รีเซต

หมอธีระวัฒน์ เผยหลายสถาบันลองฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง ได้ผลดี ภูมิต้านโควิดพุ่งสูง ยันเหมาะกับไทย

หมอธีระวัฒน์ เผยหลายสถาบันลองฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง ได้ผลดี ภูมิต้านโควิดพุ่งสูง ยันเหมาะกับไทย
มติชน
15 กันยายน 2564 ( 16:09 )
133

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงข้อแนะนำที่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข้าชั้นผิวหนัง ว่า การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังมีการดำเนินการมานานแล้วในวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างล่าสุดกรณีวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น ในต่างประเทศมีการศึกษาและดำเนินการเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทย นักวิชาการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหน่วยงานภายใต้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือโรงเรียนแพทย์ ทั้งจุฬาฯ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าชั้นผิวหนัง และผ่านคณะกรรมการวิจัยทั้งหมด อีกทั้ง ล่าสุด สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เตรียมจะทดลองการฉีดใต้ชั้นผิวหนังในเดือนตุลาคมนี้ เช่นกัน

 

 

“นักวิชาการ แพทย์ต่างๆ เห็นความสำคัญได้มีการศึกษาวิจัย อย่างของจุฬาฯ ทำการศึกษาและฉีดในอาสาสมัครที่สมัครใจฉีดเข้าชั้นผิวหนังไปแล้วกว่า 200-300 คน ซึ่งไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงใดๆ หากมีเจ็บบริเวณผิวหนังที่ฉีด หรือมีรอยจ้ำ ถือเป็นผลข้างเคียงที่ไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัย และสามารถฉีดได้ในปริมาณมากกว่าเดิม ย่อมมีประโยชน์กว่าไม่ใช่หรือ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ระบุว่าขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีวัคซีนเพียงพอ แต่วัคซีนที่มีเพียงพอมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่า ยังต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีก 3-4 เดือนถัดมา

 

 

“ดังนั้น เหตุใดเราไม่สร้างความปลอดภัยด้วยวิธีนี้ อีกทั้งการฉีดเข้าชั้นผิวหนังก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับในเด็กที่ผู้ปกครองกังวลเรื่องไฟเซอร์ ที่อาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จึงเสนอทางออกว่า เราสามารถฉีดด้วยวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และตามด้วยไฟเซอร์เข็มที่ 3 ซึ่งฉีดแบบใต้ผิวหนังทั้งหมด อย่างเดิมการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 1 เดือน แต่หากเราฉีดใต้ผิวหนังจะห่างกันแค่ 7 วัน ซึ่งจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วภายใน 14-30 วัน หลังจากเข็มที่ 2 หลังจากนั้นอีก 1 เดือนถัดมา ก็สามารถตามด้วยไฟเซอร์เข้าชั้นผิวหนังได้เช่นกัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 

 

เมื่อถามว่าเหตุใดการฉีดใต้ผิวหนังมีผลข้างเคียงน้อยกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การฉีดใต้ผิวหนังปริมาณวัคซีนน้อยกว่า แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และกลไกในการกระตุ้นภูมิเป็นคนละกลไกกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเลี่ยงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้

 

 

ต่อข้อถามว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนังในเด็กมีผลการศึกษาในต่างประเทศหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในต่างประเทศไม่มีการฉีดวัคซีนเชื้อตายเข้าชั้นผิวหนัง เนื่องจากเขามีจำนวนวัคซีนเหลือเฟือ เขาจึงไม่จำเป็นต้องฉีดด้วยวิธีนี้

 

 

“แต่ไทยยังมีข้อจำกัด ว่า เรามีวัคซีนเพียงพอจริงหรือไม่ เพราะเรายังต้องฉีดกระตุ้นกันอีก และยังมีเรื่องความปลอดภัยในเด็ก อย่างไฟเซอร์ กำหนดให้อายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะยังมีเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แม้ผลข้างเคียงดังกล่าวจะพบไม่มาก และเด็กไม่เสียชีวิต แต่ระยะยาวก็ยังไม่รู้ว่ามีผลอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศมีข้อมูลว่า ควรฉีดวัคซีนให้เด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไป ไม่ใช่เพราะเด็กแพร่เชื้อได้เร็ว แต่จะมีผลกระทบระยะกลางและระยะยาว หลังติดเชื้อแล้วอาจทำให้พัฒนาการช้า ตรงนี้ต่างประเทศมีการติดตามอยู่ หากวัคซีนมีเพียงพอในการฉีดกระตุ้นต่อจากนี้ และมองว่าวิธีนี้ไม่จำเป็น ก็สุดแล้วแต่ทางผู้กำหนดนโยบาย แต่ทางการแพทย์ยังคงมีการศึกษาเรื่องนี้ต่อเนื่องต่อไป” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง