การเจ็บป่วยแต่ละครั้ง นอกจากการต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ การไปหาหมอ ไปโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะโรคต่าง ๆ นั้นต้องอาศัยความรู้จากการวินิจฉัยของคุณหมอทั้งหลาย เพื่อจะรักษาได้ถูกวิธี แต่การไปโรงพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่อง่ายสำหรับคนทั่วไปเช่นกัน ไหนจะต้องลางาน ไหนจะต้องตื่นเช้า ฝ่าการจราจรที่ติดขัดในเมือง ไปถึงก็ต้องตรวจวัดทำบัตรคิว แล้วก็ต้องนั่งรออีกเป็นเวลานาน เพราะคนไข้ก็มาจากทุกทิศทุกทาง ไหนจะต้องทนกับความแออัด บางครั้งก็เสียเวลาไปครึ่งค่อนวันกว่าจะได้พบหมอ พบหมอแล้วก็ต้องไปนั่งรอรับยาอีกนานสองนาน จะดีไม่น้อยเลยถ้าเราสามารถรู้เวลานัดได้ล่วงหน้า กรอกเอกสารได้ล่วงหน้า หรือรับยาได้ ณ ร้านขายยาใกล้บ้าน ขอบคุณภาพประกอบจาก rawpixel.com / pxhere สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องฝันอีกต่อไปแล้ว เพราะระบบสาธารณสุขและวงการแพทย์ของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้เพื่อความรวดเร็วและสะดวกสบาย โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีการตั้งตู้ลงทะเบียนได้ด้วยตัวเองแล้ว ทั้งการกรอกประวัติผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยเก่าก็สามารถใช้บัตรคนไข้ที่เป็นสมาร์ทการ์ดเสียบจองคิวได้เลย จะมีบัตรนัด ห้องนัด ชื่อคุณหมอผู้ตรวจแจ้งเราออกมา รวมถึงบอกเส้นทางว่าอะไรอยู่ตรงไหน เช่น ไปพบหมอห้องที่เท่าไหร่ เจาะเลือดแผนกไหน ทางไปห้องชำระเงิน หรือรับยา ขอบคุณภาพประกอบจาก soyfeliz2018 / pxhere ภาครัฐก็พยายามผลักดันเทคโนโลยีทุกทาง สร้างโรงพยาบาลต้นแบบแต่ละภาค เพื่อลดขั้นตอนการบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นำเทคโนโลยีบล็อกเชน [blockchain] มาใช้ เพื่อสร้าง digital platform ทุกรูปแบบให้เชื่อมโยงเข้าหากัน ส่วนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลายก็อาจจะนำหน้าไปก่อนแล้วก้าวนึง เพราะแต่ละโรงพยาบาลก็สร้างทั้ง Line ทั้ง Application เป็นของตนเอง ให้เราโหลดมาใช้งานได้โดยง่าย เช่น วันนึงเราเกิดเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ ก็เพียงเปิด แอพฯ โรงพยาบาล ใส่รหัสเข้าถึง แจ้งอาการ ลงทะเบียนนัดหมาย ก็จะมีคิวนัดออกมาว่า ไปพบหมอได้ที่ห้องไหน เวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็จะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งแต่เช้า หรือต้องไปนั่งรอเบียดเสียดกับผู้คนอีกต่อไป นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีเหมาะสำหรับยุคสมัยจริง ๆ หากตรวจเสร็จแล้วก็อาจจะไปสแกน QR Code เพื่อจ่ายเงิน และรับยาจากตู้จ่ายยาอัตโนมัติ ก็เป็นเรื่องไม่ไกลเกินฝัน ขอบคุณภาพประกอบจาก mohamed hassan / pxhere การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้น ไม่ใช่แค่การรักษา นัดหมาย เพื่อความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว แต่ในด้านวงการแพทย์ก็จะเป็นการเก็บข้อมูลทางการแพทย์ไว้ได้อย่างเต็มรูปแบบ สามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน เพื่อค้นคว้าวินิจฉัย เพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ได้อีกต่อไปด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในวงการแพทย์ ก็เพื่อหวังประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้บ้าง ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อรองรับอนาคตที่มีสุขภาพดีร่วมกันนั่นเอง ขอบคุณภาพประกอบจาก mohamed hassan / pxhere turey2018 / pxhere