รีเซต

สื่อยักษ์ ซีเอ็นเอ็น ไล่ออก 3 พนง. ผิดกฎองค์กร เข้าออฟฟิศทั้งๆ ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

สื่อยักษ์ ซีเอ็นเอ็น ไล่ออก 3 พนง. ผิดกฎองค์กร เข้าออฟฟิศทั้งๆ ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
มติชน
6 สิงหาคม 2564 ( 15:55 )
47
สื่อยักษ์ ซีเอ็นเอ็น ไล่ออก 3 พนง. ผิดกฎองค์กร เข้าออฟฟิศทั้งๆ ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ซีเอ็นเอ็น สื่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยการไล่ออกพนักงาน 3 คน ที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการละเมิดนโยบายขององค์กรที่มีมาตรการเข้มงวดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

 

บันทึกภายในที่มีการส่งอีเมลถึงพนักงานภายในองค์กรของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันพฤหัสบดี(5 ส.ค.) ซึ่งสื่อสหรัฐหลายสำนักได้รับมาด้วยเผยให้เห็นว่า นายเจฟฟ์ ซัคเกอร์ ประธานซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทได้รับทราบว่าพนักงาน 3 ราย มาทำงานโดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน การทำงานของทั้งสามคนนี้ถือเป็นอันสิ้นสุด พร้อมกับย้ำว่าบริษัทมีนโยบายที่จะไม่อ่อนข้อต่อสิ่งนี้

 

 

บันทึกภายในดังกล่าวไม่ได้มีการระบุชื่อ ตำแหน่ง หรือ สำนักงาน ที่พนักงานซีเอ็นเอ็นทั้ง 3 คนทำงานอยู่

 

 

ขณะที่ซีเอ็นเอ็นใช้ระบบการให้เกียรติที่กำหนดให้พนักงานฉีดวัคซีน แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานยืนยัน อย่างไรก็ตามนายซัคเกอร์กล่าวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎนี้ในภายภาคหน้า และว่า การฉีดวัคซีนเป็นข้อบังคับสำหรับผู้รายงานข่าวภาคสนาม การทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ หรือการเข้ามาในอาคารสำนักงาน นอกจากนี้บริษัทจะเลื่อนกำหนดวันกลับมาทำงานที่สำนักงานทั่วประเทศที่เดิมจะเริ่มวันที่ 7 กันยายนนี้ ให้เลื่อนออกไปที่อาจจะเป็นถึงเดือนตุลาคม

 

 

ก่อนหน้านี้เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลกลางสหรัฐชี้ว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับนายจ้างในการกำหนดข้อบังคับให้พนักงานที่เข้ามาในสถานที่ทำงานจะต้องทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก, กูเกิล, และ ไมโครซอฟต์ ต่างระบุว่าทางบริษัทมีนโยบายให้พนักงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงาน

 

 

โดยเป็นหนึ่งในบริษัทนายจ้างชั้นนำในสหรัฐที่ต่างพากันทบทวนนโยบายเกี่ยวกับโรคโควิด-19 , ข้อกำหนดฉีดวัคซีน และ การกลับเข้าทำงานในอาคารสำนักงาน ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงน่าห่วงกังวลจากการที่เชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า ได้กระตุ้นให้สหรัฐกลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง