ไม่ล็อกดาวน์ เว้นจำเป็น! ศบค.มีแผนรับมือติดเชื้อแตะแสนคน คาดมี.ค.ยอดลดลง
ข่าววันนี้ 24 ก.พ.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีตัวเลขรวมกับผลตรวจ ATK รวม 5 หมื่นรายว่า ศบค.มีมาตรการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การล็อกดาวน์คงไม่กลับไปเหมือนในสมัยที่ระบาดแรกๆ คงทำได้ยาก ยกเว้นจำเป็นอย่างที่สุด แต่คาดว่าจะไม่เกิดขึ้น จึงต้องขอให้ประชาชนปรับตัวในการดำเนินชีวิตเข้มมาตรการสาธารณสุข
เมื่อถามว่าเตรียมมาตรการไว้หรือไม่ หากผู้ติดเชื้อรายวันถึงแสนคน พล.อ.สุพจน์ กล่าว “มีครับ ตัวเลขการครองเตียง การติดเชื้อจะถูกประเมินทุกวัน ทำคู่ขนานเป็นเปอร์เซ็นต์ ขยับไปเรื่อยๆ แต่กว่าจะไปถึงสถานการณ์ตอนนั้น ต้องมีมาตรการมากกว่านี้ เราคงไม่สร้างโรงพยาบาลสนาม รองรับคนเป็นแสนแน่ๆ เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข คิดต่อเนื่องอยู่แล้ว”
ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า นายกฯสั่งการให้เตรียมแผนรองรับทั้งระบบ ยกระดับการกักตัวที่บ้าน การกักตัวในชุมชนและโรงพยาบาลสนาม ส่วนโรงพยาบาลหลักจะรับผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยสีแดง เท่านั้น โดยไม่กระทบกับผู้ป่วยโรคอื่นและป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงทุกจังหวัด จะมีสายด่วนเสริมด้วย นอกจากสายด่วนใน กทม.แล้ว
เมื่อถามว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อขาขึ้น จะยืดเยื้อถึงสงกรานต์หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เราคาดหวังว่าเดือนมี.ค. ผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลง และหวังว่าช่วงสงกรานต์ จะได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับสงกรานต์ปกติมากที่สุด เป็นสงกรานต์แบบโควิด ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเรื่องนี้ คาดว่า 1-2 สัปดาห์หน้าจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ ทั้งนี้ ช่วงสงกราต์ปีนี้ เราไม่ได้จำกัดการเดินทาง ประชาชนสามารถไปดูแลบุพการีได้ด้วยความระมัดระวังและตามมาตรการที่เหมาะสม ทำบุญได้ แต่การฉลองในที่เสี่ยง ต้องงด มาตรการน่าจะเป็นเช่นนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าศบค.ชุดใหญ่ มีมติให้เด็กที่ติดเชื้อโควิดแต่อาการไม่มาก สามารถเข้าสอบได้ จะมีมาตรการอย่างไร พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ต้องจัดโซนนิ่งพื้นที่ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียนและสถานศึกษาด้วย
ส่วนจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เช่น จ.ชลบุรี ยังมีการลักลอบเปิดสถานบันเทิง จะต้องเพิ่มมาตรการหรือไม่นั้น พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้มีการรับฟังข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียน หากพบก็ให้ดำเนินการแก้ไข รวมถึงหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไปนั่งรอเข้ารับการรักษาอยู่ข้างถนน ให้รีบรับเรื่องและไปดำเนินการช่วยเหลือ โดยกทม.จะเชิญกลุ่มต่างๆ และภาคเอกชน มาทำงานร่วมกัน