หากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ การทอดผ้าป่า แต่ครั้งโบราณ ผู้เขียนคงไม่สามารถรู้แน่ชัดได้ต้องขอออกตัวไว้ก่อน แต่วันนี้ผู้เขียนจะขอแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ ขั้นตอนการทอดผ้าป่า และความรู้สึกต่างๆ ของการเป็นองค์ประธานดำเนินงานในการจัดทอดผ้าป่าสามัคคี ด้วยความบังเอิญแบบไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ ถือเป็นการทำบุญใหญ่ที่สุดครั้งแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ ณ วันที่ไปทอดอิ่มเอมใจสุด ๆ อย่างบอกไม่ถูก แต่พอวันเวลาล่วงเลยผ่านไปจนตอนนี้ 4 ปีกว่าแล้ว ไม่เคยได้กลับไปดู และยังไม่เห็นว่ากุฏิที่เราและคณะ จนถึงผู้ร่วมบุญทุกคน ทุกบาททุกสตางค์ที่ตั้งใจทำไป มีสภาพความไปอย่างไร หากวันนี้ได้กลับไปเปิดภาพเก่า ๆ ขึ้นมา ความอิ่มเอมเหล่านั้นยังอยู่ในความทรงจำครั้งเก่า ที่ยังสามารถเล่ารายละเอียดทุกตอนได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้เขียนสามารถดำเนินการจนสำเร็จได้อย่างไร มาดูขั้นตอนการทอดผ้าป่ากันค่ะ ขั้นตอนการทอดผ้าป่า 1. ติดต่อทางวัด กำหนดวันทอด รายละเอียดทั้งหมดของทางวัด ว่าเราจะทำบุญอะไร เราต้องเตรียมอะไร อาจเสนอกับทางวัดหรือสอบถามทางวัดให้ดี 2. การจัดหารายชื่อ องค์ประธาน รองประธาน และกรรมการตามสายต่าง ๆ เน้นว่าหากเพื่อจะช่วยกระจายการทำงานของเรา ควรจะจัดเป็นประธานสายต่าง ๆ เพื่อจะได้ทราบยอดประมาณการได้ เพื่อเตรียมการจัดทำซองผ้าป่า 3. หลังจากได้รายชื่อมาทั้งหมดแล้ว ให้นำไปจัดพิมพ์เรียกว่าใบฏีกาทอดผ้าป่า อาจจะพิมพ์เอง หรือติดต่อร้านก็ได้นะคะ แต่หลังจากพิมพ์เสร็จแล้วต้องประทับด้วยตรายางวัด สำคัญมาก ๆ เพราะจะป้องกันการนำไปหลอกลวงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี 4. พยายามประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ของผู้เขียนได้บุญจากทางซองผ้าป่า ตั้งถังผ้าป่าไว้ตามร้านต่างที่รู้จัก เปิดบัญชีใหม่เพื่อร่วมสมทบทุน อีกทั้งช่องทางออนไลน์บอกบุญผ่านเพื่อนและบุคคลที่รู้จัก 5. เงินทุกบาททุกสตางค์ จะทำด้วยความโปร่งใส จัดทำบัญชีจดรายการทั้งหมด 6. ก่อนเดินทางทอดในวันจริง ทำความเข้าใจกับคณะทอดผ้าป่าจะเดินทางอย่างไร จัดเตรียมประสานงานเกี่ยวกับรถของคณะทอดผ้าป่า ติดต่อทางวัดหากต้องมีพิธีการจัดเลี้ยงต้อนรับหรืออาจไม่มีก็ได้ ทางผู้เขียนต้องการความเรียบง่ายและลดปัญหาค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด 7. เมื่อถึงวันทอด บางครั้งหากพิธีใหญ่ที่ทอด รายได้สร้างสิ่งก่อสร้างราคาสูง หรือเป็นการร่วมบุญหนัก ๆ อาจมีชาวบ้านในระแวกนั้นเลี้ยงอาหารต้อนรับ หรือจะตัดส่วนนี้ออกได้ แต่หลังจากทำพิธีสวดทอดถวาย เราจะต้องเลี้ยงพระมื้อเพลก่อนเที่ยง ขึ้นอยู่กับเราจะเตรียมเอง หรือให้ชาวบ้านระแวกนั้นจัดเตรียม8. เมื่อสรุปยอดเรียบร้อยแล้ว บางท่านที่ร่วมบุญอาจจะมีการขอใบอนุโมทนาบัตร เพื่อนำไปใช้สำหรับลดหย่อนภาษี ให้เขียนจากทางวัดได้เลย หรือนำกลับมาเขียนหลังจากงานได้ แต่เน้นย้ำว่าต้องมีตราประทับจากทางวัด จากที่ผู้เขียนแชร์ขั้นตอนของการทอดผ้าป่า ที่วัดทุ่งเจริญ อ.วัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว หวังว่าเนื้อหาในบทความครั้งนี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เพราะส่วนใหญ่คนมักจะเข้าใจว่าการทอดผ้าป่ามักจะต้องเน้นจำนวนเงินทำบุญแบบสูง แต่ทางผู้เขียนเลือกทำบุญทอดผ้าป่ากุฏิวัด ซึ่งเป็นความจำเป็นของทางวัดพอดี ยอดรวมทั้งหมดที่ได้ คือ 93,135 บาท เป็นจำนวนเงินหลักหมื่น ผู้เขียนจึงคาดว่าทำได้ สุดท้ายทุกอย่างสำเร็จไปได้ด้วยดี สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีการทำบุญแบบทอดผ้าป่า คงได้แนวทางกันแล้วนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ ภาพประกอบทั้งหมด ::: ถ่ายโดยผู้เขียน