รีเซต

คลังว่าไง? ข้อเสนอ "เทหมดหน้าตัก" 2.4 แสนล้าน ช่วยวิกฤตคนจนสู้โควิดรอบ 3

คลังว่าไง? ข้อเสนอ "เทหมดหน้าตัก" 2.4 แสนล้าน ช่วยวิกฤตคนจนสู้โควิดรอบ 3
มติชน
14 เมษายน 2564 ( 08:04 )
62
คลังว่าไง? ข้อเสนอ "เทหมดหน้าตัก" 2.4 แสนล้าน ช่วยวิกฤตคนจนสู้โควิดรอบ 3

วันที่ 14 เมษายน แม้จะยังเป็นวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในงานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวการคลัง คงต้องเร่งหามาตรการแก้โจทย์จากพิษการระบาดโควิดรอบใหม่ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงมีข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมให้ออกมาโดยเร็วหลังพ้นวันหยุดยาวสงกรานต์ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำโดยด่วนคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 เพราะขณะนี้กิจกรรมการทางเศรษฐกิจถูกกระทบ ประชาชนไม่กล้าเดินทาง นักท่องเที่ยวมีปัญหา กิจกรรมทุกอย่างชะงัก แม้รัฐบาลไม่ห้าม แต่ประชาชนไม่อยากออกไปไหน เพราะกลัวโควิด จะเห็นว่าการแพร่ระบาดใกล้ตัวมากขึ้น จากครั้งแรกมาจากนักท่องเที่ยว ต่อมาคือแรงงานต่างด้าว แต่ครั้งนี้คือแพร่ระบาดไปหมด ประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบ กลุ่มผู้บริหารองค์กรต่างๆ กักตัว บางรายติดโควิด เป็นความเสี่ยง แม้ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่สถานการณ์หนักเหมือนล็อกดาวน์ และน่าจะหนักกว่าโควิดรอบ2

 

นายบุรินทร์กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาจต้องออกมาตรการคล้ายโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ช่วยเหลือตอนโควิดรอบแรก หรือโครงการเราชนะที่ช่วยเหลือตอนโควิดรอบสอง สรุปคือน่าจะต้องแจกเงินอีกรอบ เพราะเป็นความผิดของรัฐบาลที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการเยียวยาออกมา และวิกฤตนี้เป็นวิกฤตคนจน ไม่ใช่วิกฤตคนรวย ผู้ที่ทำงานราชการ หรือเอกชน ไม่รู้สึกอะไร แต่กลุ่มที่มีอาชีพขายของ อาชีพบริการต่างๆ กลุ่มนี้จะขาดรายได้ทันที ได้รับผลกระทบหนัก หากไทยเปิดประเทศไม่ได้ แต่ถ้ากิจกรรมภายในประเทศยังเดินไปได้ ก็คงไม่เป็นไร แต่เมื่อมีโควิดระลอก 3 เท่ากับว่าเศรษฐกิจนอกประเทศพึ่งไม่ได้ เศรษฐกิจในประเทศทรุดอีก สถานการณ์คราวนี้จึงหนัก

 

“สำหรับวงเงินกู้ของรัฐบาลจากพ.ร.ก.กู้เงิน ที่ยังเหลืออยู่กว่า 2.4 แสนล้านบาทนั้น ยังเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์โควิดระลอก 3 เพราะประเทศไทยยังมีหนี้สาธารณะน้อย อยู่ระดับ 54% จึงสามารถกู้ได้อีกมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ ไทยกู้เงินมา 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้เหลือกว่า 2.4 แสนล้านบาท ควรใช้ให้หมด ควรอัดฉีดเงินในระบบเลย เป็นช่วงที่ต้องเทให้หมดหน้าตัก ไม่ควรกล้าๆ กลัวๆ ควรรีบใช้เงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจรอดในเวลานี้ เพราะไม่มีทางพึ่งอื่นแล้ว”นายบุรินทร์กล่าว

 

ด้านน.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ระลอกใหม่ สิ่งที่รัฐต้องทำอันดับแรกคือ การจัดการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ส่วนมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจตอนนี้ยังคงดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการเราชนะ และ ม.33เรารักกัน ยังไม่หมดอายุมาตรการ อีกทั้งยังมีเงินกู้ที่เหลือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท คาดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

 

น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ร้านอาหารโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ที่คนไม่นิยมสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ทำให้รายได้ลดลงกว่า 50% รวมทั้งเริ่มเห็นพฤติกรรมประชาชนซื้อตุนสินค้าอาหาร และเลือกที่จะกักตัวเองอยู่บ้าน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่วนมาตรการแจกเงินเยียวยานั้น อยากให้ทำในรูปแบบโครงการคนละครึ่งมากกกว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง