รีเซต

กมธ.สรุปผล ตร.สลายผู้ชุมนุม ตามกฎหมาย แนะเพิ่ม 3 ข้อ ตร.ควรทำ ก่อนเกิดความรุนแรง

กมธ.สรุปผล ตร.สลายผู้ชุมนุม ตามกฎหมาย แนะเพิ่ม 3 ข้อ ตร.ควรทำ ก่อนเกิดความรุนแรง
มติชน
12 พฤศจิกายน 2563 ( 14:31 )
66
กมธ.สรุปผล ตร.สลายผู้ชุมนุม ตามกฎหมาย แนะเพิ่ม 3 ข้อ ตร.ควรทำ ก่อนเกิดความรุนแรง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกมธ. เป็นประธานในการประชุม โดยได้เชิญ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รองผู้บัญชากาตำรวจนครบาล และพล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เข้าร่วมชี้แจงในกมธ.

 

จากนั้นเวลา 13.40 น. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ โฆษกกมธ.การตำรวจ แถลงข่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และสามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฎิบัติภายใต้กฎหมายที่บัญญัติ โดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ มีการบังคับใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งเป็นไปตามสากล การดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบทุกครั้ง เริ่มจากการแจ้งเตือนว่าการชุมนุมผิดกฎหมาย และขอความร่วมมือให้เลิกการชุมนุม หากไม่ได้รับความร่วมมือและผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์ที่จะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่จัดเตรียมมา ในการควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ในการปฎิบัติแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามที่ประชุมกมธ. ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการควบคุมการชุมนุม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาคิ คือ 1.กรณีที่ผู้ชุมนุมและบุคคลที่มีความเห็นต่างกับผู้ชุมนุม เข้าไปอยู่กลุ่มชุมนุม ทางตำรวจควรมีแนวทางในการระงับเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์มีการใช้ความรุนแรง 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีการสาธิต หรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับขั้นตอนในการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ประชาชนได้รับทราบ และ 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมต่อผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

ด้าน นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการตำรวจคนที่2 กล่าวว่า กมธ.ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงขั้นตอนต่างๆในการควบคุมการชุมนุมว่าเป็นไปตามขั้นตอนหลักสากล โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ผสมน้ำฉีดใช้ผู้ชุมนุมคือ สารเมทิลไวโอเลตทูบี ไม่มีอันตราย เพราะใช้อย่างเจือจางเพียงแค่ 3% เพื่อให้ระบุตัวตนว่า เป็นผู้มาร่วมการชุมนุม แต่เมื่อไม่สามารถหยุดผู้ชุมนุมได้ จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นน้ำผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งใช้ในปริมาณเจือจาง 3% เช่นกัน เป็นไปตามมาตรการควบคุมการชุมนุมของยูเอ็น อย่างไรก็ตามกมธ.ให้ข้อสังเกตตำรวจไปว่า ถึงแม้จะสารเคมีที่ใช้จะเป็นปริมาณเจือจาง แต่อยากให้คำนึงถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี เพราะถ้าเกิดเข้าปากอาจสร้างผลกระทบได้ ส่วนสาเหตุที่ต้องฉีดน้ำใช้สลายการชุมนุมนั้น ได้รับคำชี้แจงจากตำรวจว่า เหตุการณ์ที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 เนื่องจากเริ่มมีความรุนแรงที่ส่อไปในทางควบคุมไม่ได้ เริ่มมีการปะทะระหว่างการ์ดกับเจ้าหน้าที่ จึงเริ่มมีการใช้น้ำฉีดสกัด แต่เมื่อไม่ได้ผลจึงเพิ่มระดับมากขึ้น ส่วนเหตุการณ์ที่สนามหลวง เพราะผู้ชุมนุมเริ่มตัดรั้วลวดหนาม ขยับการชุมนุมเข้าไปใกล้พื้นที่ควบคุม ถ้าปล่อยให้เข้าไปอาจจะควบคุมไม่ได้ จึงฉีดน้ำสกัด เป็นการฉีดในวิถีโค้ง เมื่อฉีดไปแล้ว ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้รุกคืบเข้าไป ยืนยันว่า ถ้าไม่มีการลุกลามข้อกฎหมายชัดเจนก็ไม่มีการฉีดน้ำสลายชุมนุม

 

 

**รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)**

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง