ไม้ประดับในตระกูลพลูด่าง ถือเป็นต้นไม้ฟอกอากาศที่ต้องปลูกในบ้าน ราคาไม่แรง ที่ได้รับความนิยมเสมอมา ด้วยความที่หาซื้อได้ไม่ยาก เลี้ยงง่าย เหมาะกับมือใหม่หัดปลูก เพียงแค่รู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการดูแล ก็รับรองว่าเพื่อนๆ จะปลูกเลี้ยงเขารอดได้อย่างแน่นอน วันนี้ เลยอยากมาแนะนำต้นไม้ฟอกอากาศในตระกูลพลูด่าง 2 ชนิด ที่ทั้งสวยงาม และราคาจับต้องได้ ให้กับเพื่อนๆ ที่กำลังอยากได้ต้นไม้ฟอกอากาศมาปลูกประดับบ้านสักต้น พร้อมมาบอกเคล็ดลับการเลี้ยงอย่างไรให้รอด จะมีพลูด่างชนิดใดบ้างไปดูกันเลย “พลูงาช้าง” ไม้ด่างสายอึดพลูงาช้าง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Epipremnum aureum (Linden & André) G. S. Bunting เป็นต้นไม้ฟอกอากาศในตระกูลพลูด่าง ที่มีลักษณะใบโดดเด่นเป็นสีด่างเขียวสลับขาว ขนาดของใบค่อนข้างเล็กน่ารัก เมื่อเทียบกับพลูด่างสายพันธุ์อื่นๆ เอกลักษณ์ของลวดลายบนใบจะเหมือนถูกแต้มสีเขียวไว้เป็นกลุ่มก้อน ดูเป็นระเบียบ ข้อดีของการมีพลูงาช้างไว้ในบ้านคือ เขามีคุณสมบัติในเรื่องของการฟอกอากาศ ช่วยดูดซับสารพิษไอระเหยจากพวกสีทาบ้าน กระดาษ และพลาสติกได้ ส่วนสนนราคาสำหรับกระถางขนาด 4 นิ้ว เริ่มต้นที่ประมาณ 10-35 บาท ในบางช่วงราคาอาจดีดขึ้นไปที่ 70-80 บาท แต่ก็ยังจัดเป็นเรทราคาที่ดีต่อใจมือใหม่หัดปลูกอย่างเราๆเลี้ยงยังไงให้รอดการดูแลพลูงาช้างนั้น เพียงแค่เพื่อนๆ ใส่ใจในเรื่องของการควบคุมความชื้นให้ดี ไม่ควรรดน้ำบ่อยเกินไป หรือปล่อยให้มีน้ำขังแฉะในกระถาง เพราะจะทำให้ต้นไม้ของเรารากเน่าได้ ดังนั้น คำแนะนำก็คือ ควรเริ่มต้นจากการปรุงดินปลูกให้ดี โดยต้องมีความโปร่ง ร่วนซุย และที่สำคัญ ต้องระบายน้ำได้ดี เพื่อนๆ อาจจะใช้วัสดุปลูกที่หาได้ง่ายๆ เช่น ดินถุงตามร้านต้นไม้ นำมาผสมคลุกเคล้ากับกาบมะพร้าวสับ ในอัตราส่วน 1:1 จากนั้นก็นำกระถางไปวางในมุมที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ห้องรับแขก หรือบริเวณระเบียงภายนอกบ้านแล้วแต่ความสะดวก แต่ควรเลือกมุมที่มีแสงสว่างส่องถึงเพียงพอ โดยเป็นแสงในลักษณะฟุ้งกระจาย ผ่านหน้าต่าง และควรเป็นมุมที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตสำหรับความถี่ของการรดน้ำ อาจจะแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ที่จัดวาง โดยเฉลี่ย 2-3 วันครั้ง แต่วิธีที่ดีที่สุด แนะนำให้เพื่อนๆ ลองสังเกตดูจากวัสดุปลูก หากเห็นว่าหน้าดินเริ่มแห้งขาดความชุ่มชื้นแล้ว ก็ค่อยรดน้ำบริเวณโคนต้นให้น้ำไหลผ่านทั่ววัสดุปลูก และอาจจะเพิ่มธาตุอาหาร เช่น ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 สัก 3 เดือนครั้งก็ได้ เท่านี้ก็เพียงพอให้เขางอกงามอยู่รอดได้แล้วสำหรับการขยายพันธุ์พลูงาช้างนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการปักชำเช่นเดียวกับต้นไม้ในตระกลูพลูด่างอื่นๆ โดยเพื่อนๆ จะใช้วิธีปักชำลงในดินโดยตรง หรือปักชำในน้ำก็ได้ ซึ่งจากการทดลองปลูกเลี้ยงที่ผ่านมา ขอแนะนำวิธีปักชำในน้ำ เพื่อสังเกตอัตราการงอกของรากก่อน เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เมื่อรากเดินดีแล้ว จึงค่อยทำการย้ายมาปลูกลงในดินภายหลัง วิธีนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้เห็นถึงพัฒนาการการเติบโตของต้นไม้ที่เรารักในทุกๆ วันไปด้วย ทำให้มีกำลังใจ ไม่ท้อถอยกับการปลูกต้นไม้ไปเสียก่อนอีกด้วยนะTip : สำหรับการปลูกเลี้ยงไว้ในห้อง บางคนอาจจะกังวลเรื่องความชื้นและเชื้อราที่จะเกิดกับต้นไม้ เนื่องจากอากาศถ่ายเทได้ไม่ดีเท่ากับการเลี้ยงไว้ภายนอกบ้าน ดังนั้น นอกจากควรหมั่นสังเกตดูความชื้นบนหน้าดินแล้ว อาจลองใช้วิธีง่ายๆ ด้วยวัตถุดิบก้นครัวที่เป็นมิตรกับต้นของเรา อย่างเช่น การโรยหน้าดินด้วยอบเชยป่น เพื่อป้องกันและยับยั้งเชื้อรามาเยือนกันดู“พลูใบแอปเปิ้ล” สวยมาก แต่เอาใจยากหน่อยๆไม้ฟอกอากาศตระกูลพลูด่างอีกหนึ่งสายพันธ์ุที่อยากแนะนำคือ พลูใบแอปเปิ้ล หรือพลูแอปเปิ้ล ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Manjula Pothos" เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของ Epipremnum aureum ที่เหมาะจะนำมาปลูกประดับภายในบ้าน เพราะมีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก และช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอากาศได้ สำหรับมือใหม่อาจจะสับสนระหว่าง พลูใบแอปเปิ้ล และพลูงาช้าง เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก แต่จริงๆ แล้วสามารถสังเกต และแยกความแตกต่างได้ไม่ยากเลย โดยพลูใบแอปเปิ้ลนั้น จะมีรูปทรงของใบผาย อ้วนป้อม และมีขนาดใบที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด ผิวสัมผัสของใบเรียบลื่น มันเงา ส่วนสีของใบนั้นแม้เป็นลายด่างเขียวผสมขาวเช่นเดียวกัน แต่บางสายพันธุ์ลวดลายสีเขียวจะผสมผสานทั้งลักษณะแบบกลุ่มก้อนสี และจุดสีที่คล้ายเกิดจากการสะบัดพู่กัน แลดูสวยงามมากๆ ทางด้านสนนราคาของพลูใบแอปเปิ้ลจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าพลูงาช้างขึ้นมาเล็กน้อย กระถางขนาด 4 นิ้ว เริ่มต้นที่ประมาณ 20-100 บาท หรือบางช่วงราคาอาจพุ่งไปแตะที่ประมาณ 200 กว่าบาท หรือสูงกว่านั้นก็มีเลี้ยงยังไงให้รอดแม้ว่าพลูใบแอปเปิ้ล และพลูงาช้าง จะเป็นต้นไม้ในตระกูลเดียวกัน มีรูปลักษณ์คล้ายๆ กัน แต่ต้องบอกว่าพลูใบแอปเปิ้ลค่อนข้างเอาใจยากกว่าพลูงาช้างนิดหน่อย เพราะว่าใบของเขาจะเกิดเชื้อราได้ง่ายมากแม้ว่าจะได้รับความชื้นในปริมาณที่เท่าๆ กันก็ตาม ดังนั้น แนะนำให้เพื่อนๆ เพิ่มระยะห่างความถี่ในการรดน้ำ โดยอาจจะปรับเป็น 3 วันครั้ง หรือห่างกว่านั้น โดยสังเกตดูจากวัสดุปลูก และไม่ควรให้มีหยดน้ำค้างอยู่บนใบ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ พบว่าใบของเขาเริ่มมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้น ดินมีความชื้นแฉะ หรือเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง อาจสันนิษฐานได้เลยว่าเป็นอาการที่เกิดจากเชื้อราตัวร้าย ขอแนะนำให้เพื่อนๆ รีบกำจัดใบที่เป็นจุดอ่อนนั้นทิ้งทันที ไม่ต้องเสียดาย เพื่อยับยั้งไม่ให้โรคลุกลาม จากนั้นค่อยกลับมาควบคุมความชื้น ปรับความถี่ในการรดน้ำกันใหม่สำหรับการขยายพันธุ์พลูใบแอปเปิ้ลนั้น จากการทดลองปักชำลงดินโดยตรงแล้วพบว่า เขาไม่ติดรากและเน่าตายไป ดังนั้น หากเพื่อนๆ อยากจะลองขยายพันธุ์พลูใบแอปเปิ้ลด้วยตัวเอง เราแนะนำให้ลองตัดข้อใบนำไปปักชำในน้ำ เพื่อสังเกตการเจริญเติบโตของรากดูก่อนจะเซฟกว่าTip : หากเพื่อนๆ อยากเห็นพัฒนาการเจริญเติบโตที่ดี แนะนำให้วางกระถางพลูใบแอปเปิ้ลไว้ที่ระเบียงนอกบ้าน โดยวางในมุมที่ได้รับแดดอ่อนๆ ยามเช้า รับรองว่าเขาจะยิ่งแตกใบแตกยอดใหม่ ให้สีสวยชัด เห็นแล้วอดปลื้มใจไม่ได้เลยทีเดียวเครดิตรูป : เครดิตทั้งหมดโดยครีเอเตอร์เอง#ต้นไม้ฟอกอากาศ #พลูด่าง #พลูใบแอปเปิ้ล #พลูแอปเปิ้ล #พลูด่างแอปเปิ้ล #พลูงาช้าง #พลูด่างงาช้าง เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !