หมอชี้ 3 ปัจจัยไทยเสี่ยงแพร่โควิด แนวชายแดน-ผู้ชุมนุม-อากาศหนาว วัคซีนเร็วสุดกลางปี64
หมอศิริราชชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงโควิดแพร่ระบาดในไทย แนวชายแดน-ผู้ชุมนุม-อากาศหนาว เผยวัคซีนได้เร็วสุดกลางปี64 อาจสำเร็จแค่50% อนุทินชงศบค.ลดกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 10 วัน
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่ตัวเลขทั่วโลกยังพุ่งทะยานเกือบทะลุ 48ล้านคน ส่วนประเทศไทยยังสามารถควบคุมการระบาดได้ดี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสรุปสถานการณ์ทั่วโลกของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ว่า ขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า ในทุก 3-5 วัน จะมีผู้ป่วยรายใหม่ สะสมถึง 1 ล้านราย แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา พบว่าใช้เวลาเพียง 2 วัน จะมีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 1 ล้านราย
“หมายความว่า กว่าจะสิ้นสุดฤดูหนาวทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และนอกจากจำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ยังมีอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นคู่ขนานไป ความชันอาจจะไม่สูงเท่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเมื่อพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นจำนวนเตียงของแต่ละประเทศเข้าสู่จุดอิ่มตัวและไม่เพียงพอรักษา” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ข้อมูลแต่ละประเทศ เช่น ประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 70,000-80,000 ราย และบางวันทะลุถึง 100,000 ราย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมกว่า 900,000 ราย คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผู้ป่วยสะสมแตะ 10 ล้านราย ต่อไปคือ ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยพบผู้ป่วยรายวันมากถึงหลักหมื่นราย และมีผู้ป่วยสะสมแตะที่ 1 ล้านราย คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์ จะแตะที่ 1.5 ล้านราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในหลายประเทศพบว่า การระบาดรอบสองรุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่างที่สามารถเรียนรู้ได้ รวมถึงขณะนี้เข้าสู่ช่วงอากาศหนาว ความเสี่ยงคือ เรามักจะเข้าไปอยู่ในอาคารกันมากขึ้นและเมื่อเราอยู่ในอาคารก็มักจะไม่สวมหน้ากากอนามัย จะสวมเฉพาะเมื่อออกจากอาคาร และเมื่อเป็นอาคารปิด ก็อาจจะส่งผลต่อการแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลแสดงให้เห็นแล้วว่า การสวมหน้ากากเป็นสิ่งที่เราทำได้และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอย่างมาก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในทวีปเอเชีย ประเทศอินโดนีเชีย ถือว่ายังอยู่ในรอบแรกที่การพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ลดลง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ประเทศญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ใน 6 เมือง โดยขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจะลดลง พบผู้ป่วยรายใหม่ 600-700 รายต่อวัน แต่ประเทศญี่ปุ่น ทำได้ดีในแง่ของการป้องกันอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็น 1 ในกลวิธี ลดความเสียหาย สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ เรื่องการแยกกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากหากปล่อยให้ติดเชื้อมากจำนวนเตียงใน รพ. ไม่เพียงพอ ก็จะต้องกักตัวเองในบ้าน ซึ่งวิธีนี้อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น และส่งผลต่ออัตราเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา
เผยไทยมีความเสี่ยง3ด้าน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนในประเทศเมียนมา พบว่า รัฐยะไข่พื้นที่ใกล้กับประเทศบังกลาเทศ ใช้เวลาเร็วในการระบาดโควิด-19 เข้าสู่เมือง เพราะช่วงแรกในการระบาดไม่ได้มีการป้องกัน ในการจำกัดเข้าออกเมือง ซึ่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ล่าช้าเพียง 2 วัน ก็ทำให้เกิดการระบาดได้มาก โดยขณะนี้พบว่าตัวเลขผู้ป่วยสะสมทะลุหลัก 50,000 ราย และมีอัตราเสียชีวิตในตัวเลขสองหลักมาโดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวเมียนมา พยายามเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งก็เข้าใจ แต่เมื่อเข้ามาแล้วติดตามตัวไม่ได้ ก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ มีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ใช้เวลาเป็นเดือนในการควบคุมสถานการณ์ และขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในเลขหลักเดียวและอัตราเสียชีวิตน้อยลง
“ขณะนี้ประเทศไทย ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในสถานกักกันโรค (Quarantine) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของไทยคือ 3 ข้อ คือ 1.ในบริเวณชายแดนของประเทศที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง 2.ด้วยอากาศที่เย็นลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ทำให้มีแนวโน้มว่าคนเราจะเข้าอาคารและปิดหน้าต่าง โดยมีบ่อยครั้งที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และหากโชคไม่ดี มีผู้ป่วยในอาคารก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ และ 3.การชุมนุมในเวลานี้ ที่มีการตะโกน หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งไทยเราโชคดีที่ขณะนี้ยังไม่มีคนที่ติดเชื้อเข้ามาถึงตรงกลางของประเทศ และอัตราเสียชีวิตน้อย เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่อาการไม่รุนแรง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า สรุปได้ว่า ขณะนี้ทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาดโรคโควิด-19 ในหลายประเทศพบการระบาดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง บางประเทศถึงกับต้องใช้มาตราการล็อกดาวน์ในการจำกัดวงของผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกินศักยภาพของ รพ.ในการดูแลผู้ป่วย
วัคซีนเร็วอาจได้ผล 50%
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดของการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ทั่วโลกวันนี้มี 88 บริษัท ที่อยู่ระหว่างศึกษาในสัตว์ทดลอง ซึ่งใช้เวลาหลักเดือนก็จะตอบได้แล้วว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และเมื่อผ่านการทดลองจากสัตว์ทดลองได้ผล ก็จะเข้าสู่การศึกษาในมนุษย์ ระยะที่ 1 ซึ่งจะดูความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้จำนวนศึกษาไม่มาก มีจำนวน 35 บริษัท ระยะที่ 2 ศึกษาคนจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลายทั้งเพศและอายุ ใช้กลุ่มทดลองในหลักพันคน มีจำนวน 14 บริษัท และ ระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพของการป้องกันโรค โดยทั่วไปแล้วจะใช้กลุ่มทดลองมากกว่า 30,000 คน โดยวัคซีนที่ใช้จะมีทั้งวัคซีนจริงและวัคซีนหลอก โดยที่ผู้ถูกฉีดจะไม่ทราบว่าตนเองได้วัคซีนตัวใด เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนนั้นๆ ในขณะนี้มี 11 บริษัท
“โดยหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระยะทดลองเฟส 3 แต่เกิดความจำเป็นในประเทศนั้นๆ จนต้องอนุโลมให้ใช้วัคซีนได้มีอยู่ 6 บริษัท ที่มีการอนุโลมให้ใช้ในบางพื้นที่ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ได้ โดยขณะนี้มีหลายงานวิจัยออกมาตรงกันว่า ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในร่างกายเป็นภูมิคุ้มกันระยะสั้น ซึ่งในบางบริษัทกำหนดให้ฉีด 2 เข็ม และบางบริษัทกำหนดว่าอาจต้องฉีดในทุกๆ ปี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โดยสรุปเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ของวัคซีนที่ทดลองในสัตว์จะประสบความสำเร็จในมนุษย์ วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในมนุษย์ ประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 20 วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียงร้อยละ 50 และคนต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจจะตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน
“ดังนั้น วัคซีนจะผลิตได้จะไม่เร็วกว่ากลางปีหน้า แต่วัคซีนที่ได้ผลที่สุดคือ ตัวเราเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนการเข้าออกสถานที่ เราทำดีมาตลอด ต้องทำต่อเนื่อง หากเราอยากเห็นเศรษฐกินดำเนินการไปได้ พวกเราต้องช่วยกัน หากเราทำแบบเดิม เราก็ยังใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หากเราไม่ช่วยกันทั้งหมด ก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนบางประเทศในยุโรป อย่างเช่น สหราชอาณาจักรที่ต้องประกาศปิดประเทศจนถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ชงศบค.ไฟเขียวลดกักตัว
ที่สแปลช บีช รีสอร์ต ไม้ขาว ภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยังไม่หารือถึงการเสนอให้ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน เพราะต้องนำเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ก่อน แต่ทางกรมควบคุมโรคจะนำข้อมูล ที่มีหลักทางวิชาการให้มากที่สุดมายืนยัน โดยมีบางฝ่ายยังไม่อยากได้ 10 วัน มีการพูดกันขึ้นมาว่าชาวบ้านหลายคนยังไม่อยากได้ 10 วัน แต่ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ยังยืนยันว่า 10 วันอยู่ในช่วงที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้อย่าไปเทียบกับช่วง 7-8 เดือนที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาภายในปีนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อม แต่ต้องดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งต้องรับฟังทุกหน่วยงาน แต่ยังยืนยันว่าถ้านายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเปิด กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคยืนยันว่ามีความพร้อมทั้งยาเวชภัณฑ์ แพทย์ พยาบาลพร้อม ซึ่งพูดแบบนี้มา 2 เดือนแล้ว
ลดเวลากักตัวเน้นปท.เสี่ยง ต่ำ
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ทั่วโลกวันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 472,997 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมทั่วโลกกว่า 47 ล้านราย และยังคงมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับประเทศไทย เรื่องนโยบายลดระยะเวลากักตัวของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเหลือ 10 วัน จาก 14 วัน กำลังอยู่ระหว่างเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตามภาครัฐได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศสำคัญที่สุด โดยการดำเนินงานจะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหรือเท่ากับประเทศไทย เนื่องจากมีโอกาสที่จะนำเชื้อเข้าสู่ประเทศน้อยมากมีการตรวจหาเชื้อก่อนออกจากประเทศต้นทาง” นพ.โสภณ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากกลุ่มนี้ โดย สธ.ได้มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งระบบกักกัน ตรวจหาเชื้อเป็นระยะตามมาตรฐาน เพื่อคัดกรองให้พบผู้ที่อาจติดเชื้อโดยเร็วที่สุด รวมถึงมีระบบติดตามขณะที่อยู่ในประเทศ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองที่ สธ.กำหนด ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย/ หน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา และสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่