รีเซต

สงครามซีเรีย : 10 ปีของการสู้รบ กับเกือบ 7 แสนชีวิตที่ตายหรือสูญหาย

สงครามซีเรีย : 10 ปีของการสู้รบ กับเกือบ 7 แสนชีวิตที่ตายหรือสูญหาย
ข่าวสด
16 มีนาคม 2564 ( 13:22 )
109
สงครามซีเรีย : 10 ปีของการสู้รบ กับเกือบ 7 แสนชีวิตที่ตายหรือสูญหาย

การลุกฮืออย่างสันติเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีซีเรียเมื่อ 10 ปีก่อน กลับกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ความขัดแย้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 380,000 คน สร้างความเสียหายให้แก่เมืองต่าง ๆ และทำให้หลายประเทศต้องเข้ามาร่วมสู้รบ

 

AFP

สงครามซีเรียเริ่มต้นขึ้นอย่างไร

ก่อนที่ความขัดแย้งจะเริ่มต้นขึ้น ชาวซีเรียพากันตำหนิเรื่องอัตราการว่างงานที่สูง การทุจริต และการขาดเสรีภาพทางการเมือง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากนายฮาเฟซ บิดา ที่เสียชีวิตลงในปี 2000

มี.ค. 2011 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นในเมืองเดอรา ทางใต้ของประเทศ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการลุกฮือประท้วงต่อต้านผู้ปกครองที่กดขี่ในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ

 

เมื่อรัฐบาลซีเรียใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ได้เกิดการประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีซีเรียลาออกทั่วประเทศ

ความไม่สงบได้แผ่ขยายออกไป และก็มีการปราบปรามหนักข้อขึ้น ผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านลุกขึ้นมาจับอาวุธ ในช่วงแรกพวกเขาแค่ป้องกันตัวเอง แต่ต่อมาก็ใช้อาวุธกำจัดกองกำลังทางการออกไปจากพื้นที่ด้วย นายอัสซาด รับปากว่า จะปราบปรามสิ่งที่เขาเรียกว่า "การก่อการร้ายที่ต่างชาติหนุนหลัง"

 

Reuters

 

ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และซีเรียได้เข้าสู่สงครามกลางเมือง มีกลุ่มกบฏเกิดขึ้นหลายร้อยกลุ่มและในเวลาไม่นานความขัดแย้งนี้ก็กลายเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่างชาวซีเรียที่สนับสนุนนายอัสซาดกับชาวซีเรียที่ต่อต้านเขา ชาติมหาอำนาจในต่างประเทศได้เริ่มเลือกข้าง ส่งทั้งเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ และนักรบเข้ามา ขณะที่ความวุ่นวายเริ่มเลวร้ายลง องค์กรจีฮัดสุดโต่งที่มีเป้าหมายของตัวเองอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State--IS) และอัลกออิดะห์ (al-Qaeda) ก็ได้เข้ามาร่วมสู้รบด้วย ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้นในประชาคมโลก ซึ่งมองว่ากลุ่มเหล่านี้คือภัยคุกคามที่สำคัญ

 

ชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง แต่ไม่ได้สู้รบกับกองกำลังของนายอัสซาด เป็นอีกมิติหนึ่งของความขัดแย้งนี้

 

BBC

มีผู้เสียชีวิตแล้วมากแค่ไหน

Reuters

องค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย (Syrian Observatory for Human Rights--SOHR) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรโดยมีเครือข่ายจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ ได้รวบรวมหลักฐานการเสียชีวิตของคน 387,118 คน จนถึงเดือน ธ.ค. 2020 ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 116,911 คน

ยอดรวมผู้เสียชีวิตนี้ไม่รวมถึงคน 205,300 คน ที่ทางกลุ่มระบุว่าสูญหายหรือถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว รวมถึงพลเรือน 88,000 คน ที่เชื่อว่าเสียชีวิตแล้วจากการทรมานตามเรือนจำที่ดำเนินการโดยรัฐบาล

 

BBC

กลุ่มสังเกตการณ์อีกกลุ่มหนึ่งคือ ศูนย์พิสูจน์การล่วงละเมิด (Violations Documentation Center) ซึ่งใช้ข้อมูลจากนักเคลื่อนไหวทั่วประเทศ ได้บันทึกสิ่งที่ทางกลุ่มเห็นว่า ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการโจมตีพลเรือน

โดยมีหลักฐานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบของคนจำนวน226,374 คน รวมถึงพลเรือน 135,634 คน ถึงเดือน ธ.ค. 2020

ยูนิเซฟ (Unicef) หน่วยงานด้านเด็กของสหประชาชาติ ระบุว่า มีเด็กเกือบ 12,000 คน เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

 

BBC

BBC

ใครมีส่วนร่วมในการสงครามนี้บ้าง

AFP

ผู้สนับสนับหลักของรัฐบาลซีเรียในช่วงที่ผ่านมาคือ รัสเซียและอิหร่าน ขณะที่ตุรกีและชาติมหาอำนาจในโลกตะวันตกและหลายชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียในระดับที่แตกต่างกันไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

รัสเซีย ซึ่งมีฐานทัพทหารอยู่ในซีเรียก่อนที่จะเกิดสงคราม ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศเพื่อสนับสนุนนายอัสซาดในปี 2015 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงครามที่ทำให้รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายได้เปรียบ

 

กองทัพรัสเซียระบุว่า โจมตีเป้าหมายที่เป็น "ผู้ก่อการร้าย" เท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า การโจมตีของรัสเซียได้ทำให้กลุ่มกบฏกระแสหลักและพลเรือนเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ

ส่วนอิหร่าน คาดกันว่าได้ส่งทหารหลายร้อยนายและเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือนายอัสซาด

 

นักรบมุสลิมนิกายชีอะห์หลายพันคนได้รับการติดอาวุธ ฝึกฝน และได้รับเงินจากอิหร่าน เพื่อร่วมต่อสู้เคียงข้างกองทัพซีเรีย ส่วนใหญ่พวกเขามาจากขบวนการเคลื่อนไหวเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน แต่ก็มีมาจากอิรัก อัฟกานิสถานและเยเมนเช่นกัน

สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ในตอนแรกสนับสนุนกลุ่มที่พวกเขามองว่าเป็นกลุ่มกบฏ "สายกลาง" แต่ทั้งสามชาตินี้เน้นช่วยเหลือในด้านที่ไม่ร้ายแรง เพราะนักรบจีฮัดกลายเป็นกองกำลังหลักในฝ่ายต่อต้านที่ติดอาวุธ

 

กองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ ได้โจมตีทางอากาศหลายครั้งและส่งกองกำลังพิเศษหลายกองกำลังเข้าไปในซีเรียนับตั้งแต่ปี 2014 เพื่อช่วยกลุ่มพันธมิตรนักรบอาหรับและชาวเคิร์ดที่เรียกว่า กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces--SDF) ยึดครองดินแดนที่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธไอเอสเคยยึดครองอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

 

ตุรกีเป็นผู้สนับสนุนหลักของฝ่ายต่อต้าน แต่ตุรกีมุ่งเน้นไปที่การใช้กลุ่มกบฏต่าง ๆ ในการควบคุมนักรบวายพีจีของชาวเคิร์ดที่เป็นกำลังหลักของ SDF โดยกล่าวหาว่า กลุ่มชาวเคิร์ดกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ขยายตัวมาจากกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดต้องห้ามในตุรกี

 

ทหารของตุรกีและกลุ่มกบฏที่อยู่ฝ่ายเดียวกันได้ยึดดินแดนตามแนวชายแดนทางตอนเหนือของซีเรียและได้เข้าแทรกแซงเพื่อยุติการโจมตีเมืองอิดลิบ ฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้าน อย่างไม่ลดละของกองกำลังรัฐบาล

ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องการที่จะต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน ได้ติดอาวุธและให้เงินสนับสนุนกลุ่มกบฏในช่วงเริ่มต้นสงคราม เช่นเดียวกับกาตาร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งของซาอุดีอาระเบีย

 

ขณะที่อิสราเอล กังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งที่อิหร่านเรียกว่า "การตั้งมั่นของทหาร" ในซีเรีย และการขนส่งอาวุธของอิหร่านให้แก่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์และนักรบชีอะห์อื่น ๆ ที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งมากขึ้นเพื่อที่กำจัดกลุ่มกบฏ

 

BBC

ซีเรียได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

AFP

SOHR ระบุว่า สงครามนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน และผลของความขัดแย้งนี้ยังทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือพิการถาวรอีกกว่า 2.1 ล้านคน

 

ประชากรในช่วงก่อนเกิดสงคราม 22 ล้านคนของซีเรีย มากกว่าครึ่งต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเอง มีชาวซีเรีย 6.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ หลายคนยังคงอาศัยอยู่ตามค่ายต่าง ๆ ขณะที่อีก 5.6 ล้านคนได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านของซีเรีย ทั้งเลบานอน จอร์แดนและตุรกี ซึ่งรองรับผู้ลี้ภัย 93% ของผู้ลี้ภัยซีเรียทั้งหมด ต้องรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มีเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเกิดระหว่างการลี้ภัย 1 ล้านคน

 

BBC

จากข้อมูลของสหประชาชาติถึงเดือน ม.ค. 2021 มีประชาชน 13.4 ล้านคนในซีเรียจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบางอย่าง ในจำนวนนี้มี 6 ล้านคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ผู้คนมากกว่า 12 ล้านคน เผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารในแต่ละวันและเด็กมากกว่า 5 แสนคนขาดสารอาหารเรื้อรัง

 

ในปีที่ผ่านมา วิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ค่าเงินของซีเรียตกต่ำลงอย่างมาก และราคาอาหารได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ซีเรียยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่ทราบว่ามีขอบเขตกว้างแค่ไหน เพราะขีดความสามารถในการตรวจหาการติดเชื้อทำได้อย่างจำกัด และระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่

 

BBC

 

ย่านที่พักอาศัยและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั่วประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังจากการสู้รบนาน 10 ปี การวิเคราะห์ทางดาวเทียมของสหประชาชาติระบุว่า มีสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 35,000 แห่งที่ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายในเมืองอเลปโปเพียงแห่งเดียว ก่อนที่รัฐบาลจะยึดเมืองนี้กลับคืนไปได้ในช่วงปลายปี 2016

 

หน่วยงานแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน (Physicians for Human Rights) มีหลักฐานถึงเดือน มี.ค. 2020 ว่า มีการโจมตีสถานพยาบาล 350 แห่ง ราว 595 ครั้ง ส่งผลให้มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 923 คน แม้ว่าสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์มีสถานะได้รับการปกป้อง

 

การโจมตีเช่นนี้ทำให้มีโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่ยังคงให้บริการอย่างเต็มที่

มรดกทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ของซีเรียจำนวนมากได้รับความเสียหายเช่นกัน สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกทั้ง 6 แห่งในซีเรีย ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยสมาชิกกลุ่มติดอาวุธไอเอสได้จงใจระเบิดหลายพื้นที่ในเมืองโบราณพัลไมรา

เจ้าหน้าที่สอบสวนอาชญากรรมสงครามของสหประชาชาติได้กล่าวหาทุกฝ่ายว่า กระทำ "การละเมิดอย่างโหดเหี้ยมที่สุด" รายงานชิ้นล่าสุดของเจ้าหน้าที่สอบสวนระบุว่า "ชาวซีเรียทุกข์ทรมานจากการทิ้งระเบิดทางอากาศเป็นบริเวณกว้างในย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น พวกเขาเผชิญกับการโจมตีด้วยอาวุธเคมี และการปิดล้อมสมัยใหม่ ซึ่งผู้กระทำการจงใจที่จะทำให้ประชากรขาดแคลนอาหาร และทำให้มีข้อกำจัดต่อการให้ความช่วยทางมนุษยธรรมอย่างน่าละอาย"

 

BBC

ใครควบคุมพื้นที่ไหนบ้างในประเทศ

AFP

รัฐบาลได้ควบคุมเมืองที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่งทั่วประเทศ แต่กลุ่มกบฏ นักรบจีฮัด และกลุ่ม SDF ซึ่งนำโดยชาวเคิร์ดยังคงยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในซีเรียอยู่

ฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้านอยู่ในจังหวัดอิดลิบทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และพื้นที่ติดต่อกันหลายส่วนของจังหวัดฮามาทางเหนือและจังหวัดอเลปโปทางตะวันตก

 

พันธมิตรนักรบจีฮัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะห์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham--HTS) ยึดครองภูมิภาคนี้ แต่ที่นี่ยังเป็นบ้านของกลุ่มกบฏกระแสหลักหลายกลุ่มเช่นกัน คาดว่า ผู้พลัดถิ่นฐานราว 2.7 ล้านคน รวมถึงเด็ก 1 ล้านคน อาศัยอยู่ที่นี่ ในจำนวนนี้หลายคนต้องใช้ชีวิตในสภาพที่เลวร้ายภายในค่ายต่าง ๆ

 

BBC

ในเดือน มี.ค. 2020 รัสเซียและตุรกีได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหยุดยิง เพื่อหยุดยั้งการพยายามยึดเมืองอิดลิบกลับคืนมาของรัฐบาลซีเรีย นับตั้งแต่นั้นก็เกิดความสงบขึ้นในพื้นที่นี้ แต่การปะทะกันก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กองกำลังของตุรกีและกลุ่มกบฏซีเรียที่เป็นพันธมิตรได้โจมตีกลุ่ม SDF ในเดือน ต.ค. 2019 และสร้าง "เขตปลอดภัย" ขึ้นมา เพื่อกันนักรบวายพีจีชาวเคิร์ดออกไปจากพื้นที่ตามแนวชายแดนในฝั่งซีเรีย และได้เข้ามายึดครองพื้นที่นี้เป็นแนวยาว 120 กิโลเมตรนับจากนั้นเป็นต้นมา

 

การชะลอการโจมตีกลุ่ม SDF ทำให้มีการบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลซีเรียขึ้น ส่งผลให้กองทัพซีเรียยอมกลับไปสู่ภูมิภาคที่ปกครองโดยชาวเคิร์ดเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี รัฐบาลซีเรียรับปากว่า สุดท้ายแล้วก็จะเข้ามายึดครองพื้นที่นี้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

BBC

สุดท้ายแล้วสงครามนี้จะยุติลงหรือไม่

AFP

ดูเหมือนว่าจะยังไม่ยุติลงในเร็ววันนี้ แต่ทุกคนเห็นชอบว่า จำเป็นต้องหาทางออกทางการเมือง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการบังคับใช้แถลงการณ์ร่วมเจนีวา (Geneva Communiqué) ปี 2012 ซึ่งกำหนดให้มี "การตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่านบนพื้นฐานของการยินยอมร่วมกัน"

 

การเจรจาสันติภาพที่สหประชาชาติเป็นตัวกลางจัดขึ้น 9 รอบ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กระบวนการเจนีวา 2 (Geneva II process) ไม่มีความคืบหน้า โดยประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียไม่เต็มใจเจรจากับกลุ่มตรงข้ามทางการเมืองต่าง ๆ ที่ยืนกรานว่า ต้องมีเงื่อนไขส่วนหนึ่งของข้อตกลงใด ๆ ก็ตามให้เขาต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

รัสเซีย อิหร่าน และตุรกี ได้จัดการเจรจาทางการเมืองคู่ขนานขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ กระบวนการอัสตานา (Astana process) ในปี 2017

 

มีการบรรลุข้อตกลงกันหนึ่งฉบับในปีต่อมาเพื่อตั้งคณะกรรมการที่มีสมาชิก 150 คน ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น เพื่อทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยจะมีสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ แต่ในเดือน ม.ค. 2021 แกร์ เพเดอร์เชน ทูตพิเศษสหประชาชาติ แสดงความเสียใจว่า คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่เริ่มร่างการปฏิรูปใด ๆ เลย

 

นายเพเดอร์เชน ยังตั้งระบุด้วยว่า การที่มีกองทัพต่างชาติ 5 ชาติเคลื่อนไหวอยู่ในซีเรีย ประชาคมโลกไม่อาจที่จะแสร้งทำเป็นว่า ทางออกของความขัดแย้งนี้อยู่ในมือของชาวซีเรียเท่านั้น