วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนออกจากบ้านน้อยลง พึ่งพาเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ทุกรูปแบบของการดำรงชีวิตมากขึ้น บริโภคสื่อแขนงต่างๆมากกว่าเมื่อก่อน มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น การแต่งบ้านเป็นสิ่งที่หลายคนหันมาให้เวลาและใส่ใจมากขึ้นด้วย ซึ่งสไตล์การแต่งบ้านก็มีอีกหลายสไตล์ตามความชอบ บางคนชอบแต่งบ้านให้สวยหรูดูแพง ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆเน้นความเบาเอาไว้ก่อน หมายถึงเงินในกระเป๋าเบาลงทันทีกับของตกแต่งมากมายเหล่านั้น บางคนก็ชอบให้บ้านมีของน้อยมีพื้นที่ใช้สอยเยอะ เน้นผนังและข้าวของเครื่องใช้มีสีสันสดใส บางจุดดูสบายตาน่ามองแต่บางจุดก็เล่นสีให้แสบตากันไปเลย หรือบางคนก็ชอบการแต่งบ้านสไตล์มินิมอล ข้าวของเครื่องใช้ หรือของแต่งบ้านมีขนาดเล็กกะทัดรัด มีความแปลกน่ารักตะมุตะมิในตัวและทนทานด้วย แต่ไม่ว่าจะแต่งบ้านสไตล์ไหน หนึ่งในการทำให้บ้านเป็นบ้าน ให้อารมณ์น่าอยู่ดูร่มรื่น เติมเต็มความมีชีวิตชีวา คงจะหนีไม่พ้นการมี "ต้นไม้" ในบ้าน โดยอาจมีลักษณะความแตกต่างทางสายพันธุ์ แหล่งที่มา หรือขนาด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติเหล่านั้นเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัยต้นไม้ พูดเฉยๆดูจะเป็นการพูดถึงในมุมกว้างจนเกินไป แต่ต้นไม้ที่ผู้เขียนต้องการพูดถึงในบทความนี้ก็คือ ต้นกระบองเพชร (ในภาษาไทย) หรือ "แคคตัส" (ในภาษาอังกฤษ) นั่นเอง ที่มาของคำว่า "แคคตัส" มาจากภาษากรีก Kaktos-อ่านว่าคักโตส ซึ่งหมายถึงหัวอาร์ติโช้กของสเปนที่มีลักษณะมีหนามแหลมทั้งหัว แม้ว่าพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย แต่ลักษณะเด่นของการมีหนามแหลมก็กลายเป็นคำติดปากจนกลายเป็นการเรียกพืชอวบน้ำซึ่งมีลักษณะเด่นที่เหมือนกันว่า Cactus-อ่านว่าแคคตัส จนทุกวันนี้สมัยที่ผู้เขียนเริ่มเข้าสู่วงการแคคตัสใหม่ๆ มักจะได้ยินคำกล่าวจากหลายๆคนว่า "แคคตัสปลูกง่าย เลี้ยงง่าย" คำถามที่ติดอยู่ในใจแต่ก็ไม่ได้ถามออกไปในตอนนั้นคือ จริงมั้ยนะ?? และเชื่อว่าผู้อ่านอีกจำนวนหนึ่งคงเคยได้ยินประโยคทำนองนี้ผ่านหูมาบ้าง แล้วสงสัยกันมั้ย? ที่ได้ยินมา มันเป็นเพียงแค่คำพูดดูดีที่เชิญชวนให้เราอยากมาเลี้ยงแคคตัสเหมือนพวกเขาบ้างแต่ไม่จริง.. หรือมันปลูกง่ายเลี้ยงง่ายจริงๆนะ เพียงแค่พวกเขามีบางอย่างที่บอกไม่หมดก็เท่านั้น.. ซึ่งตอนนี้ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เลี้ยงแคคตัสมือใหม่อีกต่อไปแล้ว ขอตอบอย่างตรงไปตรงมา แทนคนที่มีความสงสัยคล้ายๆกันว่า : จริงค่ะ ... แต่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของแคคตัสเหล่านั้น และประสบการณ์ของผู้เลี้ยงเอง ว่าจะเรียนรู้น้องแคคตัสสายพันธุ์นั้นๆได้รู้ใจขนาดไหนค่ะ นั่นสินะ! มาถึงตรงนี้ก็นึกขำในใจ เอ่อเขาบอกเราไม่หมดจริงๆด้วย อาจจะเพราะด้วยอยากให้การอธิบายมีความกระชับ สั้น ได้ใจความ พร้อมเชิญชวนไปในคราวเดียวกันก็เป็นได้ แต่สำหรับผู้เขียนเอง มันจะดีกว่านี้มาก ถ้าคุณจะเพิ่มข้อมูลที่ไม่ได้บอกในตอนแรกอีกสักเล็กน้อย เพื่อให้บรรดามือใหม่ทั้งหลายได้ทำความเข้าใจและเลือกด้วยตัวเขาเอง ว่าจะปลูกแคคตัสไว้ในใจพวกเขาหรือไม่ อย่างน้อยคนที่อยากเลี้ยงแคคตัสพยายามค้นหาข้อมูล และยอมเสียเวลาเพื่อจะได้รู้เกี่ยวกับต้นไม้ที่พวกเขาอยากปลูกอยู่แล้วหล่ะต่อไปนี้ผู้เขียนจะบอกกล่าวอีกสักนิดว่าทำไมคำตอบถึงเป็นอย่างนั้น โดยข้อมูลที่จะบอกนี้มาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียนเองล้วนๆ ขอกล่าวคร่าวๆจากการปลูกไปจนถึงการเลี้ยงเลยแล้วกัน1. ว่าด้วยเรื่องของการปลูก กระถางและดินกระถางที่ดียังคงเป็นกระถางดินเผา แต่ด้วยเศรษฐกิจในปัจจุบันผู้เขียนคิดว่าควรเก็บเงินไว้ลงทุนกับอย่างอื่นที่จะตามมาด้วยจะดีกว่า โดยตัวเลือกกระถางพลาสติกก็ไม่ได้แย่ และน่าสนใจไม่น้อย เพราะมีตัวเลือกให้กับผู้ซื้อมากมาย ทั้งความหนา พื้นผิว ดีไซน์รูปทรงต่างๆ และสีสันน่ารักน่าใช้ สำหรับขนาดของกระถาง ให้ดูจากต้นไม้ที่เราจะปลูกเป็นหลัก กระถางที่เหมาะสมควรมีขนาดใหญ่กว่าต้นที่เราจะปลูกตั้งแต่ครึ่งนิ้วไปจนถึงนิ้วครึ่ง ไม่ควรเกินนี้ เพราะหากพื้นที่เยอะจนเกินไปจะทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ยากขึ้นแม้จะผสมดินปลูกไว้โปร่งแล้วก็ตาม แคคตัสเป็นพืชตระกูลไม้อวบน้ำซึ่งมีการเก็บกักน้ำไว้ในตัวเองจำนวนมาก ถ้าเขาได้น้ำมากเกินไป หรือดินชื้นนานเกินไปอันเนื่องจากพื้นที่ในกระถางใหญ่กว่าต้นเยอะ น้องแคคตัสอาจจะเจอปัญหาฉ่ำน้ำและเน่าตายได้ในที่สุดดิน ควรเป็นดินปลูกแคคตัสโดยเฉพาะ อ้างอิงจากการเป็นไม้อวบน้ำของน้องเขาเช่นกัน น้องแคคตัสต้องการแร่ธาตุในดินก็จริง แต่จะต้องมีส่วนผสมอื่นๆที่ช่วยให้ดินโปร่งไม่แน่นเกินไป ดินที่อากาศสามารถเข้าได้ ระบายน้ำได้ดี ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปจะมีส่วนผสมของแกลบ กาบมะพร้าวฉีก ปุ๋ยคอก ถ่านแกลบดำ ซึ่งสีจะออกไปทางสีดำสนิท และกักเก็บความชื้นไว้ได้นาน ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปเหมาะกับไม้ใบ หรือต้นไม้ชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่แคคตัส เมื่อนำมาใช้กับแคคตัส หลังจากที่ดินถูกรดน้ำไปแล้วเขาจะบีบตัวแน่นและแห้งช้า เป็นเหตุให้ดินไม่โปร่งมากพอ และทำให้รากแคคตัสมีปัญหาได้ ดินที่เหมาะกับการปลูกแคคตัส มีส่วนสผมหลักของดินหมักใบก้ามปูร่อน พีชมอส ดินมูลใส้ดือน กรวดหยาบซึ่งปัจจุบันใช้หินภูเขาไฟเบอร์เล็กแทน เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลท์ รวมไปถึงปัจจัยในการบำรุงต้นด้วยปุ๋ยละลายช้าออสโมโคท ปุ๋ยสตาเกิลจีกันเพลี้ยและแมลงอื่นๆ และปุ๋ยแคปเทนหรือแคปทาไทท์ป้องกันเชื้อราต่างๆ สังเกตุเห็นได้ชัดว่าแค่ดินปลูกก็ไม่เหมือนกันแล้ว ด้วยความที่ดินปลูกแคคตัสมีส่วนผสมมากมาย กรณีที่ผู้เลี้ยงบางท่านไม่ได้เลี้ยงแคคตัสในจำนวนมาก การเลือกซื้อดินปลูกแคคตัสผสมพร้อมปลูกจะสะดวกกว่า และบางครั้งที่เราไปซื้อดินตามร้านต่างๆ การเรียกสั้นๆว่า "ดินปลูก" อาจทำให้ร้านเข้าใจผิดว่าเป็นดินปลูกทั่วไปและหยิบให้เราผิดได้ เพราะไม่ว่าจะปลูกกับอะไร คนก็มักจะเรียกว่าดินปลูกเหมือนกันหมด ผู้เขียนแนะนำว่าให้พูดยาวกว่าสักนิดเพื่อเน้นย้ำให้ร้านหยิบ "ดินปลูกแคคตัส" มาให้เราได้ถูกต้อง2. การเลี้ยงแคคตัส สายพันธุ์ แม้จะเป็นแคคตัสเหมือนกันตระกูลเดียวกัน แต่แคคตัสก็มีสายพันธุ์ที่แยกย่อยออกมาอีกมากมาย ทั้งที่ค้นพบเองตามธรรมชาติอ้างอิงจากแหล่งกำเนิดที่พบ สายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาจากนักปรับปรุงพันธุ์พืช หรือสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมของผู้เลี้ยงเอง ผู้เลี้ยงจะต้องให้เวลากับการหาข้อมูลเกี่ยวกับแคคตัสสายพันธุ์ที่จะเลี้ยงสักหน่อย เพื่อลดการสูญเสีย และเพื่อความสุขความสนุกในการเลี้ยงแคคตัสมากขึ้นปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของแคคตัสเหมือนกับต้นไม้อื่นทั่วไปคือ ดิน น้ำ แสง อุณหภูมิ ลม เมื่อทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างสมดุลตามความชอบของสายพันธุ์นั้นๆ แคคตัสของเราก็จะแข็งแรง เติบโตได้ดี ออกดอกสวยงาม มีหน่อเพิ่มจำนวนให้เราได้เลี้ยงเขาต่อไป ในบทความนี้จะกล่าวถึงความเหมาะสมของปัจจัยเหล่านั้นอย่างพื้นๆก่อน ถ้าจะให้ระบุชัดเจนว่าสายพันธุ์ไหนชอบแบบไหนคงจะต้องติดตามกันในบทความต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแคคตัสไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนคือน้ำและแสงน้ำ "แคคตัสไม่ชอบน้ำแต่ก็ต้องการน้ำในการดำรงชีวิต" ผู้เลี้ยงต้องเรียนรู้การควบคุมน้ำให้ดี ไม่ควรให้น้ำบ่อย อาจจะเว้น 3-5 วัน รดน้ำครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนที่ความชื้นในอากาศสูง อาจไม่ต้องรดน้ำทั้งเดือนเลยก็ได้โดยน้องแคคตัสไม่ตาย แต่ทางที่ดีควรสังเกตและตรวจสอบดินในกระถางก่อน เพราะบางครั้งยังไม่ถึง 5 วันตามกำหนด แต่ดินน้องแห้งแล้วก็สามารถรดน้ำได้เลย ทดสอบว่าดินแห้งหรือยังโดยการใช้ไม้เสียบลููกชิ้นหรือไม้อะไรก็ได้ยาวๆจิ้มลงไปในดินเบาๆ ถ้ามีดินติดขึ้นมาแสดงว่าดินยังไม่แห้งก็ยังไม่ต้องรด ถ้าไม่มีอะไรติดขึ้นมาแสดงว่าดินแห้งแล้วรดน้ำได้แสง "แคคตัสชอบแสงแต่ก็ต้องการพรางแสงไว้ส่วนหนึ่งเหมือนกัน" ในส่วนของแสง หลายคนจะนับรวมว่าแสงก็คือแสงแดด แต่ความเป็นจริงผู้เลี้ยงต้องแยกแสง และ แดด ออกจากกัน "แสง" หมายถึงความสว่างที่มีความเข้มข้น(มองแล้วต้องหยีตา) ถ้าแสงดีแคคตัสก็จะโตเร็ว "แดด" หมายถึงอุณหภูมิโดยรอบของบริเวณที่ตั้งวาง ซึ่งแคคตัสบางสายพันธุ์หากได้รับแดดหรืออุณหภูมิมากเกินจะรับไหว จะเกิดอาการผิวไหม้ และสุกตายร่ายยาวมาตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเลี้ยง คาดว่ามากพอจะทำให้หลายๆคนได้เห็นความแตกต่างระหว่างการปลูกไม้ชนิดอื่นกับการปลูกแคคตัสแล้ว ผู้เขียนเชื่อเสมอว่าเมื่อถึงระยะหนึ่งที่เราเข้าใจอะไรมากขึ้น เราจะรู้ว่าจริงๆแล้วการปลูกแคคตัสไม่ได้ยากนะ อยู่ที่ความเข้าใจความต้องการพื้นฐานของน้องแคคตัสเต็มๆเลย เป็นกำลังใจให้กับใครที่อยากจะเลี้ยงแคคตัสให้สวยงาม และถ้าใครต้องการเจาะลึกข้อมูลสำคัญเพื่อทำความเข้าใจน้องแคคตัสมากขึ้น แน่นอนว่าผู้เขียนจะนำมาฝากในบทความถัดไป อยากรู้มากกว่านี้ต้องติดตามค่ะภาพ: ถ่ายเอง (Cactist Topia) By Cactist Topiaอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !