ปิดฉากอลวน คืนทีวีดิจิทัล ชัยชนะ‘เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล’ บทเรียน‘กสทช.’

จบลงไปแล้ว สำหรับมหากาพย์การต่อสู้ของ บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดย พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหารบริษัท กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเจ๊ติ๋มฟ้อง กสทช.ผ่านทางศาลปกครอง ว่าด้วยเรื่องของการคืนใบอนุญาตการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล
ย้อนอดีตไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินว่า ในการดำเนินการของ กสทช.ไม่เป็นไปตามสัญญา โดยศาลชี้ว่า กสทช.ผิดสัญญาในเรื่องการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ตั้งแต่การแจกกล่องทีวีดิจิทัล ไปจนถึงโครงข่ายสัญญาณที่ยังไม่พร้อมให้บริการ บริษัทจึงมีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาได้
เชื่อมโยงไปถึงการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 ตามมาตรา 44 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ประสบปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจ จนไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ จึงอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ต้องการจะทำธุรกิจต่อไป คืนใบอนุญาตได้
จนล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาออกมา
ประเด็นนี้ สมบัติ ลีลาพตะ นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ กสทช. ให้ความเห็นว่า ข้อสรุปของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คือ 1.ศาลสั่งให้ กสทช.คืนเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 1 ให้กับบริษัทฯ บริษัทฯได้รับประโยชน์การใช้งานตามใบอนุญาตที่ประมูล จำนวน 15 ปี ทางบริษัทฯได้มีการชำระเงิน
งวดที่ 1 จำนวน 365.51 ล้านบาท แต่บริษัทฯได้มีการออกอากาศไปเพียง 1 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นการชำระเงินเกินกว่าที่ระยะเวลาออกอากาศไป ศาลจึงสั่งให้คืนเงิน จำนวน 151.73 ล้านบาท
2.ให้ทางสำนักงาน กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 จำนวน 1,750 ล้านบาท ถ้าคืนเป็นหนังสือค้ำประกันไม่ได้ ก็ให้คืนเป็นเงินสด ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.ได้บังคับเอาเงินสดจากธนาคารฯในฐานะผู้ค้ำประกัน เพื่อชำระเงินค่าประมูลในงวด 2 และ 3 เป็นจำนวน 672.81 ล้านบาท ส่วนหนังสือค้ำประกันที่เหลือสามารถส่งคืนได้ อย่างไรก็ตาม เงินสดบังคับเอาจากธนาคารฯนั้น ถูกนำจ่ายไปยังกระทรวงการคลังเข้าเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว
ส่วนกระบวนการคืนเงินจะดำเนินการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทางสำนักงาน กสทช.ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ไปแล้วบางส่วน เมื่อทางสำนักงาน กสทช.หาเงินมาคืนได้แล้ว ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.ให้มีการอนุมัติเงินคืนต่อไป ซึ่งการหาเงินมาคืน จะแบ่งได้ 2 กรณี คือ
1.เงินประมูลในงวดที่ 1 จำนวน 151.73 ล้านบาท ตามกฎหมายในขณะนั้น ต้องนำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือ USO ทำให้ต้องนำเงินคืนจากกองทุน กทปส.
2.เงินประมูลในงวดที่ 2 และ 3 จำนวน 672.81 ล้านบาทที่ได้นำส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงฯได้ส่งเงินคืนจำนวนนี้มาให้ทางสำนักงาน กสทช. เพื่อที่จะดำเนินการคืนกับธนาคารฯต่อไป
ส่วนในอนาคตทาง กสทช.จะมีแผนรับมือต่อไปอย่างไรนั้น ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ระบุว่า การที่ กสทช.ผิดสัญญาทางปกครอง เพราะการประมูลคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ผู้ประมูลจะต้องเช่าโครงข่าย จากผู้ให้บริการโครงข่ายในระบบดิจิทัล (MUX) แต่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ สร้างโครงข่ายไม่ทันตามกำหนด ที่จะต้องครอบคลุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ ภายในกี่ปี ซึ่งมีความต่างกับการประมูลคลื่นโทรคมนาคม ที่ผู้ประมูลต้องมีการลงทุนสร้างโครงข่ายเอง
ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีกรณีการผิดสัญญาทางปกครองได้อีก ยกตัวอย่างเช่น การประมูลวงโคจรดาวเทียมล่วงหน้า ก่อนที่ดาวเทียมไทยคมจะหมดสัมปทาน ต้องมาคาดการณ์ว่าวงโคจรบางชุดจะเลิกใช้เมื่อไหร่ กรณีที่หมดสัญญาสัมปทาน มีการระบุวันที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่บางวงโคจรอย่างดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุวิศวกรรมเหลืออยู่ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะนำไปให้บริการต่อในอีก 2-3 ปี ถ้ามีการประมูลวงโคจร จะเริ่มให้ใบอนุญาตหลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุ แล้วถ้าบังเอิญไม่หมดอายุ จะมีผลกระทบต่อวันเปิดให้บริการกับผู้ที่ได้รับการประมูลใหม่ไป ซึ่งจะผิดสัญญาทางปกครองได้อีก
โดยภายในสิ้นปีนี้จะมีการประมูลวงโคจรดาวเทียมแล้ว ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการระบุว่าได้ใบอนุญาตวันที่เท่าไหร่และให้ไปชำระเงินค่าประมูลก่อน 30-60 วัน ก่อนจะได้รับใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมไทยคม 4 จะมีการยืดอายุการใช้งานด้วย แต่ว่าผู้ที่ชนะการประมูลวงโคจรดาวเทียมจะได้รับสิทธิใช้ประโยชน์ด้วยการยืดระยะเวลาใบอนุญาตออกไป จนกว่าดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุการใช้งาน
ดังนั้น การเขียนสัญญาหลังจากนี้ จะเขียนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ให้ทางผู้ที่ได้รับการประมูลเสียสิทธิ อย่างการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ผ่านมาได้มีการระบุไว้ว่าจะเริ่มให้ใบอนุญาตได้ เมื่อมีการย้ายช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้คลื่นย่านนี้ไปไว้คลื่นย่านอื่นก่อน เพิ่งย้ายเสร็จไปเมื่อ 15 มกราคม 2564 แต่มีการระบุเวลาชัดเจนในสัญญา ว่าจะเริ่มใช้คลื่นได้หลังจากที่ปรับคลื่นทีวีดิจิทัลแล้วเสร็จ ถ้าไม่แล้วเสร็จก็จะมีการออกประกาศขยับเวลาออกไป แต่ว่าเงื่อนไขสำคัญเลยคือ ถ้าผู้ได้รับประมูลยังไม่ได้เริ่มใช้คลื่นความถี่ ก็ยังไม่ต้องชำระเงินให้กับทางสำนักงาน กสทช. ไม่เหมือนกับกรณีประมูลทีวีดิจิทัลที่เมื่อประมูลเสร็จแล้ว ต้องชำระเงินการประมูลโดยทันที โดยที่ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ยังสร้างโครงข่ายไม่ทั่วถึง
เนื้อหาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีบางส่วนที่อ้างอิงกับคำสั่ง ม.44 ที่ให้ทีวีดิจิทัลคืนช่องได้ และได้เงินคืนซึ่งเป็นการอ้างกฎหมายที่เป็นคุณกับช่องของเจ๊ติ๋ม แต่ในอนาคตไม่ได้มี ม.44 แล้ว ก็ไม่ได้ยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นแบบเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าไม่มีคำสั่ง ม.44 ฉบับนี้ ศาลปกครองสูงสุดอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ แต่เนื่องจากมี ม.44 ที่ได้ให้ประโยชน์รายอื่นไปแล้ว แล้วถ้าเจ๊ติ๋มไม่ได้ประโยชน์ด้วย ก็จะดูไม่เป็นธรรม
“แต่อาจจะเกิดกรณีซ้ำได้ในอนาคต หากมีการประมูลวิทยุดิจิทัล แล้วเกิดต้องเช่าโครงข่าย กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯอีก ต้องบอกให้ชัดว่าผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะเปิดบริการได้ตอนไหน มีพื้นที่ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ไม่ต้องรีบให้ชำระเงินค่าประมูล ในอนาคตก็จะมีการเขียนระยะเวลาการชำระเงิน ระยะเวลาการเปิดให้บริการ ที่สอดคล้องกับการขยายโครงข่ายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการผิดสัญญาทางปกครองได้อีก” ประวิทย์ทิ้งท้าย
ถือเป็นการปิดฉากความอลวนคืนทีวีดิจิทัล ที่เป็นบทเรียนสำคัญของ กสทช.!!