"วัยว้าวุ่น" สำหรับน้องหมาคือ วัยรุ่นตอนปลาย...ช่วงวัยนี้ สำหรับน้องหมาทั่วไปทั้งเพศผู้และเพศเมียก็คือช่วงอายุ 6 - 8 เดือน แต่น้องหมาบางตัว โดยเฉพาะพันธุ์เล็ก อาจเข้าสู่ช่วงวัยนี้เร็วกว่านี้ (ช่วงอายุ 4 - 6 เดือน) ส่วนพันธุ์ใหญ่ก็อาจเข้าสู่วัยนี้ช้ากว่านี้ (ช่วงอายุ 9 เดือน - 2 ปี) ค่ะ...เป็นปกติที่น้องหมาวัยนี้จะทำตัวแปลก ๆ หรือมีอาหารแปลก ๆ ที่ทำให้เจ้าของสงสัยหรือไม่สบายใจว่า น้องหมากำลังป่วยหรือกลายเป็นเด็กนิสัยไม่ดีเข้าเสียแล้ว...เมื่อตรวจสอบอาการต่าง ๆ ตามคำแนะนำของคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแล้ว เราก็จะคลายใจลงมาได้บ้างว่า น้องไม่ได้เป็นอะไรมาก น้องแค่เข้าสู่ "วัยว้าวุ่น" ค่ะความ "ว้าวุ่น" ของน้องหมาอาจทำให้เจ้าของ "ว้าวุ่น" ตามจากเด็กตัวโตที่กำลังน่ารัก หล่อเหลาแบบหนุ่มน้อย สดสวยแบบสาวน้อย ยังขี้เล่น ขี้อ้อน แต่รู้เรื่องรู้ราวมากขึ้น ทำให้เจ้าของเพลิดเพลินและสนุกสนานเวลาอยู่กับเขา...พอมาถึงวันหนึ่ง เธอก็เปลี่ยนไป...ตัวอย่างพฤติกรรมที่น้องหมา "วัยว้าวุ่น" ที่อาจทำให้คุณนุดไม่สบายใจหรือกังวลใจ มีดังนี้ค่ะ1. น้องหมาเบื่ออาหาร ไม่กินไปเสียเฉย ๆ อย่างกับอิ่มทิพย์น้องหมาจะไม่อยากกินอะไร แม้แต่ของที่ชอบ หรือของที่เรามั่นใจว่าน้องไม่ปฏิเสธแน่นอน...ตอนแรกเราก็ไม่สบายใจ เพราะกลัวน้องป่วยหรือจะเป็นโรคขาดสารอาหารไป...แต่ที่บ้านของผู้เขียนก็ไม่เปลี่ยนสูตรอาหารนะคะ อันนี้ทำตามคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญค่ะ (ถ้าเปลี่ยนบ่อย น้องจะติดนิสัยเลือกกิน) จะใช้วิธีบังคับบ้าง หรือรอจนเขาหิวแล้วตะล่อมป้อนให้กินบ้าง แล้วแต่โอกาสค่ะ 2. น้องหมาเพิ่มความสนอกสนใจเรื่องชาวบ้านขึ้นมาก ๆถ้าอยู่ในบ้าน น้องก็จะมีที่ประจำคือ หน้าประตู ไม่ว่าจะเป็นประตูบ้านหรือประตูรั้วค่ะ...ขอให้ได้สอดส่องดูชาวบ้านทุกสปีชีส์ (คน หมา แมว นก) ว่าเขาทำอะไรกัน...ได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือน่าตื่นเต้น เช่น คนซ่อมอะไรเสียงดัง หมาแมวทะเลาะกัน ฯลฯ น้องก็จะต้องขอออกไปดู ไปอยู่ขอบสนาม...บางทีก็ต้องปล่อยตามใจน้อง ถ้าไปนั่งนอนดูเขาเฉย ๆ แต่บางทีก็ต้องพาเข้าบ้าน เพราะไม่อยากให้เสียงเห่าของน้องไปรบกวนคนอื่นค่ะ...นอกจากอยากส่องคนอื่น น้องก็ยังอยากออกนอกบ้านด้วย ถ้าบ้านไหนตั้งใจจะเลี้ยงน้องแบบระบบปิด ก็ต้องดูแลกันดี ๆ เผื่อว่าน้องจะหนีออกไปค่ะ...ถ้าน้องได้ออกนอกบ้าน น้องก็จะไปอยู่มะรุมมะตุ้มกับพรรคพวก น้องหมาบางบ้านก็ถึงกับหายไปหลาย ๆ วัน กลับบ้านมาได้ก็ผอมโซ สภาพดูไม่ได้กันเลยทีเดียว...ที่บ้านเป็นห่วงน้องจะเจ็บตัวหรือไปติดเชื้อโรคอะไรจากนอกบ้าน จึงไม่ปล่อยให้ออกไปไหนเอง มีแต่พาออกไปโดยเราไปด้วยค่ะ 3. น้องหมามีอารมณ์รุนแรงและแปรปรวนเป็นเพราะน้องเริ่มโตขึ้น มีแรงกำลังและความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น และกลัวอะไร ๆ น้อยลง ทำให้มีความอยากแสดงอำนาจกับตามใจตัวเองมากขึ้น...จนเราอาจรู้สึกว่า น้องไม่ได้ว่านอนสอนง่ายเหมือนตอนเด็ก ๆ บางทีก็ดื้อตาใส และบางทีก็แสดงความก้าวร้าว...น้องจะมีพลังงานที่ต้องปลดปล่อยมากขึ้น แค่การเล่นก็แสดงถึงความโหด เห็นได้จากแรงปะทะ และสภาพของเล่น (ยับเยิน)...ถ้ามีอะไรขัดใจน้อง ก็ง่ายที่จะทำหน้าเหวี่ยงใส่หรืองอนให้เรา บางทีก็ปัดก้นเดินหนีเราไปอยู่เงียบ ๆ คนเดียว พร้อมกระแทกตัวลงพื้นเสียงดัง...เราก็ปล่อย ๆ น้องบ้าง ถ้ามันไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร แต่ถ้าน้องเกรี้ยวกราดเกินเบอร์ก็ต้องมีกำราบกันบ้าง เพื่อไม่ให้น้องติดนิสัยเกี้ยวกราดรุนแรงค่ะ...อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ กรณีที่น้องอยู่กับเพื่อน ๆ การแสดงอารมณ์รุนแรงกับเพื่อน ๆ อาจนำไปสู่การทะเลาะให้เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันได้ และอาจบานปลายใหญ่โตจนกลายเป็นคู่อาฆาตตลอดไป ชนิดอยู่บ้านเดียวกันไม่ได้ ก็มีค่ะอาการที่ชี้ชัดว่าน้องหมาย่างเข้า "วัยว้าวุ่น" จริงอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็อาจทำให้คุณนุดเจ้าของไม่สบายใจว่า น้องหมาผิดปกติอะไรหรือเปล่า...แต่เมื่อได้มาสำรวจดูการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมอย่างอื่นของน้อง...ถ้าตรงตามนี้ ความกังวล - สงสัยย่อมจางคลายลง เปลี่ยนเป็นความเข้าใจว่า น้องหมาไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า เข้าสู่ "วัยว้าวุ่น" ค่ะ1. น้องหมาแสดงความสนใจน้องหมาเพศตรงข้ามถ้าเป็นน้องหมาเพศผู้ ก็จะไปจีบหรือตามติดน้องหมาเพศเมีย และถ้ามีกำลังพอ ก็จะกีดกันหนุ่ม ๆ ตัวอื่น ๆ...ถ้าเป็นน้องหมาเพศเมีย ก็จะทำท่าชอบพอหรือหว่านเสน่ห์ให้น้องหมาเพศผู้ แถมมีการเขม่นกันระหว่างสาว ๆ อีกด้วย...แบบนี้คุณนุดก็พอจะเข้าใจแล้วนะคะว่า น้องหมาของเราเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว2. น้องหมามีพัฒนาการทางร่างกายเขาบอกว่า น้องหมาจะเลียอวัยวะเพศบ่อย แต่คนที่บ้านผู้เขียนเองสังเกตได้ไม่ชัดนะคะ เพราะเห็นทีไรก็คิดว่าน้องกำลังทำความสะอาดเนื้อตัวตามปกติ...ที่เห็นชัดกว่าก็คือ น้องหมาเพศผู้ ลูกอัณฑะในถุงอัณฑะจะแยกเป็นสองลูกชัดเจน ส่วนน้องหมาเพศเมียจะเป็นสัด (เป็นฮีท) คือมีเลือดออกเหมือนคนมีประจำเดือนค่ะ...การดูแลหนุ่มน้อยไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไหร่ เขาก็จะมีความห้าวความคะนองแบบผู้ชาย แต่ก็ต้องระวังเรื่องทะเลาะกับเพื่อนอย่างที่กล่าวมาแล้วนะคะ...แต่การดูแลสาวน้อยนี่ ต้องดูแลทั้งกายและใจเลยค่ะ เพราะน้องจะมีอาการเหนื่อย เพลีย ไม่สบายตัว ไม่อยากกินในบางครั้ง และกินจุในบางครั้ง หงุดหงิดง่าย ขี้น้อยใจ และต้องการกำลังใจและการเอาใจ เหมือนคนนั่นแหละค่ะคุณหมอบอกว่า ตั้งแต่น้องหมาเริ่มเป็นหนุ่มน้อยสาวน้อย ก็มีความสามารถสืบพันธุ์มีลูกได้แล้ว แต่เพื่อความแข็งแรงของร่างกายน้อง ๆ เอง รวมทั้งลูกหมารุ่นใหม่ ควรรอจนถึงช่วงอายุที่เหมาะสมที่จะเป็นพ่อแมได้ คือ ตั้งแต่ปีครึ่งขึ้นไป (บางพันธุ์ก็รอให้โตถึง 2 ปี) หรือน้องหมาเพศเมียเป็นสัดครั้งที่ 3 ค่ะ...ดังนั้น ถ้าน้อง ๆ เริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว และคุณนุดไม่อยากให้เขาสืบพันธุ์ - มีลูกทันที ก็ต้องกักบริเวณเขา ไม่ให้เขาออกไปเจอเพื่อน ๆ ส่วนน้องหมาเพศเมียก็อาจใส่ผ้าอ้อมให้เขา ซึ่งก็ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นในการทำความสะอาดบ้าน แถมลดจำนวนหนุ่ม ๆ ที่จะมารุมห้อมล้อมหน้าบ้านด้วยค่ะ (แต่ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นกับผ้าอ้อม ซึ่งน้องจะมีเลือดออกสัก 2 - 3 สัปดาห์ค่ะ)...อีกกรณีคือ ถ้าคุณนุดเจ้าของไม่ได้ปรารถนาให้น้องหมาสืบพันธุ์ - มีลูกเลย ก็สามารถพาน้องไปทำหมันได้ตั้งแต่อายุครบ 6 เดือน สำหรับน้องหมาเพศผู้ และ 7 เดือน สำหรับน้องหมาเพศเมียค่ะ ลูกหมาโต อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วงวัยรุ่นตอนปลายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เป็นช่วงวัยที่น้องจะแสดงศักยภาพทางร่างกายและสมองออกมา ทำให้เราเห็นภาพตอนที่น้องโตเต็มที่แล้วได้ค่อนข้างชัดเจนค่ะ...กรณีที่เราเลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ ความรักความผูกพันในเจ้าของก็จะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ ในตอนนี้ เรียกว่า รู้ใจกันแล้ว ค่ะ...การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารมณ์ พฤติกรรม และพัฒนาการทางร่างกาย สำหรับน้องหมาช่วงวัยนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับทั้งน้องหมาเองและคุณนุดเจ้าของเลยนะคะ...แต่เมื่อผ่านช่วงนี้ไปด้วยความรักเอาใจใส่และความเข้าใจจากคุณนุดรอบตัวแล้ว น้องหมาที่เคยว้าวุ่นก็จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพทั้งกายและใจค่ะด้วยความปรารถนาดี จาก มรรษยวรินทร์(ภาพประกอบทั้งหมด โดย มรรษยวรินทร์)