รีเซต

ญี่ปุ่นปล่อยจรวดเอช3 รุ่นใหม่สำเร็จ หลังครั้งแรกล้มเหลวเกือบครบปี

ญี่ปุ่นปล่อยจรวดเอช3 รุ่นใหม่สำเร็จ หลังครั้งแรกล้มเหลวเกือบครบปี
Xinhua
17 กุมภาพันธ์ 2567 ( 13:38 )
25
ญี่ปุ่นปล่อยจรวดเอช3 รุ่นใหม่สำเร็จ หลังครั้งแรกล้มเหลวเกือบครบปี

(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดเอช3 สำหรับการบินทดสอบหมายเลข 2 ทะยานขึ้นจากศูนย์อวกาศทาเนะงาชิมะบนเกาะทาเนะงาชิมะในจังหวัดคาโงชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น วันที่ 17 ก.พ. 2024)

โตเกียว, 17 ก.พ. (ซินหัว) -- องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นรายงานการปล่อยจรวดเอช3 (H3) ในวันเสาร์ (17 ก.พ.) หลังจากการปล่อยครั้งแรกเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อนประสบความล้มเหลว

รายงานระบุว่าจรวดเอช3 สำหรับการบินทดสอบหมายเลข 2 ถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศทาเนะงาชิมะบนเกาะทาเนะงาชิมะในจังหวัดคาโงชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ตอนราว 09.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวของการปล่อยครั้งแรกในปี 2023 ทำให้องค์การฯ ปรับเปลี่ยนแผนขนส่งดาวเทียมสำหรับตรวจสอบการทำงานจากของจริงเป็นของจำลองแทน และมีการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็ก (microsatellite) สองดวงด้วย

องค์การฯ ยืนยันการติดเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 และการแยกตัวของหนึ่งในสองดาวเทียมขนาดเล็กหลังจากปล่อยจรวดได้ไม่นาน ซึ่งเป็นหมุดหมายว่างานหลักของการปล่อยจรวดครั้งนี้สำเร็จลุล่วง

จรวดเอช3 แบบบรรทุกหนักรุ่นใหม่พัฒนาต่อจากจรวดเอช2เอ (H2A) รุ่นหลักในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะถูกเลิกใช้ภายในปีงบประมาณหน้าที่เริ่มต้นเดือนเมษายนนี้

สำหรับการปล่อยจรวดเอช3 ในวันเสาร์ (17 ก.พ.) ถือเป็นความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่ต้องการยืนยันสมรรถนะของจรวดในการควบคุมการวางตำแหน่งและการใช้งานดาวเทียมต่างๆ

สื่อท้องถิ่นรายงานว่านอกจากขนส่งดาวเทียมแล้ว จรวดเอช3 สามารถขนส่งสัมภาระและวัสดุสู่สถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงเกตเวย์ (Gateway) สถานีอวกาศขนาดเล็กในวงโคจรของดวงจันทร์ตามแผนของโครงการอวกาศอาร์ทีมิส (Artemis) ที่นำโดยสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เดิมทีญี่ปุ่นกำหนดปล่อยจรวดเอช3 เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.พ.) แต่ต้องเลื่อนออกมาเพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ ส่วนการปล่อยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2023 ประสบความล้มเหลวเพราะเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 ไม่ติด ทำให้เกิดการทำลายตัวเองหลังปล่อยไม่กี่นาที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง