รีเซต

ปีหน้าเสือหมอบรอกระโจน! ‘ซีไอเอ็มบี’ ขยับจีดีพีปีนี้โต 1.1%  รับการฟื้นตัวศก.ไทย - แต่ยังต้องระวังโควิดรอบใหม่

ปีหน้าเสือหมอบรอกระโจน! ‘ซีไอเอ็มบี’ ขยับจีดีพีปีนี้โต 1.1%  รับการฟื้นตัวศก.ไทย - แต่ยังต้องระวังโควิดรอบใหม่
ข่าวสด
25 พฤศจิกายน 2564 ( 14:58 )
47

ซีไอเอ็มบีขยับจีดีพีปีนี้โต1.1% - นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จาก 0.4% เป็น 1.1% และปี 2565 จาก 3.2% เป็น 3.8% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ดีกว่าคาด จากปัญหาอุปทานชะงักงันในโรงงานที่ไม่รุนแรงและกำลังคลี่คลาย ประกอบกับการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสัญญาณดีหลังการเปิดเมืองและเปิดรับการท่องเที่ยว

 

“เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพียงแต่รอปัจจัยที่เอื้ออำนวยและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ เราจึงเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าเสมือนเสือโคร่งที่ซุ่มหมอบรอจังหวะพุ่งกระโจน ไม่ใช่เสือป่วยนอนหลับนิ่งอย่างที่ใครคิดกัน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังให้ดี เพราะมีเสือร้ายอีกตัวคอยดักซุ่มขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565”

 

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ต้องอาศัย 3 ปัจจัยสนับสนุนปัจจัยแรก คือ การส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ปัจจัยที่สอง คือ การท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5.1 ล้านคน ซึ่งน่าจะฟื้นตัวได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว อย่าง สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ส่วนจีน จะยังไม่กลับเข้ามาไทยมากนัก

 

สำหรับปัจจัยที่สาม คือ กำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดได้ คือ การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยว ปัจจัยที่สอง คือ สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลกรวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต และปัจจัยที่สาม คือปัญหาเงินเฟ้อ หรือ ค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ ซึ่งจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อย

ส่วนแนวโน้มเงินบาท และดอกเบี้ย เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า จากปัจจัยด้านทุนเคลื่อนย้าย ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง