยการมองเป้าหมายร่วมทั้งในระดับหน่วยงานรัฐ, ภาคเอกชน, หรือแม้กระทั่งภาคสังคม ประชาชน การศึกษา ในการที่เราจะมี “เป้าหมายร่วม” อะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าพูดในมุมอวกาศ ประเทศไทยยังไม่เคยมี

 

แม้จะมีโครงการอย่าง โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) ในการทำดาวเทียมและสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบดาวเทียมในไทย แต่ทางเรา (สเปซทีเอช) ก็ยังมองว่าเป็นความร่วมมือในระดับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ (ไม่ใช่ National Scale ที่ผนวกรวมภาคการศึกษาทั่วประเทศ หรือที่สังคมให้ความสนใจ)

 

เราไว้ใจการทำ Thai Space Consortium เพราะแน่นอนว่ามันจะช่วยสร้างงาน และสร้างคน ที่มีคุณภาพให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทยและวงการวิทยาศาสตร์โลก แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วในระดับกระทรวงวิทย์ฯ (ขอใช้คำเดิม) ควรทำอะไร ?

 

National Agenda เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การพูดออกสื่อบอกว่า ไทยจะทำดาวเทียมในกี่ปี แต่ในฐานะผู้ดูแลนโยบาย ต้อง Convince Public ให้ได้ว่า เราจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร และทำแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร

ในฐานะของกระทรวงฯ เรามองว่าสิ่งสำคัญก็คือการกำหนด National Agenda ไม่ใช่กำหนด Direction เพราะใครจะทำอะไรนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาส่วนที่ตัวเองเชี่ยวชาญให้ไปสอดคล้องกับ “เป้าหมายร่วม” ได้อย่างไร

 

ดังนั้นโมเดลการพัฒนาอวกาศไทย จึงไม่ใช่แค่งานของหนึ่งหน่วยงาน สองหน่วยงาน แต่ต้องเกิดจากการที่เรามีเป้าหมายร่วมกับ ทำอะไร เพื่ออะไร สังคมจะได้อะไร (แม้การไปดวงจันทร์ของอเมริกาจะดูสวยหรู แต่มันก็ยังซ่อน Political Agenda อยู่เยอะมาก แต่สุดท้ายผลพวงจะคอยตัดสินว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ เพราะถ้า Apollo ตอบโจทย์ Political Agenda แต่ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาในวงกว้าง ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม)

 

เราจึงขอสรุปสั้น ๆ ให้ว่า “การทำงานอวกาศ เทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือการวางทิศทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้เทคโนโลยีจำกัดมากกว่า”

 

โดยเฉพาะใน Context ของยุค Artemis (และ Moon Economy) เราควรคิดอะไรมากกว่าแค่การส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์แล้วจบ

 

ประเทศไทยวันนี้จะวิ่งให้ทัน Space Economy และเทคโนโลยีอวกาศอย่างไร งานวิจัยนี้มีคำตอบ – https://spaceth.co/space-industry-and-new-era-of-space…/
Website – https://spaceth.co/
Blockdit – https://blockdit.com/spaceth
Facebook – https://facebook.com/spaceth
Twitter – https://twitter.com/spacethnews
IG – https://instagram.com/spaceth.co

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง