อักษรโบราณเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศหรือของท้องถิ่นในอดีต และบอกถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้น ๆ การศึกษาอักษรโบราณ สิ่งที่นอกเหนือจากการที่ได้รู้แค่พัฒนาการของอักษรแล้วยังทำให้ทราบถึงที่มาและที่ไปในเรื่องราวของประเทศหรือภูมิภาคนั้น ๆ ถ้าจะว่ากันง่าย ๆ ก็คือศึกษาอักษรโบราณเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นเอง เพราะเอกสารโบราณหรือเอกสารชั้นต้นถูกบันทึกด้วยอักษรโบราณ ที่ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ของช่วงเวลานั้น เพราะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ในอดีต เพื่อเข้าในสถานการณ์ในปัจจุบัน และวิเคราะห์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นรูปแบบที่เรียกว่ากงล้อทางประวัติศาสตร์ อักษรเป็นตัวชี้วัดช่วงเวลาระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์ การเข้าสู่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับการมีตัวอักษรใช้ เป็นการเริ่มต้นการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้น เป็นการบันทึกหลักฐานเหตุการณ์และการกระทำของมนุษย์ การบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ต้องมีสัญลักษณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหมายถึงต้องมีการประดิษฐ์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จารึกบ้านบ้านพันดุง อักษรปัลลวะ จังหวัดนครราชสีมา การกำเนิดของอักษรเริ่มต้นโดยการใช้สัญลักษณ์ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่เป็นภาพ เพราะมนุษย์จะจำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นภาพได้ดีที่สุด แต่ต่อมาสัญลักษณ์ต้องการให้เป็นความเฉพาะมากขึ้น ทำให้สัญลักษณ์ที่เป็นภาพได้ถูกปรับเปลี่ยนไป เป็นรูปแบบสัญลักษณ์เชิงนามธรรมที่มีความเข้าใจเฉพาะกลุ่ม ซึ่งสัญลักษณ์เชิงนามธรรมนี้เป็นต้นกำเนิดของอักษรในรูปแบบ จิตภาพ อักษรที่แทนจินตภาพนี้ต้องมีสัญลักษณ์อื่น ๆ เข้ามาประกอบเพื่อให้อ่านได้ใจความ เริ่มแรกของอักษรชนิดนี้มาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำ ไทกริสและยูเฟรติส คืออักษรลิ่ม อักษรลิ่มหรืออักษรแบบคูนิฟอร์มเดินทางโดยพ่อค้าเข้าไปในเอเชียกลาง ซึ่งอักษรลิ่มนี้พ่อค้าที่ไปทำการค้าในแถบอินเดียที่ตลาดสุ่มแม่น้ำสินธุ ใช้เพื่อจดบันทึกบัญชีในการทำการค้า เมื่อชาวท้องถิ่นและนักปราชญ์ได้เห็นอักษรเหล่านี้แล้วก็ได้ศึกษาและรับไปใช้ ปรับรูปแบบสัณฐานและกำหนดการแทนเสียงใหม่ให้ใช้กับฐานการณ์ของคนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้อักษรพราหมี จึงได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นและกระจายไปทั่วอนุทวีปอินเดีย จารึกอักษรเขมรโบราณ บ้านโพธิ์ จังหวัดนครราชสีมา อิทธิพลอักษรปัลลวะผ่านทางอักษรมอญโบราณ ในส่วนของอินเดียใต้นั้นในด้านของอักษรศาสตร์ จะมีลักษณะสัณฐานของอักษรที่กลมมน ซึ่งต่างจากอินเดียทางตอนเหนือ อักษรที่เด่นชัดที่สุดคืออักษรปัลลวะ อักษรปัลลวะเป็นอักษรที่มีลักษณะกลมมนหางยาว และมีเส้นตรงหัวอักษรที่ยาวเพื่อใช้เชื่อมต่อกับสระ อักษรชนิดนี้เกิดในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ และยังมีความเกี่ยวพันกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย กล่าวคืออักษรชนิดนี้ได้เดินทางมากับพ่อค้าทางเรือ และเข้ามากระจายอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทย หลักฐานที่ปรากฏของอักษรปัลลวะนี้จะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 และหลังจากพุทธศตวรรษที่ 13 ไปแล้วอักษรปัลลวะจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยตัดส่วนที่ยาวออก จนมีลักษณะกลมป้อมและเป็นรูปแบบของอักษรมอญ ซึ่งต่อมาเขมรได้รับไปดัดแปลงเป็นอักษรเขมรโบราณ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 19 สิ้นสุดอาณาจักรเขมร และอาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจถึงขีดสุด พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบอักษรเขมร ตัดตัวเฟื้องหรือตัวตีนซึ่งใช้เป็นอักษรควบกล้ำออก ปรับให้เป็นตัวเต็มให้เขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน แล้วให้เขียนสระอยู่รอบตัวอักษร ซึ่งอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้ ยังมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องโดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนเพียงเล็กน้อย จนกระทั้งสิ้นสุดสมัยอาณาจักอยุธยา และมีการเขียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุดในสมัยรัชการที่ 5 อักษรไทยที่ใช้กันอยู่ในสมัยปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากแรกเริ่มในอักษรปัลลวะ จนกระทั่งเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ที่ลักษณะรูปแบบของอักษร และอักขระวิธีมีความคล้ายคลึงกับในสมัยปัจจุบัน แต่ก็ยังมีร่องรอยของรากฐานเดิมที่ยังมีความเป็นอักษรเขมรโบราณอยู่ คือตัวอักษร ฐ และ ญ สังเกตตรงสัญลักษณ์ด้ายล่าง ตรงส่วนนี้ยังคงสภาพเดิมคือตัวเชิงไว้อยู่จนกระทั่งสมัยปัจจุบัน รูปแบบของอักษรมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดของช่วงเวลา เริ่มต้นตั้งแต่การรับอักษรปัลลวะมาใช้ และมีการตัดและดัดแปลงลายเส้นออก ให้เป็นตัวกลมป้อมอย่างอักษรมอญและเขมร และใช้รูปแบบนี้อยู่นานนับพันปี จนกระทั้งเขาสู่สมัยสุโขทัย ในยุคของพ่อขุนรามคำแหงลักษณะการเขียนมีความเปลี่ยนแปลงไป โดยตัวเฟื้องที่อยู่ด้านใต้อักษรถูกนำมาเป็นตัวเต็ม ด้านบนตัวนำและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้รูปแบบอักษรมีความเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะคนสมัยในปัจจุบันนำอักษรมาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ จึงมีการตกแต่งและประดิษฐ์ให้มีความสวยงาม และอักขระอักษรไทยในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนแล้ว เพราะใช้วิธีการพิมพ์เป็นหลัก เพราะเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นทำให้การเขียนในรูปแบบเก่าจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปแต่มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ความสำคัญในการศึกษาอักษรโบราณนั้นก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะเหตุว่าในแต่ละสัญลักษณ์ต่างมีความหมาย อีกทั้งการพบจารึกใหม่ ๆ ยังต้องมีการอ่านอยู่ เพื่อเป็นการศึกษาที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้การศึกษาอักษรโบราณในคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ภาพถ่ายโดย พงศธร อิ่มอุดม ผู้เขียนบทความ