รีเซต

วิกฤตฮ่องกงกับความสับสนของการจัดระเบียบโลกใหม่

วิกฤตฮ่องกงกับความสับสนของการจัดระเบียบโลกใหม่
บีบีซี ไทย
4 กรกฎาคม 2563 ( 08:49 )
214
2

ทันทีที่จีนผ่านกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงฉบับใหม่ สหราชอาณาจักรก็ประกาศเปิดประตูต้อนรับพลเมืองฮ่องกง 3 ล้านคนเข้าทำงานและพำนัก

 

Reuters

 

นโยบายนี้เรียกเสียงตอบโต้จากมหาอำนาจแห่งเอเชียที่ประกาศจะตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการกระทำที่จีนมองว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ทำให้วิกฤตการณ์ในฮ่องกงกลายเป็นบททดสอบการทูตของโลกที่สำคัญ ในยุคที่นานาชาติกำลังทุ่มเทความสนใจไปกับการต่อสู้วิกฤตโรคระบาด

แล้วปัญหาในฮ่องกงบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการที่จีนกำลังผงาดขึ้นในลำดับชั้นของเหล่าชาติมหาอำนาจของโลก และจะส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศของสหราชอาณาจักรในยุคหลังเบร็กซิท

 

"ผู้มีส่วนได้เสียที่เล่นตามกติกา"

Getty Images
อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนในปี 1997 ภายใต้ข้อตกลงพิเศษที่ว่า รัฐบาลจีนจะปกครองฮ่องกงแบบ "หนึ่งประเทศสองระบบ"

ช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำชาติตะวันตกส่วนใหญ่หวังว่าการผงาดขึ้นสู่อำนาจของจีนจะเป็นไปแบบที่พวกเขาคาดหวัง คือ จีนจะเป็น "ผู้มีส่วนได้เสียที่เล่นตามกติกา" ในประชาคมโลก

 

หรือพูดอีกอย่างว่า จีนรับปากจะปฏิบัติตามข้อตกลงและมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งหากจีนยังคงยึดถือหลักการที่ว่านี้ ข้อตกลงเรื่องอนาคตของฮ่องกงที่อังกฤษทำกับจีนในการส่งคืนเกาะก็คงจะดำเนินต่อไป

 

ทว่าความจริงกลับไม่ได้ออกมาในรูปนั้น จีนแผ่ขยายอำนาจในเวทีโลกขึ้นอย่างรวดเร็วและมุ่งมั่น จนกลายเป็นมหาอำนาจด้านการทหารในเอเชีย ซึ่งแม้แต่ "พี่ใหญ่" อย่างสหรัฐฯ ยังอาจต่อกรด้วยได้ยาก

 

การผงาดขึ้นสู่อำนาจของจีน ยังเกิดขึ้นในช่วงที่โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังหันเหความสนใจไปที่ประเด็นอื่น ๆ เช่น สงครามปราบปรามการก่อการร้าย และวิกฤตการณ์ในซีเรีย ขณะที่ชาติในยุโรปต่างมุ่งจุดสนใจไปที่เรื่องเบร็กซิท

 

ความถดถอยของรัฐบาลสหรัฐฯ

Getty Images

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังแทบจะไม่ได้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับจีนที่คงเส้นคงวา อันที่จริงดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศเลย การผงาดของจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังเกิดขึ้นในช่วงที่สถานะของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเวทีโลกถดถอยลงอย่างมากจนทำให้กลไกความร่วมมือของสหรัฐฯ ในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลางเข้าสู่ขั้นวิกฤต ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด- 19 ซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน และทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ในช่วงแรก แต่ก็ชัดเจนว่าจีนได้พลิกให้วิกฤตครั้งนี้กลายเป็นโอกาสที่เกิดประโยชน์แก่ตน

 

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จีนฉวยโอกาสจากวิกฤตนี้ในการดำเนินนโยบายที่มีความชาตินิยมมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องความตึงเครียดกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย รวมทั้งความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่มีข้อพิพาทอยู่กับอินเดีย และล่าสุดการตัดสินใจที่เป็นการล้มเลิกข้อตกลงพื้นฐานที่จีนเคยทำไว้กับอังกฤษในเรื่องฮ่องกง

 

ความแน่วแน่ของจีนเรื่องฮ่องกง

Getty Images
นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมเสนอให้ชาวฮ่องกงมากถึง 3 ล้านคนขอย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหราชอาณาจักร และต่อไปก็จะสามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติได้

 

วิกฤตโควิด- 19 ยังทำให้จีนได้โอกาสเข้าไปจัดการกับวิกฤตทางการเมืองในฮ่องกง

ไม่ว่าโรคระบาดจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าใด แต่ผลลัพธ์หนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การที่จีนจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายอันแน่วแน่เกี่ยวกับฮ่องกง เว้นเสียแต่จะเกิดแรงกดดันที่จริงจังและรุนแรงจนเกินต้านทาน

 

นี่จึงทำให้รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ต้องตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ในขณะที่กำลังทุ่มเทกำลังไปกับการจัดการกับโรคระบาดในประเทศ รัฐบาลของนายจอห์นสันก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการจัดการเรื่องของฮ่องกง และนี่ถือเป็นบททดสอบใหญ่ครั้งแรกของ Global Britain นโยบายใหม่ด้านการต่างประเทศของอังกฤษ

 

ลมปาก กับ การกระทำ

Getty Images
อังกฤษกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ในโลกยุคหลังโควิดและหลังเบร็กซิท

แม้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินเรื่องความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว แต่ความขัดแย้งกับจีนในเรื่องฮ่องกงแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความอ่อนแอในจุดยืนด้านการทูตในปัจจุบันของสหราชอาณาจักร

 

ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในขณะที่อังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมกลับไม่มีอิทธิพลที่จะโน้มน้าวใจรัฐบาลจีนได้มากนัก

แล้วรัฐบาลของนายจอห์นสันจะสามารถทำอะไรได้บ้าง บรรดาผู้สันทัดกรณีคงจะยกความดีให้เขาที่เสนอจะเปิดประเทศให้ที่พักพิงแก่ชาวฮ่องกง 3 ล้านคน

 

นี่เป็นตัวเลขที่มาก และถือว่ามากเป็นพิเศษสำหรับพรรคการคอนเซอร์เวทีฟที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและมีข้อกังขาเกี่ยวกับผู้อพยพอยู่เป็นทุนเดิม

 

แต่ไม่ว่าท่าทีของนายจอห์นสันจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องการทูตประกอบไปด้วยหลายปัจจัย และการบรรลุนโยบายด้านการต่างประเทศเป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานเป็นทีม

 

ส่วนสหรัฐฯ นั้น แม้ที่ผ่านมาจะกล่าวสนับสนุนจุดยืนของสหราชอาณาจักรในเรื่องฮ่องกง แต่กลับไม่เคยมีอะไรที่เป็นรูปธรรมไปมากกว่านั้น

 

แม้สหรัฐฯ จะตอบโต้เรื่องที่เกิดขึ้นด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าบางประการแก่ฮ่องกง แต่นี่เป็นปีที่นายทรัมป์กำลังแข่งขันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง และการที่เขาแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้เขาได้ครองอำนาจต่อไป

 

นอกจากนี้ ปัญหาโรคระบาดยังทำให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" หรือ America First หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งกว้านซื้อยาเรมเดซิเวียร์จากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ไปจนแทบจะเรียกได้ว่า "หมดทั้งโลก"

 

ในขณะที่สหภาพยุโรปรวมตัวกันเจรจาเรื่องการซื้อยาตัวนี้ให้ชาติสมาชิกของตน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าสหราชอาณาจักรยืนอยู่จุดใดในเรื่องนี้ ซึ่งนี่ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงจุดยืนอันโดดเดี่ยวของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน

 

Getty Images

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา รถถังและระเบิดนิวเคลียร์เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก แต่มันเป็นการประเมินแบบตื้นเขิน เหตุผลที่แท้จริงที่สหรัฐฯ เป็นยังเป็นผู้นำโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น เป็นเพราะมีเศรษฐกิจและรากฐานด้านการวิจัยที่แข็งแกร่ง

 

ปัจจุบันจีนก็มีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน และนี่ก็เป็นสิ่งเส้นทางที่ นาวา Global Britain ของอังกฤษจะต้องมุ่งไปเช่นกัน

แม้ปัจจุบันอังกฤษจะยังถือเป็นประเทศที่ร่ำรวย และอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็จะต้องหาแนวทางใหม่ในการดำเนินนโยบายด้านนี้ในยุคหลังโควิดและหลังเบร็กซิท

 

การเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของฮ่องกงทำให้อังกฤษมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายวิกฤตนี้ และตอนนี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นหัวหอกในการสร้างฉันทามติใหม่ระหว่างประเทศที่จะใช้รับมือกับจีน เพื่อให้สามารถต่อกรกับอิทธิพลและแรงกดดันจากจีน ไปพร้อมกับการหาวิธีร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับบรรดาผู้นำจีนในประเด็นระดับโลกที่สำคัญต่าง ๆ ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง