รีเซต

ชาวสวนยางเดือดร้อนหนัก เจอโรคระบาด กรีดไม่ได้ แม้ราคาขึ้น

ชาวสวนยางเดือดร้อนหนัก เจอโรคระบาด กรีดไม่ได้ แม้ราคาขึ้น
มติชน
29 ตุลาคม 2563 ( 14:49 )
130
ชาวสวนยางเดือดร้อนหนัก เจอโรคระบาด กรีดไม่ได้ แม้ราคาขึ้น

ชาวสวนยางนาทวีเดือดร้อนหนัก เจอโรคระบาด ใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทำใบยางร่วง น้ำยางหด เสี่ยงที่จะยืนต้นตาย เสียโอกาสในการกรีดยางทำรายได้ในช่วงนี้

 

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมนี้ว่า สภาพสวนยางพาราในพื้นที่หมู่ 5 บ้านพรุเตียว ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ที่มีใบร่วงโกร๋น จนเกือบหมดต้น สภาพใบร่วงนั้นยังดป็นใบสีเขียว แต่ละใบมีจุดคล้ายรอยไหม้ ซึ่งเป็นลักษณะของโรคระบาดในต้นยางพารา ที่กำลังระบาดอย่างหนักในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยโรคนี้นั้นถูกเรียกว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งจะทำให้ใบร่วง ต้นยางพาราไม่สามารถสังเคราะห์แสง ทำให้มีน้ำยางลดน้อยลงไป โดยโรคจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามา แพร่ระบาดได้ดีในช่วงที่มีฝนตก โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาวิธีในการดูแลรักษาได้ โดยในขณะนี้พบว่าในพื้นที่อำเภอนาทวีนั้น มีโรคระบาดชนิดนี้กับสวนยางพาราแล้วกว่า 3 พันไร่ จากพื้นที่ปลูกยางกว่า 3 แสนไร่

 

นายสมพงษ์ ราชสุวรรณ ชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบบอกว่าสวนยางของตนเองนั้นพบว่าเป็นโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทำให้รอบการกรีดเท่าเดิม แต่ก็มีปริมาณน้ำยางลดน้อยลงไปกว่าร้อยละ 30 และจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่องๆ จนกระทั่งต้นยางแห้งตายหรือยืนต้นตาย ไม่สามารถให้น้ำยางต่อไปได้ ที่สำคัญโรคนี้ไม่มีวิธีการรักษา ซึ่งพบระบาดเกือบทั้งภาคใต้แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานเกษตรในแต่ละอำเภอต่างเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือ แต่ก็คงไม่ทันการณ์ เพราะในช่วงนี้ราคายางพารากำลังปรับพุ่งสูงขึ้นทุกวัน และในทางกลับกันผลผลิตของน้ำยางลดน้อยลง ทำให้รายได้ต้องสูญหายไปไม่น้อย

 

ในวันนี้ราคาน้ำยางสดที่กลุ่มจำหน่ายน้ำยางสดในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-75 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรส่วนหนึ่งยิ้มได้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จากปัญหาโรคระบาดในสวนยางพารา จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา

 

นางชนันญชิดา หนูสีคง เกษตรอำเภอนาทวี กล่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทยสาขานาทวี สำนักงานเกษตรอำเภอนาทวี เตรียมลงพื้นที่เพื่อเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะใช้แนวทางทั้งการบินโดรนฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดโรค ในส่วนของเกษตรอำเภอ ก็จะทำการฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราแบบชีวภัณฑ์ ภาคพื้นดิน พร้อมกับการใส่ปุ๋ยหลักและธาตุอาหารรองให้ครบถ้วน เพื่อบำรุงและกำจัดโรคในคราวเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติโดยหาแปลงยางเพื่อสาธิตและทดลองแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง