รีเซต

กทม. จัดระบบดูแลรักษาตัวผู้ป่วยที่บ้าน ติดตามผ่านแอพพ์ ส่งยา-อุปกรณ์ ถึงบ้าน

กทม. จัดระบบดูแลรักษาตัวผู้ป่วยที่บ้าน ติดตามผ่านแอพพ์ ส่งยา-อุปกรณ์ ถึงบ้าน
มติชน
20 กรกฎาคม 2564 ( 19:49 )
54
กทม. จัดระบบดูแลรักษาตัวผู้ป่วยที่บ้าน ติดตามผ่านแอพพ์ ส่งยา-อุปกรณ์ ถึงบ้าน

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 กรกฎาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการบูรณาการการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ที่แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation) โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ท.ธานี​ ฉุยฉาย ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท. ณัฐพงษ์ เพราแก้ว กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สำราญ นวลมา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ดร.กิตติ วงศ์ถาวรวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ A-MED สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล (Teleconference)

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ป่วยที่รอเตียงหรือผู้ป่วยตกค้างในชุมชนจำนวนมาก เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษา กทม. จึงจัดระบบบริการผู้ป่วยที่สามารถดูแลแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI)

 

โดยเน้นการดูแลรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ดูแลติดตามผู้ป่วย ซึ่งจะได้รับการประเมินอาการทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง อาหาร 3 มื้อ พร้อมทั้งได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลพินิจของแพทย์ ในกรณีที่อาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล

 

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถดูแลแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptornatic case) อายุไม่เกิน 60 ปี ผู้ป่วยและคนที่พักอาศัยด้วยกันต้องไม่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ระยะ3,4,5 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์ และที่พักอาศัยมีพื้นที่ที่เหมาะแก่การกักตัว ทั้งนี้ได้มอบหมายสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจและเร่งดำเนินการดูแลผู้ป่วยที่รอเตียงหรือผู้ป่วยตกค้างในชุมชนให้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

พร้อมกันนี้ กทม. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแอปพลิเคชัน BKK HI Care ระบบบริหารจัดการผู้ป่วย Home Isolation เพื่อจัดทำทะเบียนข้อมูลรายบุคคล สามารถติดตามและดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านได้อย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยสามารถรายงานอาการและรับคำแนะนำการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์และพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ BKK HI care ซึ่งสามารถติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยระบบ BKK HI care ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายและมีเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดย 1 เครื่องสามารถลงทะเบียนใช้งานได้มากกว่า 1 คน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสามารถโทรแจ้งรายงานอาการกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบคาดว่าจะสามารถใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวได้ในเร็ววันนี้

 

นอกจากนี้ กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกองทัพบก กองบัญชาการตำรวจนครบาล และเครือข่าย จิตอาสา ในการร่วมดูแลผู้ป่วย ที่กักตัวที่บ้าน โดยจะช่วยเหลือนำยาและอุปกรณ์การรักษาเบื้องต้นไปส่งมอบให้แก่ผู้ป่วยที่พักอาศัย รวมทั้งจัดรถสำหรับรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาหรือส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง