รีเซต

หญิงตั้งครรภ์ แรงงานกลุ่มเปราะบาง สู้ทน-ดิ้นรน ฝ่าโควิด

หญิงตั้งครรภ์ แรงงานกลุ่มเปราะบาง สู้ทน-ดิ้นรน ฝ่าโควิด
มติชน
5 สิงหาคม 2563 ( 12:22 )
56
1
หญิงตั้งครรภ์ แรงงานกลุ่มเปราะบาง สู้ทน-ดิ้นรน ฝ่าโควิด

หญิงตั้งครรภ์ แรงงานกลุ่มเปราะบาง สู้ทน-ดิ้นรน ฝ่าโควิด

 

“แรงงานหญิง” เป็นแรงงานที่เปราะบาง และกำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก หลายรายถูกปลดจากงานเนื่องจาก “ตั้งครรภ์” ซึ่งไม่เพียงในช่วงวิกฤตโควิด แต่ว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย ทุกอาชีพต่างได้ผลกระทบ รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนแรงงาน เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์แทนแรงงาน อีกด้วย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา จึงจัดเวทีอภิปรายออนไลน์เรื่อง “Gender Co-Solutions” วิกฤตและทางรอดของแรงงานหญิง จากการแพร่ระบาดและการรับมือกับภัยโควิด-19

 

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงสถานการณ์ของแรงงานหญิงในช่วงโควิดว่า แรงงานหญิงต้องดูแลครอบครัว ทำงานทั้งนอกและในบ้าน การหาข้าวให้ครอบครัวได้กินครบ 3 มื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้รุนแรงมาก อาทิ อาชีพแม่บ้าน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานหญิงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างกลัวนำโควิดมาติด ทำให้ไม่มีรายได้ ส่งผลให้เกิดความเครียดอีกด้วย

 

โดยเฉพาะ “กลุ่มแรงงานหญิง” ที่เป็น “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว”

 

“แรงงานที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกข์มาก มีรายหนึ่งเป็นหมอนวดเพิ่งกลับจากเกาหลี เธอรู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีทางออก อยากฆ่าตัวตาย นอกจากนี้มีอีกหลายเคสที่หลังจากแยกทางกับสามี ฝ่ายผู้หญิงต้องเป็นคนเลี้ยงดูลูก ซึ่งอาชีพของกลุ่มแรงงานนอกระบบส่วนมากไม่ได้รับรายได้ประจำ เพราะฉะนั้นรายได้ก็ไม่มั่นคง แถมช่วงโควิดลูกต้องเรียนอยู่ที่บ้าน รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนทุกข์มากแต่ก็บอกกับเราว่าต้องอดทนให้ถึงที่สุด” นางพูนทรัพย์กล่าว และเสนอแนะว่า

ในยุคที่ต้องใช้ชีวิตแบบนิว นอร์มอล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากจะริเริ่มโครงการช่วยเหลืออาจจะต้องปรับโดยคิดถึง “การจ้างงาน” และ “ส่งเสริมอาชีพ” ของคนเล็กคนน้อยมากขึ้น เน้นให้เป็นนโยบายที่คนตัวเล็กๆ ทำได้ เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่ยั่งยืน ที่สำคัญรัฐบาลควรรับฟังและเข้ามาให้ความช่วยเหลือกลุ่มของคนที่เดือดร้อนอย่างจริงจัง

 

ขณะเดียวกัน “แรงงานหญิงในระบบ” ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

 

อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ฝ่ายสตรีและเยาวชน เปิดเผยว่า เมื่อมีสถานการณ์ที่ต้องรัดเข็มขัด บริษัทต่างๆ มักจะเลิกจ้างหรือให้หยุดงานโดยไม่มีการแจ้งล้วงหน้า ไม่มีการโอนค่าชดเชยให้ ซึ่งกลุ่มแรงงานหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้พิการ มักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเลิกจ้างในทันที ในขณะที่ท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ บางรายยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลคนในบ้าน พาพ่อแม่ที่ป่วยไปโรงพยาบาลเป็นประจำ กลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ในส่วนนี้ก็มีการประสานงานไปยังหลายฝ่าย แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบ เช่นที่ กระทรวง พม. เข้ามามอบกล่องยังชีพ แต่สำหรับแรงงานที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องไปรับเองที่ พม.ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าต้องแบกท้องไปรับกล่องยังชีพเอง เป็นต้น

 

“การดำเนินการช่วยเหลือที่ล่าช้า ไม่ได้กระทบแค่คนเดียว แต่ส่งผลกระทบทั้งครอบครัวในหลายมิติ แล้วเงินกู้ 4 แสนล้านที่จะกู้มา มีส่วนที่นำมาช่วยเด็กและผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน คนตกงานในระบบเหนื่อยมากช่วงโควิด บางคนกลับบ้านไม่ได้ ไม่มีเงิน หลายครอบครัวต้องเช่าห้องอยู่ด้วยกัน 1 ห้อง อยู่รวมกัน 3-4 ครอบครัวก็มี” อภันตรีกล่าวถึงสิ่งที่อยากให้รัฐบาลรับทราบและเร่งช่วยเหลือ

ทุกข์แรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง