จงแปลประโยคปฏิเสธต่อไปนี้ให้เป็นภาษาไทย I don't think we have met. one.. two.. three.. time out! หากแปลเร็ว ๆ ในหัวแล้วได้ว่า "ฉันไม่คิดว่าเราเคยพบกันมาก่อน" เราคือเพื่อนกัน แต่เอ๊ะ คำว่า "ฉันไม่คิดว่า" หากลองพิเคราะห์ดูดี ๆ ถ้าเรา "ไม่คิด" แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเคยพบกันมาก่อนจริง ๆ รึเปล่าหรือบางที ประโยค "ฉันไม่คิดว่าเราเคยพบกันมาก่อน" อาจใช้สื่อเป็นนัยว่า "ไปไหนก็ไป" ก็เป็นได้ เพราะผู้พูดรำคาญมากจนไม่แม้แต่จะเสียเวลาคิดด้วยซ้ำว่าเคยเจอะกันรึป่าวอย่างไรก็ตาม in the most cases การแปลลักษณะนี้เรียกว่า "แปลแปร่ง" คือ การแปลที่พออ่านแล้วต้องย้อนกลับมาอ่านอีกรอบเพื่อทำความเข้าใจ ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงมาแบ่งปันทริคเล็ก ๆ ที่ช่วยให้การแปลประโยคปฏิเสธง่ายขึ้น และอ่านได้แบบผ่านฉลุย 1. ย้ายที่ปฏิเสธในภาษาอังกฤษ การวางประโยคปฏิเสธไว้ด้านหน้าถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อแปลเป็นไทยแล้วมักเกิดความสับสน จึงต้องย้ายที่ปฏิเสธไว้ด้านหลัง I don't think we have met จึงควรแปลว่า "ฉันคิดว่าเราไม่เคยพบกันมาก่อน"ตัวอย่างเพิ่มเติมเช่นI don't think we have a choice = "ฉันคิดว่าเราไม่มีทางเลือก"I don't believe it make any difference = "ฉันว่ามันไม่ต่างกัน"I don’t believe he can make it = "ฉันว่าเขาทำไม่ได้หรอก" 2. ตัดการปฏิเสธทิ้งประโยคอย่าง "Shouldn't we have dinner after work?" เมื่อพยายามแปลให้อยู่ในรูปปฏิเสธแล้วไมเกรนแทบกำเริบ แต่ความจริงแล้ว ประโยคลักษณะนี้มักไม่ได้จงใจให้เป็นการปฏิเสธ จึงสามารถละได้ดังนี้Shouldn't we have dinner after work? = "ไปทานอาหารค่ำหลังเลิกงานกันไหม" ไม่ใช่ "เราควรจะทานอาหารเย็นหลังเลิกงานไม่ใช่หรือ"ตัวอย่างเพิ่มเติมเช่นWouldn’t David be back by tomorrow? = "เดวิดจะกลับมาพรุ่งนี้ใช่ไหม"Shouldn't he be back by now? = "เขาควรกลับมาตั้งนานแล้ว"(การพยายามใช้คำว่า "ไม่ใช่หรือ" ในทุกประโยค อาจอ่านแล้วเข้าใจได้ แต่ประโยคจะยาวเกินไป จึงไม่เหมาะสำหรับแปลซับ หรือการแปลที่เน้นความกระชับ) 3. เปลี่ยนปฏิเสธเป็นบอกเล่าภาษาอังกฤษมีสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่าการปฏิเสธซ้อนปฏิเสธอยู่ หากไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษเป็นกิจวัตร ก็อาจสับสนได้เป็นธรรมดาประโยคเช่น I am not unfamiliar with the situation. แปลตรงตัวได้ว่า "ฉันไม่ไม่คุ้นเคยกับสถานการณ์" เพราะ "un" มีความหมายว่า "ไม่" อยู่แล้วอย่างไรก็ตาม ประโยคนี้สามารถแปลให้ได้ความมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนปฏิเสธเป็นบอกเล่าดังนี้ "ฉันคุ้นเคยกับสถานการณ์นี้"ตัวอย่างเพิ่มเติมเช่นI don't disagree with his suggestion = ฉันเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของเขาHe isn't unsatisfied with the product = เขาพอใจกับสินค้าเมื่อสามารถใช้ทริค ย้ายที่ปฏิเสธ ตัดการปฏิเสธทิ้ง และเปลี่ยนปฏิเสธเป็นบอกเล่าได้คล่องแคล่วแล้ว ผู้อ่านที่ไม่เก่งภาษาก็จะสามารถเข้าใจความหมายที่เจ้าของภาษาต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วมากขึ้น ขอบคุณภาพจาก: Tanakorn (ภาพของนักเขียน) เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !