มจพ.ส่งดาวเทียมไทยเขย่าโลก หนุน ‘เอ็นบีสเปซ’ ผนึกเดนมาร์ก
ประเทศไทยกำลังประกาศเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียม ล่าสุด ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้ง
สตาร์ตอัพ เอ็นบีสเปซ (NBSpace) พัฒนาดาวเทียม โดยร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตดาวเทียมจากประเทศเดนมาร์ก ประกาศความพร้อม นำเทคโนโลยีชั้นสูงดันไทยเป็นฐานผลิตดาวเทียมป้อนตลาดโลก
ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
(สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า มจพ.โดย สทอศ.คิดค้นวิจัยและพัฒนาดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตในอุตสาหกรรมดาวเทียมในระดับโลก ล่าสุดร่วมมือเพื่อพัฒนาดาวเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเทียมประเทศเดนมาร์ก ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ มจพ.ยังสนับสนุนจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่สตาร์ตอัพ ในนามบริษัท NBSpace ขึ้น เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดาวเทียม ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศตั้งต้น และพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.พงศธรกล่าวว่า สำหรับประเทศเดนมาร์กพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ผลิตดาวเทียมเทคโนโลยีชั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยียุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพ มีสถาบันการศึกษา อาทิ อัลบอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ (Aalborg University) มีผลงานวิจัยดาวเทียมชั้นสูง อาทิ การนำระบบอัลสเปซ คลาวด์ ออน-บอร์ด อิมเมจ โปรเซสซิ่ง (AI Space Cloud on-board image processing) ใช้เอไอควบคุมระบบปฏิบัติการ ช่วยลดปัญหาความผิดพลาดจากการควบคุมของมนุษย์, ระบบสื่อสารด้วยเลเซอร์ ออพติคัล ดาต้าลิงก์ เทคโนโลยีชั้นสูงด้านการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ มีการเข้ารหัสป้องกันปัญหาการแฮกค์ข้อมูล (End-to-End Encryption), การเชื่อมต่อระบบอินเตอร์-แซทเทิลไลท์ ดาต้า รีเลย์ ซิสเทม (Inter-Satellite Data Relay System) เพื่อรับ-ส่งสัญญาณต่อเนื่องเป็นต้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตดาวเทียมเดนมาร์ก มีขีดการพัฒนาสูงสุด สามารถพัฒนาตามวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงสำหรับลูกค้านานาประเทศ หลังจากประสบความสำเร็จในกิจการดาวเทียมเพื่อการศึกษามายาวนานแล้ว
“เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมกลุ่ม นาโนแซท (Nanosat) ที่มีขนาด 1 U หรือ 10 cm ขึ้นไป เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ไมโครแซท ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และต้นทุนสูง ผลิตยาก อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก, แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานที่ยาวนานถึง 5 ปี ระบบควบคุมทิศทาง ระบบการเชื่อมโยงสัญญาณและระบบการจัดการข้อมูลระบบการบันทึกภาพที่มีความละเอียดคมชัดในระยะยาวไกล มีประสิทธิภาพสูงกว่าดาวเทียมขนาดใหญ่ที่มีใช้กันมาในอดีต” ดร.พงศธรกล่าว
ดร.พงศธรกล่าวว่า ปัจจุบัน มจพ.กำลังพัฒนาดาวเทียมขนาด 2U, 3U และ 6U หรือมัลติ-เพย์โหลด คิวบ์
แซท แพลตฟอร์ม เอ็มพีซีพี (Multi-Payload Cubesat Platform MPCP) ในโครงการแนคแซท (Knacksat) จะทยอยขึ้นสู่อวกาศภายใน 2 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป จากความร่วมมือกับทางกลุ่มผู้ผลิตดาวเทียมจากประเทศเดนมาร์กดังกล่าวจะช่วยให้โครงการ Knacksat สัมฤทธิผลโดยเร็วอีกด้วย
ด้าน นายอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท NBSpace จำกัด เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาโครงการดาวเทียมไทยเรากำลังจะได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเทียมประเทศเดนมาร์ก จะช่วยสนับสนุนให้ NBSpace สามารถผลิตดาวเทียมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไป อย่างครอบคลุมรอบด้าน ความร่วมมือที่ดีจากองค์การอวกาศภายนอกประเทศและหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กสทช. และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สนใจเตรียมศึกษาและสร้างความร่วมมือ เพื่อนำสู่การผลิตสำหรับใช้ประโยชน์ตอบโจทย์พันธกิจในอนาคต เรากำลังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนำพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมดาวเทียมในอนาคตอันใกล้
นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯศึกษา ค้นคว้าวิจัย ระบบการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียม อาทิ การวางแผนถ่ายภาพ, การรองรับการเติบโตของการจราจรทางอากาศ, ระบบการบริหารจัดการในอากาศของกระทรวงมหาดไทย อาทิ การควบคุมการปล่อยบั้งไฟ โคมลอย เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ประโยชน์จากภาคนโยบาย, ความมั่นคง, อุตสาหกรรมและประชาสังคมในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ มจพ. และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมจากเดนมาร์ก พัฒนาสร้างบุคลากรของประเทศด้านดาวเทียมและอวกาศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมไทยในอนาคตอันใกล้นี้