ภาพประกอบปกบทความจาก freepikถ้าพูดถึงสารประเภทเจล (Gel) น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะว่าเจลนั้นถือเป็นหนึ่งในรูปแบบเวชสำอางที่มีใช้กันโดยทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์ทาผิว ผลิตภัณฑ์แต่งผม เจลล้างมือแอลกอฮอล์ เจลทาถูนวดแก้ปวด เจลว่านหางจระเข้ เป็นต้น ลักษณะของเจลก็จะเป็นสารกึ่งแข็งกึ่งเหลว มีความหนืดแต่ก็สามารถไหลได้ และมีลักษณะโปร่งใส เมื่อใช้แล้วก็จะรู้สึกถึงสัมผัสที่เย็นสบายไม่เหนียวเหนอะหนะ อีกทั้งยังซึมเข้าสู่ผิวได้ง่ายกว่าสารที่อยู่ในรูปแบบครีม ภาพจาก freepikและอย่างที่เราทราบกันดีว่าเจลนั้นจะมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำรวมอยู่ด้วย แต่การที่น้ำจะเปลี่ยนเป็นเจลได้นั้นจะต้องอาศัยสารก่อเจลในการเปลี่ยนน้ำที่มีลักษณะเป็นของเหลวใสให้กลายเป็นของเหลวที่มีความหนืดเพิ่มขึ้น สารก่อเจลที่มีใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้นมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่สารก่อเจลที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันมากที่สุดก็คือ คาโบพอล (Carbopol) ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการทำให้เกิดเจลในสูตรเตรียมแอลกอฮอล์เจลนั่นเองและจากในคลิปวิดิโอสาธิตวิธีการเตรียมแอลกอฮอล์เจลที่หลาย ๆ คนกำลังให้ความสนใจนั้น จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนแรกของการเตรียมแอลกอฮอล์เจล จะมีการกล่าวถึงสารก่อเจลที่ชื่อว่าคาโบพอล ซึ่งมีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาวเหมือนกับผงแป้ง แต่คาโบพอลนั้นไม่ใช่แป้ง และความน่าอัศจรรย์ของคาโบพอลก็จะปรากฏให้เห็นเมื่อเราค่อย ๆ โปรยมันลงไปในน้ำแล้วคนไปเรื่อย ๆ และเติมสารอีกตัวลงไปช่วย จากน้ำเหลวใสก็จะเริ่มกลายเป็นน้ำที่มีความข้นหนืดขึ้นมาทีละน้อยภาพจาก freepikคาโบพอล คืออะไร ?คาโบพอลเป็นหนึ่งในสารก่อเจลที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องสำอาง ตัวมันจะเป็นโพลิเมอร์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากสารเคมีคือ Polyacrylic acid resin และ Polyalkylsucrose ซึ่งภายในโครงสร้างจะมีหมู่ที่เป็นกรด Carboxylic acid อยู่ จึงทำให้มันมีความชอบที่จะจับกับน้ำมาก ๆ ทำให้เมื่อเราเติมน้ำเข้าไป ตัวโครงสร้างของคาโบพอลจึงสามารถจับกับโมเลกุลของน้ำได้การเปลี่ยนคาโบพอลให้กลายเป็นเจลแต่การเติมคาโบพอลลงในน้ำเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดเจลขึ้นได้ เนื่องจากตัวคาโบพอลเองนั้นมีความเป็นกรดอยู่ และมี pH ประมาณ 3 ซึ่งในสภาวะที่เป็นกรดนี้จะทำให้โครงสร้างเส้นใยของคาโบพอลยังไม่มีการเรียงตัวในรูปแบบที่เป็นโครงสร้างของเจล ดังนั้นเราจึงต้องใส่สารเพื่อช่วยเพิ่มความเป็นด่างในกลุ่ม Metal Hydroxides หรือ Amines ลงไปด้วยหลังจากเติมด่างลงไปก็จะเกิดกลไกการผลักประจุกันในโครงสร้างคาโบพอล ทำให้เราได้เจลใสออกมาในที่สุด ซึ่ง pH ที่เหมาะสมที่สุดในการเกิดเจลก็คือ pH 7 หรือ pH ที่เป็นกลาง เพราะจะทำให้เจลที่ได้มีความคงตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับ pH อื่น ๆ และการเติมด่างลงไปมากเกินไปนั้นก็อาจทำให้เจลที่ได้มีความหนืดลดลงได้ภาพจาก freepikทำอย่างไรไม่ให้เจลคาโบพอลจับตัวเป็นก้อนการจะทำเจลจากสารก่อเจลอย่างคาโบพอลให้ออกมาเป็นเจลที่สมบูรณ์แบบได้ เราจะต้องรู้จักเทคนิคง่าย ๆ ที่เรียกว่าการโปรย เพราะการโปรยผงคาโบพอลลงน้ำไปพร้อมกับคนไปเรื่อย ๆ จะทำให้โมโลกุลของน้ำมีโอกาสเข้ามาจับกับโครงสร้างโพลิเมอร์ของคาโบพอลได้มากกว่า แต่หากเราเทคาโบพอลลงไปผสมกับน้ำพรวดเดียวแล้วคนเอาทีหลังก็มีโอกาสที่โมเลกุลของน้ำจะไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในปมขมวดของคาโบพอลได้ จึงทำให้เราเห็นเจลที่มีลักษณะเป็นก้อนขาวขุ่นดูไม่สวยงามภาพจาก freepikและตอนนี้เราก็ได้รู้จักกับสารก่อเจลอย่างคาโบพอลกันไปคร่าว ๆ แล้ว หากใครอยากจะทดลองใช้คาโบพอลในการทำเจลล้างมือแอลกอฮอล์ด้วยตัวเอง ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความที่มีชื่อว่า เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งดี จริงหรือ !? พร้อมวิธีการทำแอลกอฮอล์เจลใช้เอง กันได้ ซึ่งในบทความที่กล่าวถึงนี้จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์เจลพร้อมกับวิธีการเตรียมแอลกอฮอล์เจลอย่างถูกต้องค่ะ