ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราอาจคิดว่าเรากำลังรับมือกับปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลที่ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งดูแล้วการจัดการปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นจนเกินไปนัก จนกระทั่งมีข่าวการพบไมโครพลาสติกในปลาทูทะเลซึ่งเป็นปลาทูทั่วไปที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งข่าวนี้ก็ได้สร้างความตกใจให้กับทั้งผู้บริโภคและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และทำให้ใครหลายคนต้องหันกลับมาทบทวนในข้อเท็จจริงที่ว่า ขยะพลาสติกจำนวนหลายล้านตันที่ถูกทิ้งสู้ก้นมหาสมุทร วันนี้มันกำลังกลับมาหาพวกเราทุก ๆ คนอีกครั้งในรูปแบบที่เราคิดไม่ถึงนั่นก็คือ “อาหาร” เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “ไมโครพลาสติก” กันดีกว่าค่ะ พลาสติกแบบไหนถึงจะเรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ไมโครพลาสติกก็คือพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไปจนถึงระดับที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ ด้วยขนาดที่เล็กมากนี้เองจึงทำให้สัตว์ขนาดเล็กหลายชนิดสามารถกินไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปได้ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่มีโอกาสสัมผัสไมโครพลาสติกมากที่สุด เมื่อมนุษย์รับประทานชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเข้าไป แน่นอนว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นก็จะต้องเข้าไปอยู่ในร่างกายของมนุษย์ด้วย และช่องทางการเข้าสู่ร่างกายของไมโครพลาสติกไม่ได้มีเพียงแค่การรับประทานเท่านั้น มีรายงานว่าไมโครพลาสติกที่เกิดจากการเสียดสีของยางรถยนต์ก็สามารถล่องลอยอยู่ในอากาสและผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจของมนุษย์ได้โดยตรงเช่นกัน แล้วไมโครพลาสติก มาจากไหน? ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตพลาสติก เพราะก่อนจะมีการขึ้นรูปเป็นพลาสติกต่าง ๆ จะต้องใช้ไมโครพลาสติกขนาดเล็กเป็นตัวตั้งต้น หรืออาจเกิดจากความตั้งใจในการการผลิตไมโครพลาสติกโดยตรง เช่น เม็ดบีดส์เล็ก ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง และสุดท้ายคือเกิดจากการหลุดล่อนหรือสลายตัวของพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น หลุดออกมาจากการซักผ้าใยสังเคราะห์ การสลายตัวของพลาสติกในสภาพแวดล้อม เป็นต้น อันตรายของไมโครพลาสติกต่อมนุษย์ ปัจจุบันเราทราบแต่เพียงแค่ว่าไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ 2 ช่องทางหลัก และไมโครพลาสติกสามารถถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางอุจจาระ แต่ยังไม่มีการศึกษาผลของไมโครพลาสติกเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ รวมทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าไมโครพลาสติกสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาผลของไมโครพลาสติกในสัตว์ทดลองพบว่าสัตว์ที่ได้รับไมโครพลาสติกเกิดผลเสียที่แตกต่างกันไปในร่างกายของพวกมัน ซึ่งก็เป็นไปได้เช่นเดียวว่าอาการเจ็บป่วยบางอย่างของมนุษย์อาจมีไมโครพลาสติกเข้าไปเป็นส่วนเกี่ยวข้อง จะรับมือกับไมโครพลาสติกได้อย่างไร สิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งการเกิดไมโครพลาสติกได้ก็คือการหยุดสร้างและหยุดผลิตพลาสติกทุกชนิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคงเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์ทุกคนจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือข้าวของเครื่องใช้จากธรรมชาติทั้งหมด และหลายสิ่งหลายอย่างก็ยังจำเป็นต้องผลิตจากพลาสติกอยู่ แต่ถึงแม้เราจะไม่สามารถหยุดกระบวนการผลิตไมโครพลาสติกนี้ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะไม่สนับสนุนหรือหลีกเลี่ยงกระบวนการเกิดไมโครพลาสติกได้ โดยอาจเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เช่น ใช้สิ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้น้อยที่สุด ใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลผลิตภัณฑ์จากพลาสติกให้มากที่สุด และถึงแม้ไมโครพลาสติกจะไม่มีวันหมดไปจากโลกใบนี้ได้ง่าย ๆ แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยไว้จนกระทั่งผลของมันย้อนกลับมาทำร้ายเราในที่สุด ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก pexels.com