รีเซต

จนท.ศิลปากรชี้ เจดีย์ถล่มมีสัญญาณมาก่อน ทาสีทองกันชื้น มีรอยแตก ฝนซึมสะสม ก่อนพัง

จนท.ศิลปากรชี้ เจดีย์ถล่มมีสัญญาณมาก่อน ทาสีทองกันชื้น มีรอยแตก ฝนซึมสะสม ก่อนพัง
มติชน
30 กันยายน 2565 ( 12:27 )
41
จนท.ศิลปากรชี้ เจดีย์ถล่มมีสัญญาณมาก่อน ทาสีทองกันชื้น มีรอยแตก ฝนซึมสะสม ก่อนพัง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 กันยายน  ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุเจดีย์เก่าภายในวัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พังทลายลงมาเย็นวานนี้ ล่าสุด นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อม พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด พร้อมคณะสงฆ์ ตัวแทนเทศบาลนครเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่ความเสียหายบริเวณฐานเจดีย์ซึ่งเป็นซากปรักหักพัง เพื่อหารือและประเมินความเสียหาย

 

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบวัตถุโบราณที่บรรจุอยู่ภายในและพังลงมาพร้อมกับเจดีย์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย พระพุทธรูปโบราณ หินแก้วขาวล้ำค่า เพื่อรวบรวมนำไปตรวจสอบอีกครั้ง ท่ามกลางประชาชนที่มาสังเกตการณ์จำนวนมาก โดยมีการปักป้ายว่าเป็น “เขตหวงห้าม”

 

นายเทอดศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุของการพังทลายมีการส่งสัญญาณอันตรายมาก่อน เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดูและประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายแล้ว เทศบาลนครเชียงใหม่ช่วยเหลือปิดกั้นพื้นที่และสั่งปิดโรงเรียนที่อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียน จากการตรวจสอบพบว่าแกนในเป็นโบราณสถานเดิม และมีการก่อพอกเพิ่มน้ำหนักด้วยปูนซีเมนต์ เหมือนคนแก่ที่ไม่มีแรงแบกตัวเอง แต่กลับไปนำของใหม่เข้าไปใส่เพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น โดยไม่มีการเสริมความแข็งแรง

นายเทอดศักดิ์กล่าวว่า ประกอบกับโดยรอบมีการเทคอนกรีตเป็นพื้น ความชื้นสะสมใต้ดินไม่สามารถระเหยขึ้นมาสู่อากาศได้ ทำให้ระเหยใส่องค์เจดีย์ที่ก่อสร้างจากชั้นดินโดยตรง ประกอบกับเจดีย์ทาสีทองทั้งองค์เหมือนฟิล์มป้องกันความชื้นระเหยอีกชั้น เมื่อเกิดมีรอยแตกเล็กๆ ขึ้นมา น้ำฝนไหลลงไป มีวัชพืชแทรก ทำให้เกิดรอยแตกแยกมากขึ้น น้ำฝนไหลสะสมเข้าไป บวกกับความชื้นข้างใน ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็แสดงอาการและพังทลายลงมา

 

“เจดีย์เก่าๆ ตามวัดร้าง ลักษณะการพังทลายจะพังตั้งแต่ใต้องค์ระฆังลงมา เหลือแค่แกน มีองค์ระฆัง และปลียอดเล็กน้อย สันนิษฐานได้ว่าก่อนจะมีการก่อครอบจะมีลักษณะสมบูรณ์ หรือเกือบจะสมบูรณ์ จากนี้ก็ต้องเปิดพื้นที่ทั้งหมด และให้นักโบราณคดีมาตรวจสอบวัดตำแหน่งเดิมว่าอยู่ในยุคไหน ส่วนรูปแบบต้องถอดแบบออกมาว่าหน้าตารูปพรรณเป็นอย่างไรจากรูปถ่ายในอดีต จากชิ้นส่วนหลักฐานที่เราพบ ส่วนโบราณวัตถุบางส่วนที่ตรวจพบจากการฝังไว้ ทางวัดเก็บรักษาไว้ เพื่อให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเข้ามาจัดทำทะเบียน เพื่อตรวจสอบยุคสมัยของโบราณวัตถุ” นายเทอดศักดิ์ระบุ

 

 

นายเทอดศักดิ์กล่าวว่า สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะก่อสร้างคล้ายกัน ยังห่วง กำแพงเมืองชั้นนอก กำแพงดิน เวียงสวนดอก ส่วนใหญ่จะเหลือเพียงเนินดิน และมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมด้านบน พอฝนตกหนักมากๆ ดินสไลด์ลงมา เมื่อประชาชนเข้าไปปลูกสิ่งปลูกสร้าง หรือที่อยู่อาศัยประชิดติดโบราณสถานก็เกรงจะเกิดอันตราย หากมีดินสไลด์และพังทลายลงมาใส่ ขอให้ชุมชนเฝ้าระวังและดูแลกัน ส่วนโบราณสถานอื่นๆ ที่มีการตรวจสอบแล้วและยังไม่ตรวจสอบจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ โดยระบุว่า การดำเนินการต่อไปคงต้องฟังจากกรมศิลปากรมาเก็บรายละเอียดและหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ ก่อนจะหารือกันอีกครั้ง

 

สำหรับ วัดศรีสุพรรณ เป็นวัดที่มีประวัติการก่อสร้างมาตั้งแต่ครั้งอดีตกว่า 500 ปี ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า โปรดเกล้าฯให้มหาอำมาตย์ชื่อเจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ สร้างวัดชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ” ภายในวัดมีอุโบสถเงินแห่งแรกของโลกที่ชาวชุมชนร่วมแรงร่วมใจสืบสานเครื่องเงินชุมชนวัวลาย ซึ่งเป็นชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่

 

ส่วนพระบรมธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม บนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สามสิบหก พระบรมธาตุเจดีย์ได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว มีอายุประมาณเท่ากับพระวิหาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง