รพ.สวนดอก เผยวัคซีนแก้โควิด-19 ยังต้องใช้เวลา เตือนคนเชียงใหม่ป้องกันตนเอง
วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี2563ของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า สำหรับประเทศไทยตอนนี้ ถึงจะเรียกว่าการระบาดระลอกใหม่หรือการระบาดระลอกสองอะไรก็แล้วแต่ แต่การที่เราเจอตัวเลขผู้มีเชื้อ 500กว่าคนในที่ๆเดียวในวันเดียวนี่ พวกเราก็รับรู้แล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ธรรมดา
รศ.นพ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ได้เตือนทุกคนเสมอว่าให้ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างและให้ระมัดระวังตัวเองตลอด ซึ่งที่ผ่านมาการที่พวกเราปฏิบัติกันนก็เลยไม่มีเหตุการณ์ระบาดเหมือนแบบที่เห็นในต่างประเทศ ที่เกิดการระบาดวันละเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะพวกเราก็ช่วยกันอยู่ แต่ก็อาจจะโชคดีที่ว่าพวกเราอายุยังไม่เยอะก็เลยไม่ค่อยมีอาการ และยังโชคดีที่ว่าไม่ไปติดคนที่บ้าน แต่ยังไงๆ ต้องทำใจ โรคมันคือโรค มันมองไม่เห็น แต่มันมีอยู่จริง กรณีของเจ้าของแพปลานี่ถ้า ถ้าเราไม่ได้ไปสืบค้นโรคไม่แสดงอาการ เราก็อาจจะไม่รู้ก็ได้ ถ้าให้ดีที่สุดก็คงต้องระวังตนเองและระวังคนอื่นให้ดีที่สุดไว้ก่อน
“เพราะฉะนั้นการระบาดคราวนี้ ถ้าดูกับการระบาดของที่อื่นถือว่าเราทำได้ดีมากแล้วนะครับ ถ้าดูจากจำนวนเคส 4,000 กว่าเคส อันดับที่ 150 เพราะฉะนั้นก็ฝากไว้ว่าเราไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะระบาดหรือไม่ระบาดให้ป้องกันตัวเองให้ดีป้องกันคนอื่น แล้วเราก็จะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”
รศ.นพ.ชัยวัฒน์ กล่าววอีกว่า ส่วนการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทยนั้นยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะทำได้ แต่คงจะต้องมีความร่วมมือกันกับเชนของต่างประเทศในการที่ต้องมีการทดสอบพัฒนา ซึ่งต้องรอการทดสอบมนุษย์ว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร
หากถามว่าเมืองไทยจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้ แต่เท่าที่สอบถามจากผู้รู้ คงไม่เร็วกว่าครึ่งปี แต่ในเมื่อที่อเมริกามีการแอพพรูฟแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสมาให้ทางองค์การอาหารและยาของประเทศไทยได้แอพพรูฟ โดยเฉพาะการนำเข้ามาเฉพาะราย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการจะใช้ แต่คิดว่าราคาน่าจะแพงอยู่
“ถ้าถามว่าอย่างเร็วที่ประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ สองสามเดือนก็น่าจะมีโอกาสมาถึง แต่ไม่แน่ใจเรื่องราคา และการเข้าถึงต่างๆ ในช่วงแรกรัฐบาลก็อาจจะเน้นแจกจ่ายไปทางกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงวัย หรือผู้มีโรคประจำตัวก่อนอใน 6 เดือนข้างหน้าหรือ ภายใน 1 ปีอาจจะมีให้เห็นเข้ามา”