รีเซต

กบน. ขยายวงเงินอุ้มแอลพีจี 1 หมื่นล้าน - โต้ข่าวซื้อโหวตยื้อเก้าอี้เลขาพรรคพปชร.

กบน. ขยายวงเงินอุ้มแอลพีจี 1 หมื่นล้าน - โต้ข่าวซื้อโหวตยื้อเก้าอี้เลขาพรรคพปชร.
ข่าวสด
18 พฤษภาคม 2563 ( 16:04 )
66
กบน. ขยายวงเงินอุ้มแอลพีจี 1 หมื่นล้าน - โต้ข่าวซื้อโหวตยื้อเก้าอี้เลขาพรรคพปชร.

 

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขยายวงเงินอุ้มแอลพีจี 1 หมื่นล้าน ปฏิเสธล้วงเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ โต้ข่าวซื้อโหวตยื้อเก้าอี้เลขาพรรคพปชร.

 

กบน. ขยายวงเงินอุ้มแอลพีจี - นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติขยายกรอบวงเงินติดลบในส่วนของบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท จากเดิมให้ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปอุดหนุนการปรับลดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายแอลพีจีเหลือ 14.38 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ทำให้ราคาขายปลีกแอลพีจีลดลงเหลือ 18.87 บาทต่อก.ก. จาก 21.87 บาทต่อก.ก. ส่งผลต่อราคาขายแอลพีจีบรรจุถัง 15 ก.ก. ยังคงอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง

 

นอกจากนี้ กบน. มีมติคงเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ในอัตราที่ลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นดีเซลบี 20 ลดลง 25 สตางค์ต่อลิตร และเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ แก๊สโซฮอล์ อี 85 ในอัตรา 25 สตางค์ต่อลิตร ต่อไปไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพของประชาชน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปัจจุบันที่เริ่มฟื้นตัว จากเดือนมี.ค. อยู่ที่ระดับ 26.62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 31.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศผันผวนเปลี่ยนแปลงไป 11 ครั้ง โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 31 สตางค์ต่อลิตร ขณะที่กลุ่มดีเซลลดลงเฉลี่ย 2.50 บาทต่อลิตร ซึ่งปีนี้ทั้งปีคาดราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

 

อย่างไรก็ตาม จากการไม่ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ครั้งนี้ ทำให้สภาพคล่องกองทุนฯ ในส่วนของน้ำมันติดลบเดือนละประมาณ 37 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 17 พ.ค. 2563 ฐานะกองทุนฯ สุทธิ 35,176 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 41,358 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 6,182 ล้านบาท

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวการนำเงินกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาแลกกับเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังงานประชารัฐ (พปชร.) โดยเสนองบตัวเลข 8 หลัก ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ยกมือสนับสนุนนั้น ส่วนตัวยืนยันเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะทุกขั้นตอนการอนุมัติได้กำหนดระบบกลไกการตรวจสอบที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นหากเทียบกับอดีต ดังนั้นตนจึงไม่ได้กังวลว่าเรื่องดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด

 

“ผมไม่มีอะไรไม่โปร่งใส จึงไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบกับตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรค โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาได้วางกระบวนการพิจารณาและคัดเลือกรวมถึงการติดตามหลังอนุมัติ และที่สำคัญหลังการอนุมัติโครงการจะมีการนำมาเปิดเผยในเว็บไซต์ และโครงการไหนในอดีตมีปัญหาและปัจจุบันที่ถูกร้องเรียนผมก็ขึ้นแบล็กลิสต์ไม่ให้ขออีก ถามว่าอดีตเหล่านี้เคยเปิดเผยหรือไม่ ผมพยายามปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นในอดีตที่เกิดขึ้น หากพบโครงการใดมีปัญหาก็สามารถร้องเรียนได้”นายสนธิรัตน์กล่าว

 

ในส่วนของการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ ปีงบ 2563 วงเงิน 5,600 ล้านบาท ที่ล่าสุดทางสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 8-18 พ.ค.นี้ เบื้องต้น มีผู้มายื่นรวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยผู้ที่จะเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนวงเงินดังกล่าวมี 2 ประเภทได้แก่ 1. เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และปีนี้ได้เพิ่มประเภท 2. รูปแบบคณะกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีพลังงานจังหวัด เกษตรจังหวัด และจะรวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นรูปแบบสถานีเครือข่ายพลังงาน เป็นต้น ซึ่งงบทั้งหมดมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหลังผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการดำเนินงานได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย 1. อนุกรรมการกองทุนฯที่มีรมว.พลังงานเป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มีปลัดพลังงานเป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการที่มีนายพรายพล คุ้มทรัพย์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานที่มีนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา เป็นประธาน โดยขั้นตอนต่างๆ นั้นตนเองไม่สามารถไปแทรกแซงและมีอำนาจในการอนุมัติได้ เพราะขั้นตอนการอนุมัติสุดท้ายจะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์ฯ (บอร์ดกองทุนอนุรักษ์) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบ

 

“ผมมีหน้าที่แค่กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายให้สอดคล้องกับบอร์ดชุดใหญ่เท่านั้นไม่มีอำนาจโดยตรงจะไปอนุมัติและโครงการที่ได้อนุมัติก็จะต้องขึ้นเว็บใซต์ให้ตรวจสอบ แต่นี่ยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย ส่วนหลังจากวันที่ 18 พ.ค. ที่ปิดยื่นรับข้อเสนอต่อไปก็เป็นขั้นตอนของคณะทำงานปลัดไปพิจารณาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่วางไว้ที่เน้นแผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทนที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ”นายสนธิรัตน์กล่าว

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องตั้งเกณฑ์ให้สอดรับกับเศรษฐกิจฐานรากและการจ้างงานซึ่งวงเงินที่ขอมาถึง 20,000 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่วางไว้ที่มีเพียง 5,600 ล้านบาทนั้น หากยึดเกณฑ์ที่กำหนดมั่นใจว่าจะคัดเลือกและนำเสนอบอร์ดกองทุนอนุรักษ์ฯ อนุมัติกลางมิ.ย.นี้ เพื่อให้โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนได้ตามแผนที่กำหนดที่จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง