รีเซต

อินเดียขาดแคลนออกซิเจนขั้นวิกฤติ!

อินเดียขาดแคลนออกซิเจนขั้นวิกฤติ!
TNN World
23 เมษายน 2564 ( 12:09 )
146
อินเดียขาดแคลนออกซิเจนขั้นวิกฤติ!

 

ข่าววันนี้ อินเดียเผชิญกับการขาดแคลนออกซิเจนมาตั้งแต่การระบาดรอบที่แล้ว อะไรที่ทำให้ประเทศประชากรมากอันดับ 2 ของโลก เผชิญกับภาวะเช่นนี้

 


ออกซิเจนขาดแคลนหนัก

 


สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโควิด-19 หลายคนต้องเสียชีวิตลง เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐาน “ออกซิเจน” โดยพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศเผชิญภาวะเดียวกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเดลี รัฐอุตตรประเทศ รัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราช และรัฐมัธยประเทศ ที่ไม่มีออกซิเจนเพียงพอช่วยผู้ป่วยอีกแล้ว 

 


จนเกิดเป็นกระแสในทวิตเตอร์ และโลกออนไลน์อื่น กับข้อความ ‘SOS’ หรือการ “ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” จากชาวอินเดียทั่วประเทศ 

 


พรรคฝ่ายค้านกำลังโจมตีรัฐบาลอย่างหนักถึงเรื่องนี้ เพราะ ‘ออกซิเจน’ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดที่โรงพยาบาลต้องมี เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยทุกราย ไม่เฉพาะผู้ป่วยโควิด

 


แต่กลับพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ออกซิเจนขาดแคลน มาจากการที่อินเดีย “ส่งออกออกซิเจน” ไปทั่วโลกในปีที่แล้วถึงปีนี้ มากกว่าช่วงปีก่อนหน้านั้นถึงเท่าตัว!

 


อินเดียส่งออก "ออกซิเจน" มากกว่าปกติ 

 


สำนักข่าว India Today รายงานข้อมูลการส่งออก ‘ออกซิเจน’ ของกระทรวงพาณิชย์อินเดีย พบว่า อินเดียได้ส่งออก ‘ออกซิเจน’ ไปทั่วโลกคิดเป็น 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้านั้น

 


โดยเป็นการส่งออกมากถึง 9,301 ตัน (1 ตัน = 1,000 กิโลกรัม) ระหว่างเดือนเมษายน 2020 ถึง มกราคม 2021 

 


เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบฯ 2020 ที่ส่งออกราว 4,502 ตัน 

 


นั่นหมายถึงการส่งออกเพิ่มขึ้นระหว่างที่เกิดโรคระบาดทั่วโลก ถึงเท่าตัว! 

 


การส่งออกออกซิเจน จะมาในรูปบบ “ของเหลว” ที่สามารถนำไปใช้ทั้งในอุตสาหกรรม และทางการแพทย์

 


จาก 700 ตัน เพิ่มเป็น 5,000 ตัน

 


อย่างไรก็ตาม ความต้องการออกซิเจนในอินเดียในช่วงเวลาปกตินั้นไม่สูงมากนัก จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่พบว่าความต้องการใช้ออกซิเจนเหลวทางการแพทย์ (LMO) เพิ่มขึ้นจาก 700 ตันต่อวัน เป็น 2,800 ตันต่อวัน 
ขณะที่ช่วงการระบาดรอบที่ 2 นี้ พุ่งสูงขึ้นไปเป็น 5,000 ตันต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงกว่าช่วงเวลาปกติถึง 5 เท่าตัว!

 


ข้อมูลที่การส่งออก ‘ออกซิเจน’ ของกระทรวงพาณิชย์ นี้ ทำให้หลายคนต่างโทษว่ารัฐบาลว่าส่งออกที่มากจนทำให้ในประเทศขาดแคลน แต่ยังมีข้อมูลอีกด้านที่พบว่า แท้จริงแล้วประเทศอินเดียสามารถผลิตออกซิเจนเหลวได้มากถึง 7,000 ตันต่อวัน แต่ต้องการใช้ 5,000 ตันต่อวัน ซึ่งก็น่าจะเพียงพอสำหรับทั่วประเทศ 

 


แล้วปัญหามันอยู่ที่ใดกันแน่? 

 


ปัญหาซ้อนในปัญหา

 


การจัดสรรปริมาณ ‘ออกซิเจน’ ที่ไม่เท่าเทียม ตลอดจนปัญหา ‘การขนส่ง’ คืออีกประเด็นหลักของวิกฤตขาดแคลนออกซิเจนในหลายรัฐ 

 


เพราะอินเดียมีโรงงานผลิตออกซิเจนหลายเจ้า อาทิ Inox Air, Linde India, Goyal MG Gases Pvt Ltd, National Oxygen Limited ซึ่งรวม ๆ แล้ว ผลิตได้มากกว่า 7,200 ตันต่อวัน 

 


ซิดด์ฮาร์ธ เจน (Siddharth Jain) ผู้อำนวยการของ Inox Air บอกว่า จริง ๆ แล้ว “ปริมาณออกซิเจน” ไม่ได้ขาดแคลน แต่ปัญหาคือเรื่องของการ “ขนส่งสินค้า” เป็นหลัก เพราะโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในทุกรัฐ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งไปยังรัฐที่เผชิญกับวิกฤติ แต่ที่น่ากังวลคือ หากผู้ติดเชื้อพุ่งจาก 300,000 คน ไปเป็น 500,000 คนแล้ว เมื่อนั้น จะเผชิญการขาดแคลนออกซิเจนจริง ๆ 

 


ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาอีกอย่างคือ ‘ถังแช่แข็ง’ ที่ต้องใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขนส่งออกซิเจนเหลว  ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ยาก เพราะโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีถังที่ว่านี้ และการผลิตถังแช่แข็งนี้ ก็อาจใช้เวลานานกว่า 4 เดือน  
และการขาดแคลนถังแช่แข็งนี้เอง จึงทำให้การขนส่งออกซิเจนระหว่างรัฐ จากโรงงานไปยังโรงพยาบาล ก็ยากไปด้วย  และยิ่งสถานพยาบาลนั้นอยู่ห่างไกล ก็จะยิ่งยากต่อการขนส่ง 

 


จากผู้ส่งออก สู่การนำเข้า

 


ปัจจุบัน รัฐบาลได้ตัดสินใจนำเข้าออกซิเจน 50,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยรัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งโรงงาน Pressure Swing Adsorption (PSA) ขึ้น 162 แห่ง ทั่วทุกรัฐ โดยแต่ละโรงงานจะสามารถผลิตออกซิเจนได้ราว 154.19 ตัน 

 


Pressure Swing Adsorption (PSA) เป็นวิธีในการแยกและกลั่นแก๊สผ่านทางกระบวนการดูดซับ (adsorption) และการคายการดูดซับ (desorption) โดยใช้การสลับความดันของแก๊ส 

 


ปัจจุบันตั้งได้แล้ว 33 โรงงาน รวมถึง 5 แห่งในมัธยประเทศ, 4 แห่งใน หิมาจัลประเทศ, 3 แห่งในจัณฑีครห์ คุชราช และอุตตรขันธ์ และ 2 แห่งในรัฐพิหาร และกรณาฎกะ เป็นต้น

 



เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: Reuter

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง