วัดตะคร้ำเอน เจ๋ง ผุดไอเดียสร้างเตานึ่งข้าวต้มมัด ครั้งละ 1 หมื่นมัด แจกปชช.
16 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดตะคร้ำเอน หรือ วัดหลวงพ่อดำ ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านกว่า 300 คน กำลังร่วมจัดเตรียมข้ามต้มมัดกว่า 1 หมื่นมัด เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมทอดกฐินในเทศกาลออกพรรษา โดยเตาที่ใช้นึ่งข้าวต้มมัด พบว่ามีขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งได้มีการนำข้าวต้มมัดใส่เพื่อเตรียมนึ่งไว้จำนวนหนึ่ง สามารถต้มได้ครั้งละกว่า 1 หมื่นมัด โดยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ติดหัวแก๊สไว้รอบเตาประมาณ 20 หัว และใช้เวลานึ่งประมาณ 2 ชั่วโมง ข้าวต้มมัดจะสุก ซึ่งน่าทึ่งมาก
ทั้งนี้ทราบจากชาวบ้านและกรรมการของวัด ว่า สำหรับการสร้างเตานี้ รวมไปถึงงานก่อสร้างปรับปรุงศาลาภายในวัดแห่งนี้ เป็นแนวคิดของเจ้าอาวาสทั้งสิ้น โดยท่านเป็นผู้ออกแบบและเขียนแบบเอง ก่อนจะให้ช่างสร้างตามแบบ ซึ่งถือว่าเป็นพระนักพัฒนาท่านหนึ่ง จนทำให้ชาวบ้านตะคร้ำเอน และนักท่องเที่ยวที่มาสักการะหลวงพ่อดำ ยอมรับว่าท่านเป็นมากกว่าเจ้าอาวาส
พระครูวิศาลกาญจนกิจ (รองเจ้าคณะอำเภอท่ามะกา) เจ้าอาวาสวัดตะคร้ำเอน เปิดเผยว่า การสร้างเตาดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากการครูพักลักจำมาแล้วก็นำมาสร้างเตาขนาดใหญ่นี้ไว้ใช้ภายในวัด เมื่อมีการจัดงานก็จะใช้ประกอบอาหาร ขนมต่างๆ ครั้งละมากๆ เพื่อไว้แจกจ่ายประชาชนที่เข้าร่วมทำบุญได้มีรับประทานกัน เมื่อได้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดตะคร้ำเอน ก็ได้มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดแห่งนี้ เนื่องจากวัดแห่งนี้นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะหลวงพ่อดำ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ และในช่วงเกิดโควิด-19 ทางวัดไม่ได้จัดกิจกรรมใดๆ เลย เพิ่งมาเริ่มในปีนี้ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังและป้องกันตามมาตรการต่างๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา
โอกาสนี้พระครูวิศาลกาญจนกิจ เจ้าอาวาส ได้พาชมศาลาที่เพิ่งปรับปรุงสร้าง แล้วจัดกิจกรรมทอดกฐินครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับประชาชนที่เป็นเจ้าภาพทอดในวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น. โดยญาติโยมได้จัดกองกฐินกองละ 1,000 บาท มาร่วมทอดพร้อมกันที่หน้าศาลาการเปรียญ เวลา 09.30 น. จะตั้งขบวนแห่กฐินรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เสร็จแล้วขึ้นบนศาลาเวลา 10.00 น. พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ฉลององค์กฐินเวลา 10.30 น. ทำการถวายผ้ากฐิน หลังถวายผ้ากฐินแล้ว ถวายภัตตาหารเพล พร้อมด้วยญาติโยมเปิดโรงทานอาหารร่วมกัน ก็เป็นอันเสร็จพิธีทอดกฐิน
จากการสังเกตภายในศาลา ทางวัดได้จัดเตรียมสถานที่ มีการเว้นระยะห่าง มีจุดคัดกรอง เส้นทางการเข้าออกของผู้นำผ้ากฐินมาร่วมทอด โดยเจ้าอาวาสแจ้งว่า การปรับปรุงศาลาแห่งนี้ ได้ใช้เศษไม้เก่า ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี นำกลับมาใช้โดยไม่ให้สูญเสีย ชิ้นเล็กๆ ก็นำมาประกอบตามเสาและกำแพง ให้เป็นรูปลาย เพื่อให้ดูงามตา ภายในศาลาติดพัดลมขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว ทำให้บรรยากาศในศาลาเย็นสบายโดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้เสาภายในศาลาที่มีอยู่จำนวน 34 ต้น ได้ทำการปิดทองคำแท้ทุกต้น แต่ละต้นใช้ทองถึงต้นละ 3 หมื่นบาท โดยมีประชาชนเป็นเจ้าภาพคนละ 1-2 ต้น
นับว่าเป็นไอเดียของเจ้าอาวาสนักคิดค้นพัฒนาที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะห้องน้ำก็สะอาดมาก และใช้ระบบไฮเทคทั้งหมดด้วย ซึ่งงานทอดกฐินวันที่ 16 ตุลาคม 2565 นี้ จะเป็นการใช้ศาลาแห่งนี้เป็นครั้งแรก