รีเซต

‘สทนช.’เปิดแผนน้ำปี’64 พร้อมรับมือ ‘แล้ง-ท่วม’

‘สทนช.’เปิดแผนน้ำปี’64 พร้อมรับมือ ‘แล้ง-ท่วม’
มติชน
25 มกราคม 2564 ( 11:00 )
60
‘สทนช.’เปิดแผนน้ำปี’64 พร้อมรับมือ ‘แล้ง-ท่วม’

หมายเหตุ – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงแผนบริหารจัดการน้ำปี 2564

 

แผนบริหารจัดการน้ำในปี 2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีการประชุมคณะทำงานประเมินสถานการณ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ประกอบกับการวางแผนบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

 

2.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการคาดการณ์จัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เพาะปลูกใช้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง และออกมาตรการในการควบคุมกำกับการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำ

 

3.มอบสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือจิสด้า เป็นหน่วยงานหลักในการประเมินสำรวจผักตบชวาในแหล่งน้ำต่างๆ โดยใช้ภาพดาวเทียม และมอบ สทนช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียนการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่

 

สำหรับแผนการจัดการลุ่มน้ำปัตตานีนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
เป็นประธาน เห็นชอบให้ อบจ.ปัตตานี ดำเนินการโครงการสถานีสูบน้ำดิบ พร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

 

ส่วนมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงมหาดไทย คาดว่าในบางพื้นที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปนั้น สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามปฏิทินการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง จัดมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำ เร่งดำเนินการตามมาตรการในส่วนที่รับผิดชอบ และขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจากหน่วยงานปฏิบัติในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกจังหวัด ร่วมกับท้องถิ่น และภาคประชาชน

 

มาตรการในการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2563/2564 มีดังนี้

1.เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนหมดฤดูฝน 2.จัดหาแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียงและแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง
3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ
4.กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตาม กำกับ ให้เป็นไปตามแผนเพื่อให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภค บริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ
5.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง
6.วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรโดยให้กำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วชัดเจน
7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3 อาร์ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
8.ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าได้ตามแผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนช.มีมติเห็นชอบโครงการสำคัญที่หน่วยงานที่มีความพร้อมในการขอตั้งงบประมาณประจำปี 2565 โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรุงเทพฯ 4 โครงการ ในการบรรเทาและแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขต กทม. เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 20,700 เมตร ประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ดาดท้องคลองใต้สะพาน สะพานคนเดินข้าม พร้อมติดตั้งราวเหล็กกันตก บันไดเหล็กหน้าเขื่อน และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี หรือปี 2565-2568

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝน ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ บางแค หนองแขม และทวีวัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 14 ตร.กม. สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของ กทม.ให้ระบายผ่านคลองบางไผ่ไปยังคลองทวีวัฒนาหรือไปทางคลองพระยาราชมนตรี เพิ่มปริมาตรเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำได้ 186,300 ลบ.ม. แล้วระบายลงสู่โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ได้สองทาง อัตราการไหลสอดคล้องกับอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาและอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี 2.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 27,400 เมตร พร้อมติดตั้งสะพานเหล็กทางเดิน บันไดขึ้น-ลง และก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย ความยาว 27,400 เมตร ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ระหว่างปี 2565-2569

เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเร่งระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำฝนในพื้นที่เขตคลองสามวา มีนบุรี และหนองจอก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 90 ตร.กม. สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. โดยให้คลองแสนแสบเป็นเสมือนแก้มลิงและทำหน้าที่ระบายน้ำไปยังแม่น้ำบางปะกง โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 479,500 ลบ.ม. อัตราการไหล 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

3.โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางนาจากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 14,500 เมตร ระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย ความยาว 14,500 เมตร พร้อมติดตั้งราวเหล็กกันตก บันไดเหล็กหน้าเขื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี หรือปี 2565-2568

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เขตบางนาและเขตประเวศ ครอบคลุมพื้นที่ 25 ตร.กม. ลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง ประชาชนสามารถใช้เป็นทางเดินสัญจรและทางจักรยานออกกำลังกาย นอกจากนี้จะมีการพัฒนาภูมิทัศน์ริมฝั่งคลองด้วย

4.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร ยาว 1,700 เมตร อาคารรับน้ำคลองลาดพร้าว 1 แห่ง งานเชื่อมต่ออุโมงค์กับอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ 1 แห่ง และระบบระบายน้ำคลองด่วนลงสู่คลองบางซื่อ 1 แห่ง ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ระหว่างปี 2565-2568

จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตห้วยขวาง ลาดพร้าว และจตุจักร โดยเพิ่มพื้นที่ในการระบายน้ำลงสู่อุโมงค์อีก 36.60 ตร.กม. สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมขังและลดปัญหาการจราจรติดขัดจากน้ำท่วมผิวจราจรได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กนช.ยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สทนช. กระทรวงมหาดไทย กทม. องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคเอกชน บูรณาการขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำ เสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำของประชาชน ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ

รวมทั้งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ สทนช.ได้ศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำมูลตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำมูลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 44 ล้านไร่ และมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 33 ล้านไร่ ขณะที่ความต้องการน้ำ
ในภาพรวมมีมากกว่า 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ลุ่มน้ำมูลสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 5,350 ลบ.ม. จึงส่งผลให้ลุ่มน้ำมูลประสบปัญหาเรื่องน้ำมา
โดยตลอด

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกแนวใหม่ที่เรียกว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ ซึ่ง สทนช.นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจํากัดของสิ่งแวดล้อม ทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบในการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

ทั้ งนี้ มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครั้งนี้รวม 1,282 ตำบล 151 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

สำหรับการศึกษาเอสอีเอ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำมากขึ้น แต่วัตถุประสงค์หลักของขั้นตอนนี้ คือเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่มีปัญหาตามมาที่หลัง โดย สทนช.จะเป็นหน่วยงานหลักในการแจกจ่ายข้อมูลให้กับทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน

ยืนยันว่าการศึกษาเอสอีเอไม่ส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษาเอสอีเอให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะนำมาปรับใช้กับแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ในประเทศต่อไป

ขณะที่สถานการณ์น้ำทั่วประเทศปัจจุบัน แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำใช้การ 18,086 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4,447 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 24% ของความจุอ่าง ภาคกลาง 732 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 60% ความจุอ่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,655 หรือคิดเป็น 53% ความจุอ่าง ภาคตะวันตก 4,928 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุอ่าง ภาคตะวันออก 810 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่าง และภาคใต้ 3,514 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64% ของความจุอ่าง

ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทาง กอนช.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือแล้ว อาทิ กรมชลประทาน เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณบ้านเตว็ดกลาง หมู่ 4, 5 และ 9 ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เพื่อสูบน้ำจากคลองตาแห้ง หนองนกงิ้ว และหนองมะโกเขียว ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่

ส่วนคุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวังน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน