ถึงเวลาแล้วที่จะมาเริ่มต้นธุรกิจด้วย Business model Canvas หลังจากที่ได้กล่าวถึงแนวคิดของกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking Process ในบทความที่แล้ว (https://intrend.trueid.net/post/215465) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐาน สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ (User) ได้จริงในขั้นต่อไป (Next Step) ผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้สร้างสรรค์ออกมาแล้วนั้น แม้จะมั่นใจได้ว่า มีคนใช้แน่ ๆ หรือในทางธุรกิจก็หมายถึงมีลูกค้า แต่สิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว ไม่ได้มีเพียงสินค้าเท่านั้น แผนธุรกิจ (Business model) ก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจเช่นกัน ดังนั้น สำหรับใครก็ตามที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ อาจเริ่มต้นด้วยการวางแผนผ่าน Business model Canvas ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยจะพิจารณา 9 ประเด็นสำคัญ สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างมืออาชีพ ดังนี้เครดิตภาพ: ภาพของผู้เขียน จาก Canva 1. ลูกค้า (Customer Segments; CS)ในขั้นแรก จะต้องตอบให้ได้ว่าสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่จะนำมาสร้างธุรกิจ มีไว้เพื่อขายให้ใคร (ลูกค้า) และใครเป็นคนที่จะใช้สินค้า (ผู้ใช้) เช่น สินค้าสำหรับเด็กอ่อน แน่นอนว่าผู้ใช้ก็จะต้องเป็นเด็ก แต่ลูกค้าอาจจะเป็น พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองของเด็กนั่นเอง ส่วนมากลูกค้ามักจะเป็นผู้ใช้สินค้าเอง เมื่อระบุลูกค้าได้แล้ว ก็ควรใส่รายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจนด้วยว่า ลูกค้าอาศัยอยู่ที่จังหวัดหรือประเทศใด ช่วงอายุเท่าไร อาชีพอะไร มีพฤติกรรมแบบไหน เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าและวางแผนธุรกิจต่อไปได้อย่างชัดเจนภาพถ่ายโดย Tim Douglas จาก Pexels 2. ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Ralationships; CR)สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน นอกจาก จะมีสินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพแล้ว การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการซ้ำ ทำให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ในทุกวันนี้ สินค้าและบริการต่าง ๆ มุ่งเน้นที่จะรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นอย่างมาก เช่น การให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านบริการ Call center การมีบริการหลังการขายต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น ในส่วนนี้ควรระบุให้ชัดเจนว่าจะมีแนวทางที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าอย่างไร 3. ช่องทางการติดต่อและสื่อสารกับลูกค้า (Chanels; CH)หากมีสินค้าและบริการที่ดี รวมถึงแนวทางการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าแล้ว แต่ไม่สามารถสื่อสารให้กับลูกค้าได้ ก็คงจะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในส่วนนี้จึงควรจะระบุช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสมกับลูกค้าให้ชัดเจน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของลูกค้าในข้อที่ 1 เช่น ลูกค้ามีพฤติกรรมชอบเล่น Social media ทั้ง Facebook IG และ Twistter ช่องทางการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณา ก็ควรจะมีสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ เพราะจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า ซึ่งช่องทางการติดต่อและสื่อสารกับลูกค้าสามารถมีได้มากกว่า 1 ช่องทางเครดิตภาพ: Mediamodifier จาก Pixabay 4. คุณค่า (Value Propositions; VP)ในหัวข้อนี้ อาจถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ นั่นคือ เรื่องคุณค่าของสินค้าหรือบริการ ที่ต้องการจะนำมาสร้างธุรกิจ เพราะหากข้อนี้ไม่ชัดเจน อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสินค้า ทั้งจากฝั่งเจ้าของธุรกิจและลูกค้าในอนาคต ดังนั้น ในหัวข้อนี้จะต้องตอบให้ได้ว่า สินค้าหรือบริการมีข้อดีอย่างไร ลูกค้าจะได้คุณค่าอะไรจากการจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการนี้ สินค้านี้จะช่วยแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์อะไรให้กับลูกค้า เช่น ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง มีราคากาแฟที่สูงกว่าร้านอื่น ๆ แต่ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่า เพื่อที่จะมีพื้นที่นั่งทำงานได้นาน สงบ บรรยากาศดี สะอาดและมีที่จอดรถ เป็นต้นภาพถ่ายโดย Helena Lopes จาก Pexels 5. พันธมิตรทางธุรกิจ (Key Partners; KP)โลกของการทำธุรกิจในปัจจุบันนี้ อาจต้องยอมรับว่า องค์ความรู้ วิธีการและเทคโนโลยี ถูกสร้างขึ้นและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน แน่นอนว่าการสร้างธุรกิจ นอกจากการผลิตสินค้าและบริการ อาจมีการขนส่ง การประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาและอื่น ๆ หากเจ้าของธุรกิจจะต้องทำทั้งหมด อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่ถ้ามีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีและไว้ใจได้ เข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจ ย่อมส่งผลดีต่อการแบ่งปันองค์ความรู้ วิธีการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถหมุนเข้าจังหวะกับโลกใบนี้ ได้อย่างเหมาะสมภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels 6. กิจกรรมหลักของธุรกิจ (Key Activities; KA)สำหรับในส่วนนี้ จะเป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ให้ชัดเจน ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ เช่น หากจะเปิดร้านอาหาร หน้าที่ของเจ้าของร้านจะต้องควบคุม ดูแลและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของร้านอาหาร ร้านอาหารจะต้องมีกี่ตำแหน่ง กี่หน้าที่ หน้าที่ของพ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ แม่บ้าน การเงิน ประชาสัมพันธ์ จะต้องทำอะไรบ้าง ควรระบุให้ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า หากเริ่มดำเนินธุรกิจไปแล้ว อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข บทบาทและหน้าที่เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม 7. ทรัพยากรหลัก (Key Resources; KR)ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ อีกหนึ่งสิ่งที่ควรตอบให้ได้ก็คือ ทรัพยากรอะไรบ้างที่ธุรกิจจำเป็นต้องมี เช่น จะต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์จำนวนกี่คน ต้องมีเงินทุนเท่าไร จะต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอะไรบ้าง พื้นที่ ที่ดินหรือทำเลที่ต้องการ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน อาจลองแยกเป็น 2 หัวข้อว่า ทรัพยากรอะไรบ้างที่มีอยู่แล้วและทรัพยากรอะไรบ้างที่จะต้องหาเพิ่ม เชื่อเถอะ ! การเตรียมทรัพยากรหลักให้พร้อมก่อนเริ่มธุรกิจนั้นสำคัญมาก หากเริ่มต้นธุรกิจไปแล้วพบว่า ยังขาดทรัพยากรหลักที่จำเป็นต้องมี อาจทำให้รู้สึกใจเต้นแปลก ๆ ได้เลยนะ !ภาพถ่ายโดย Ann H จาก Pexels 8. โครงสร้างของต้นทุนทางธุรกิจ (Cost Structure; CS)สำหรับการพิจารณาเรื่องต้นทุน อาจเริ่มต้นอย่างง่ายด้วยการแยกต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ต้องจ่ายทุกเดือน (Fixed Cost) ออกมาให้ชัดเจน เช่น ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน ค่า Ads โฆษณารายเดือน เป็นต้น และต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่แน่นอน บางเดือนมาก บางเดือนน้อย (Variable Cost) เช่น ค่าส่งของ ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ค่าน้ำ เป็นต้น หากสามารถเขียนโครงสร้างของต้นทุนทางธุรกิจออกมาได้อย่างชัดเจน จะทำให้สามารถวางแผนด้านการเงินของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ว่าจะต้องมีกระแสเงินสดในธุรกิจจำนวนเท่าไร 9. กระแสรายได้ของธุรกิจ (Revenue Stream; RS)ในส่วนสุดท้ายนี้ อาจเป็นส่วนที่ทำให้ชื่นฉ่ำหัวใจ เมื่อคิดถึงกระแสเงินที่ไหลเข้ามาสู่บัญชี เพราะในหัวข้อนี้จะเป็นการระบุในเรื่องของรายได้ ว่าจะมีเงินหรือรายได้เข้ามาอย่างไร เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ส่วนต่างกำไรจากการขายสินค้า ค่าเช่าพื้นที่โฆษณาจากผู้สนับสนุน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจระบุเพิ่มเติมด้วยว่าจะใช้เครื่องมือใดในการรับเงินบ้าง เช่น การโอนผ่านทางธนาคาร พร้อมเพย์ Wallet ต่าง ๆ บัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งช่องทางการชำระเงินอาจมีได้หลากหลายช่องทาง พิจารณาจากพฤติกรรม ความสะดวกของลูกค้าเป็นหลัก ในบางครั้ง อารมณ์ของลูกค้า + ช่องทางการชำระเงินที่สะดวก ก็อาจทำให้เกิดกำไรได้ในเสี้ยววินาที :)ภาพถ่ายโดย Printexstar จาก Pexels สุดท้ายนี้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นอกจากสินค้าที่ดีและแผนธุรกิจที่ยอดเยี่ยมแล้ว การเริ่มต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด หากไม่เริ่มก้าวออกไปหาความสำเร็จในวันนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่ความสำเร็จจะก้าวเข้ามาหาเองเช่นกัน เริ่มวาดความฝันที่ยิ่งใหญ่ แล้วเริ่มทำมันจากจุดเล็ก ๆ เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทาง ก้าวผ่านความกลัวและความผิดพลาด จะไปถึงความสำเร็จอย่างแน่นอน" ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใด ๆ ไม่ใช่คนที่เก่งและสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกของเรื่องนั้น ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญคือคนที่ผิดพลาดมามากกว่าคนอื่น จึงได้เรียนรู้มากกว่าคนอื่น " Ref. ภาพหน้าปก ดัดแปลงผลงานของ Firmbee.com on Unsplashอัปเดตสาระดี ๆ มีประโยชน์แบบนี้อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !