รีเซต

รู้จัก 'ศานนท์' ว่าที่รองผู้ว่าฯ วัย 33 คนรุ่นใหม่ โปรไฟล์แน่น เคียงข้างคนจนเมือง

รู้จัก 'ศานนท์' ว่าที่รองผู้ว่าฯ วัย 33 คนรุ่นใหม่ โปรไฟล์แน่น เคียงข้างคนจนเมือง
มติชน
1 มิถุนายน 2565 ( 10:23 )
220
รู้จัก 'ศานนท์' ว่าที่รองผู้ว่าฯ วัย 33 คนรุ่นใหม่ โปรไฟล์แน่น เคียงข้างคนจนเมือง

คนกรุงเทพฯ เฮแล้ววานนี่ เมื่อ กกต. ก็ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 จากคะแนนเสียงเฉียด 1.4 ล้าน

 

31 พฤษภาคม ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังไฟเขียวของกกต. ว่าจะเปิดตัว 3 ทีมงานในวันนี้ 1 มิถุนายนนี้ โดยจะเดินทางเข้าไปยังสำนักงาน กกต. และศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้าตามลำดับ

 

1 ใน 4 รองผู้ว่าฯ ตามโผ คือ ศานนท์ หวังสร้างบุญ คนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ด้วยวัยเพียง 33 ปี ทว่า โปรไฟล์เข้มข้น ต่อสู้เพื่อชุมชน คนจนเมือง เคียงข้างประชาชนรากหญ้าที่ประสบชะตากรรมจากแนวนโยบายภาครัฐ อาทิ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ซึ่งถูกไล่รื้อเมื่อ 4 ปีก่อนเพื่อสร้างสวนสาธารณะ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประสบการณ์ร่วมพัฒนาเมืองในฐานะภาคประชาสังคม

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง และเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ ทั้งยังเป็น


ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Trawell และเจ้าของกิจการ Once Again Hostel ย่านประตูผี และ Luk Hostel ย่านเยาวราช และ Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหารบริเวณ 3 ย่านเสาชิงช้า-ประตูผี ย่านเยาวราช ย่านนางลิ้นจี่

 

จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิต พ.ศ.2553 เคยเป็นวิศวกรประจำภายในโรงงานประมาณ 5 ปี

 

สำหรับ Once Again Hostel เกิดจากความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน มาสู่การชนะเลิศ One Young World ปี 2558

 

หลังจากเริ่มก่อตั้ง Once again Hostel ได้ประมาณ 6 เดือน เริ่มมีประเด็นการไล่รื้อป้อมมหากาฬ ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Stakeholder จึงเริ่มทำงานขับเคลื่อนทางสังคมมากขึ้น

 

ปี 2562 ได้รับรางวัล JUMC STAR 2019 Excellence โดยสมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการด้านวิชาการเพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจประเทศในด้านต่างๆ

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ศานนท์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เกี่ยวกับความพยายามผลักดัน ‘มหากาฬโมเดล’ เปลี่ยนแปลงป้อมมหากาฬให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยกล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้ กทม.เข้ามาพัฒนาพื้นที่อยู่แล้ว ถ้าเข้าไปเห็นชุมชน ทุกคนจะเห็นในสิ่งเดียวกันว่ามีศักยภาพ แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดที่เป็นสถานที่ดีเลิศแก่การเยี่ยมชม ดังนั้น การที่ กทม.จะปรับปรุงพื้นที่เราไม่เคยปฏิเสธเลย แต่การที่เข้ามาไล่และรื้อบ้านคนทั้งหมดออกมันเป็นวิธีที่พวกผมรู้สึกเสียดาย เสียดายโอกาสในการสร้าง คือเหมือนว่าเรามีของดีอยู่ในมือ ทำไมเราจึงต้องทำลายมันลงไปเพื่อสร้างอะไรไม่รู้ขึ้นมาใหม่

 

“สิ่งที่เราพยายามพูดกันอยู่เราไม่ได้ช่วยให้คนผิดเป็นถูก เรากำลังบอกให้ทุกคนเคารพกฎหมายเหมือนเดิม แต่ในขณะที่เราเคารพกฎหมาย เราพยายามสร้างสิ่งที่มันดีให้กับทุกคนได้หรือไม่ ดีกับทุกคนหมายถึง 1.เราต้องมองไปที่ศักยภาพของพื้นที่ก่อนที่จะฟันธงว่าพื้นที่นี้ควรที่จะเป็นอะไร ปัจจุบันเราฟันธงมันไปแล้วว่ามันต้องเป็นสวนสาธารณะ แต่คำถามคือ คุณเคยเห็นหรือไม่ว่ามันมีบ้านไม้โบราณกี่หลัง แต่ละหลังมีศักยภาพอย่างไร รวมไปถึงเสน่ห์อะไรในพื้นที่ที่ควรดำรงเอาไว้ 2.ศักยภาพของบุคคล ชุมชน ที่สามารถเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสามารถทำงานให้กับรัฐได้” ศานนท์กล่าวในวันนั้น

 

ก่อนเตรียมพร้อมนั่งเก้าอี้ ‘รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ในวันนี้

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ : 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง