รีเซต

ก.มหาดไทย ร่วมเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรี สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในโอกาส "วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน"

ก.มหาดไทย ร่วมเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรี สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในโอกาส "วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน"
มติชน
18 สิงหาคม 2563 ( 11:15 )
312
ก.มหาดไทย ร่วมเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรี สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในโอกาส "วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน"

กระทรวงมหาดไทยได้มอบรางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้มีผลงานดีเด่น ที่ได้รับคัดเลือกจากทั่วประเทศให้เป็นตัวอย่างที่ดีสืบต่อไป เพื่อเชิดชูเกียรติกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ปฏิบัติหน้าที่ เสียสละ ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน แม้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังคงทำหน้าที่เคียงข้างลูกบ้านของตัวเองเสมอมา และสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 มีทั้งสิ้น 261 คน แยกเป็น รางวัลกำนันยอดเยี่ยม 128 คน และรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม 133 คน โดยมีแนวคิดจากตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 คือ

 

นายพิทักษ์พงษ์ ศิริศักดิ์ กำนันตำบลด่านช้าง ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาเผยว่า “สำหรับตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ต้องเสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านปีนี้ก็เป็นปีที่ 128 ทำให้ผมรำลึกถึงการสร้างความดี ทำให้รู้ว่าการรับหน้าที่ตรงนี้ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นเยี่ยงอย่าง ให้เป็นผู้นำของประชาชน ให้สมกับเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมประจำปี 2563 สำหรับชาวบ้านตำบลด่านช้าง มักจะเรียกผมว่า “กำนันเต้ย” ผมได้รับตำแหน่งกำนันตอนอายุ 28 ปี ผมใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง พยายามคิดและตั้งโจทย์ให้กับพี่น้องใน ตำบลด่านช้าง ในความคิดของเราทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความสุข และถ้าเจอเราแล้ว หรือเจอทีมผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร จะต้องมีการยิ้มได้ และความสุข ถ้าคนไหนมีความทุกข์มาหากำนันเต้ย กำนันเต้ยแก้ได้ กำนันเต้ยช่วยได้ เราจะคอยช่วยเขาแก้ไขปัญหาต่างๆให้ถึงที่สุด

 

สำหรับเป้าหมายของผมอยากจะทำให้ตำบลด่านช้างทุกหมู่บ้าน ให้มีกลุ่มอาชีพทุกกลุ่มในหมู่บ้าน แล้วได้จดทะเบียน OTOP สามารถนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ตำบลด่านช้าง เป็นที่รู้จัก โดยผลงานที่ผ่านมาของผมคือ ด้านการประสานงานหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กร กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพในเขตตำบลด่านช้าง ของเราเข้มแข็ง โดยเฉพาะทีมผู้ใหญ่ ผู้ช่วย แพทย์ และสารวัตร นี่คือจุดเด่นของตำบลด่านช้างครับ

 

และบทบาทสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาของผม ตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ควบคุมโรคติดต่อดูแลประชาชนในหมู่บ้านของตนเอง จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร ก็ได้มีการประชุมภายในตำบล พร้อมทั้งมีหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงโรคภัยของโควิด-19 ให้รู้และรณรงค์ให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย มีการล้างมือด้วยสบู่หรือมีเจลแอลกอฮอล์ ทุกหลังคาเรือนต้องมีติดไว้ ประชาสัมพันธ์รณรงค์ในช่วงระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ให้มีการจับกลุ่มรวมตัวกัน และช่วงเคอร์ฟิวก็จะเป็นตั้งด่านรณรงค์ไม่ให้ใครออกจากบ้านตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับผมการเห็น “รอยยิ้ม” ของพี่น้องประชาชนเป็นวิธีการวัดผลงานการทำงานของผม ไม่ได้ใช้ตัวเลข GDP หรืออัตราการว่างงานของคนในชุมชนมาเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนน และการได้รับรางวัล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 อีกครั้ง ทำให้ผมมีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนเป็นที่พักพิงตลอดไปครับ”

 

ส่วน นางเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า “ เส้นทางของกำนันตำบลเกาะขันธ์ เริ่มจากการเป็นลูกสาวกำนัน ก่อนจะได้รับการร้องขอจากพี่น้องในหมู่บ้านให้มาทำหน้าต่อจากคุณพ่อ เพื่อสืบสานสายเลือดความเป็นนักปกครอง จากผู้ใหญ่บ้านจนได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนนักปกครองให้เข้ามาทำหน้าที่กํานัน โดยมีคติประจำใจคือ “ตามรอยพ่อ ขออาสา พัฒนาแผ่นดินเกิด” การตามรอยพ่อใน 2 แบบ คือ การตามรอยพ่อขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และการตามรอยกำนันฉาย กำนันคนแรกของตำบลเกาะขันธ์ พ่อของเรา ผู้ทำหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนชาวตำบลเกาะขันธ์นานกว่า 22 ปี

 

ผลงานที่โดดเด่นของพวกเราคือ การบริหารจัดการน้ำด้วยการพึ่งพากันในชุมชน การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนชาวเกาะขันธ์ นอกจากจะเป็นเรื่องการจัดการกับน้ำที่ไหลหลากมาอย่างมากมายแล้ว เรายังมองไกลไปถึงยามที่น้ำขาดแคลน ด้วยการรวมพลังจิตอาสาในชุมชนทำฝายชะลอน้ำ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีระบบชลประทานที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี สืบเนื่องมาจากตำบลเกาะขันธ์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วมีโครงการในพระราชดำริจากรัชกาลที่ 9 คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส และโครงการอ่างเก็บน้ำไม้เสียบ ซึ่งเปลี่ยนพื้นที่เกาะขันธ์จากการเป็นเพียงต้นทางให้น้ำไหลผ่านไปลงสู่อำเภออื่น ๆ กลายเป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง ผลที่ได้คือการจัดการชลประทานที่เพียงพอ จนสามารถปลูกผลไม้ได้ถึงปีละ 2 ครั้ง โอกาสที่มาจากการจัดการน้ำที่เป็นระบบนี้ ส่งผลถึงด้านเศรษฐกิจที่ดีของคนในชุมชน ทำให้ตอนนี้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลเกาะขันธ์ มีฝายขนาดเล็กอยู่ 43 แห่ง ที่แต่ละแห่งสร้างด้วยพลังจิตอาสาของชุมชนโดยรอบ ร่วมกับการมีส่วนร่วมของภาคีหน่วยงานจังหวัดอีกด้วย

 

เช่นเดียวกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของตำบลเกาะขันธ์ พิเศษกว่าตำบลอื่นๆ ตรงที่มีการตั้งด่าน 10 จุด จากคำสั่งให้ตั้งด่าน 1 จุดต่อ 1 ตำบล ซึ่งเป็นด่านที่ทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน มีการเฝ้าระวังโดยการคัดกรองกันทุกคืน เรามีหน้าที่ไปอยู่หน้าด่าน คอยเยี่ยมเยียนครบหมดทุกจุด จนถึงการติดตามผลของผู้ที่เดินทางเข้ามาอีกด้วยค่ะ”

 

การที่เราไม่ห่างประชาชน เพราะเรารู้ปัญหาของประชาชน และเราสามารถแก้ปัญหานั้นได้ โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาร่วมกันมาขับเคลื่อนชุมชนให้สังคมน่าอยู่ และการได้รับรางวัล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 ในครั้งนี้ ทำให้บทบาทภารกิจของการเป็นนักปกครอง เราจะทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้สมกับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนต่อไป

 

แม้ว่าตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนมากมาย แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นตัวแทนของระบบราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการปกครองท้องที่ การรักษาความสงบเรียบร้อย การดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” เป็นผู้ที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นที่พึ่งพาและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ตลอดมา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะอยู่คู่สังคมไทยอีกตราบเท่านาน

 

ทั้งนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้ช่วยเหลือทางราชการ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย บทบาทหน้าที่ ของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากจะเป็นผู้แทนของรัฐ คือ ราชการส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานอยู่ในระดับล่างสุดของรัฐ และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องที่ต่างๆ แล้ว ในขณะเดียวกัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังถือ เป็นผู้แทนประชาชน เป็นผู้นำของชุมชน ซึ่งบทบาทและหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่เรียกกันว่า “ลูกบ้าน” ในด้านต่างๆ โดยใน วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงได้พระราชทานกำเนิดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ที่บ้านเกาะ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2563 เป็นเวลาถึง 128 ปี และเพื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเชิงบวกต่อสาธารณชน ผ่านสื่อในหลายช่องทาง และทางเว็บไซต์ www.กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง