รีเซต

‘หมอธีระ’ แนะอย่าฉีดวัคซีนโควิดเว้นระยะนาน เหตุป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้แค่ 33%

‘หมอธีระ’ แนะอย่าฉีดวัคซีนโควิดเว้นระยะนาน เหตุป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้แค่ 33%
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2564 ( 12:46 )
92
‘หมอธีระ’ แนะอย่าฉีดวัคซีนโควิดเว้นระยะนาน เหตุป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้แค่ 33%

 

ข่าววันนี้ ( 10 มิ.. 64 )รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงประสิทธิภาพการป้องกันโควิด -19 ของวัคซีนต่างๆ โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลกออกรายงานระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ (Weekly epidemiological update) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ภาพรวมทั่วโลกจำนวนติดเชื้อลดลง 15% และจำนวนการตายลดลง 8% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

 

 

 

 

ข้อมูลในรายงานมีความชัดเจนดังภาพที่นำเสนอไปเมื่อวานว่า ไทยเรามีรายงานพบทั้งสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7) เบต้า (B.1.351) แกมม่า (P1) และเดลต้า (B.1.617.2) ซึ่งทั้งสี่สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก

อัลฟ่าพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร ตั้งแต่กันยายน 2563 ประกาศว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2563

เบต้าพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ ตั้งแต่พฤษภาคม 2563 ประกาศว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2563

แกมม่าพบครั้งแรกที่บราซิล ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 ประกาศว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตั้งแต่ 11 มกราคม 2564

เดลต้าพบครั้งแรกที่อินเดีย ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ประกาศว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2564

 

ทั้งสี่สายพันธุ์ดังกล่าวมานั้น ชัดเจนแล้วว่ามีความสามารถในการแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ส่วนใหญ่นั้นมีโอกาสทำให้ติดเชื้อแล้วมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในลักษณะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น หรือเสียชีวิตมากขึ้น

 

ที่ควรให้ความสนใจคือข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผล/ประสิทธิภาพของวัคซีนต่างๆ ต่อสายพันธุ์เหล่านี้ (Impact on vaccine efficacy/effectiveness) ดังที่แสดงให้เห็นในตาราง

 

การรับฟังข้อมูลจากสื่อ หรือจากปากของใครต่อใครในลักษณะของความเห็นนั้น ไม่สามารถทดแทนความรู้ที่ได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นระบบได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนได้หมั่นตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับฟังจากข่าว จากสื่อ จากเครือข่ายสังคม ให้ถ้วนถี่ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นความรู้จริง ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว

 

ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผล/ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น มีทั้งในลักษณะการป้องกันการป่วยรุนแรง การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ การป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และการป้องกันการติดเชื้อ โดยที่แต่ละวัคซีนมีข้อมูลมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์

 

สายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ความรู้ปัจจุบันจากงานวิจัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการใช้วัคซีน Pfizer/Biontech และ Astrazeneca ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนไปเพียงเข็มเดียวนั้นได้ผลน้อยมากในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ แต่หากฉีดครบสองเข็ม จะได้ผลในการป้องกันดีอยู่ 

 

ข้อมูลการวิจัยจากสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 5 เมษายน 2564 ถึง 16 พฤษภาคม 2564 พบว่า หลังฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ครบสองเข็มไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์จะสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์ B.1.672 (เดลต้าอินเดียได้ 88% แต่ลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักรได้ 93%

ในขณะที่หากฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบสองเข็มจะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ 60% แต่ลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 66% 

 

สิ่งสำคัญคือ เมื่อประเมิน  3 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์เดลต้า จะได้เพียง 33% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 50% 

 

นี่จึงเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำให้แต่ละประเทศหาทางป้องกันการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ดังกล่าว และเน้นย้ำให้ประชาชนรับวัคซีนให้ครบถ้วน

 

ที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ การฉีดวัคซีนแบบทิ้งช่วงระยะห่างเป็นเวลานาน ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ 

 

เป็นกำลังใจให้เราทุกคนมีพลังกายพลังใจในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้

...ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในหน้ากากอนามัย ชั้นนอกหน้ากากผ้า...

ด้วยรักและห่วงใย

 

อ้างอิง

1. COVID-19 Weekly epidemiological update. World Health Organization. 8 June 2021.

2. Vaccines highly effective against B.1.617.2 variant after 2 doses. Press release. Public Health England. 22 May 2021.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง