สำหรับบทความนี้ตั้งใจทำขึ้นเพื่อน้อง ๆ หนู ๆ รวมถึงคนหน้าใหม่ที่สนใจและมีความชอบในหุ่นกันดั้ม หรือโมเดลกันดั้ม หรือที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินในชื่อ “กันพลา” แต่ก็ยังงง ๆ กันอะไรคือ กันพลา และพวกนัก Modeler เขาคุยอะไรกัน HG RG MG มันเล่นอะไรยังไง และที่สำคัญอะไรคือ “ต่อดิบ” แค่อ่านก็งงละขนาดเราเองที่เคยสัมผัสเล่น ๆ ต่อ ๆ มาตั้งหลายตัวทีแรกมาฟังยังงงเลย ดังนั้นวันนี้เราจะมาอธิบายกันแบบบ้าน ๆ ไม่ต้องใช้ศัพท์เทคนิคอะไรมากมายให้เพื่อน ๆ ที่กำลังเริ่มเล่นหรือสนใจในเจ้ากันพลาได้ไปคุยกับเขาได้รู้เรื่อง...หรือคุณสาว ๆ จะได้ไปแอบดูคุณแฟนว่าเขาเล่นอะไรยังไงก็ได้นะครับ มาเริ่มกันแบบง่าย ๆ และเร็ว ๆ กันเลยกันพลา (gunpla) คืออะไร คิดว่าหลายคนคงรู้จัก กันดั้ม (Gundam) กันอยู่แล้ว แต่คงจะมีหลายคนที่สงสัยว่าแล้ว กันพลา มันคืออะไร กันพลา (gunpla) ก็คือ โมเดลหุ่นกันดั้มพลาสติก หรือที่เรียกย่อมาจาก Gundam Plastic Model นั่นเอง ซึ่งลักษณะเด่นของ Plamo (plastic Model) คือการที่ตัวโมเดลไม่ได้ทำมาสำเร็จรูปแต่เราต้องมานั่งต่อให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเองกันพลามีกี่แบบ ถ้าแบ่งจริง ๆ แล้วในปัจจุบันจะแยกย่อยแตกไลน์ออกมามากมายเต็มไปหมด แต่วันนี้จะขอพูดถึงประเภทใหญ่ ๆ ที่คนมักเรียกกันและเป็นที่นิยม ได้แก่HG ย่อมาจาก High Grade เป็นโมเดลขนาดสเกล 1/144 มีรายละเอียดและจุดขยับพอสังเขปไม่มากไม่น้อย ราคากลาง ๆ หลักร้อยถึงพันนิด ๆ สำหรับไลน์ย่อยบางไลน์หรือหุ่นบางตัว เป็นไลน์ทั่ว ๆ ไปเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย (แต่สำหรับน้อง ๆ หนูๆ ควรโตหน่อยนะสำหรับของเล่นประเภทนี้)MG ย่อมาจาก Master Grade ขอข้ามมาที่ MG เป็นโมเดลขนาด 1/100 ตัวใหญ่กว่า HG มีรายละเอียดมากกว่า จุดขยับมากกว่า แพงกว่า สวยเป๊ะกว่า ถอดแบบจากการ์ตูนหรือดีไซน์ต้นแบบเกือบ 100% ต่อยังไงก็สวย แต่ก็ต่อยากกว่าเช่นกัน เหมาะกับคนที่ใจรักและเป็นนักสะสมหน่อย ไม่ได้เหมาะกับทุกคนRG ย่อมาจาก Real Grade พูดง่าย ๆ คือ MG ย่อส่วนเหลือ 1/100 แต่อาจจะมีข้อจำกัดบ้างตามขนาดที่จะไม่ได้เหมือน MG แบบเป๊ะ รายละเอียดสวยงามครบถ้วนเหมาะแก่การตั้งโชว์ ราคาอยู่ที่หลักพันต้น ๆPG ย่อมาจาก Perfect Grade เรียกได้ว่าเป็นที่สุดของเกรดพลาโม ด้วยขนาด 1/60 ความละเอียดที่สุดพร้อมด้วยระบบไฟ ที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือในการประกอบสูงแม้ประกอบตามคู่มือก็ตาม ราคาเริ่มที่ 8-9 พันบาท เฉลี่ยอาจอยู่ที่เฉียดหมื่นอัพ (จริง ๆ ยังมีไลน์ใหม่ MGEX แต่ตอนนี้ออกมาแค่ตัวเดียว) เหมาะแก่ผู้มีประสบการณ์ในการต่อและชื่นชอบอย่างจริงจังSD ย่อมาจาก Super Deformed อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นกันดั้มหัวโต ตัวเล็ก แขนขาสั้น รูปร่างน่ารักเหมาะกับเด็ก ๆ และสาว ๆ ราคาไม่แรง ต่อง่ายอื่น ๆ (FG, 1/100, MegaSize, MGEX, ENTRY GRADE) จริงแล้วยังมีเกรดแยกย่อยอีกหลายเกรดที่มีในท้องตลาดครับแต่อาจจะไม่ได้มีสินค้าออกมาเยอะเท่าเกรดใหญ่ ๆ ที่กล่าวไป ยังไงหากสนใจเพิ่มเติ่มลองศึกษาต่อได้ครับ รู้จักกันพลากันไปแล้วคราวนี้มาเข้าหัวข้อหลักกันเลย กับอะไรคือการ “ต่อดิบ” หลาย ๆ คนคงเคยเห็นผลงานของ Modeler มืออาชีพผ่าน ๆ ตากันมาบ้าง อาจจะเป็นในเว็บไซต์หรือภาพโปรโมทงานต่าง ๆ ที่เราจะได้เห็นตัวหุ่นโมเดลสวย ๆ มีลักษณะสีสันแปลก ๆ หรือมีรูปร่างที่แปลกตาไปจากตัวต้นแบบ ซึ่งนั่นเกิดมาจากการดัดแปลงหรือ Custom จากตัว Modeler นั่นเองครับ โมเดลเหล่านั้นถูกจับทำสี เสริมแต่งอะไรบางอย่างไม่มากก็น้อย ผลงานเหล่านี้มักถูกเรียกว่าเป็นงาน Custom หรืองานโม (modify) แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราซื้อเจ้าหุ่นตัวต้นแบบมาแล้วต่อเฉย ๆ ตามคู่มือไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมกับมัน นั่นแหละครับที่เรียกว่าการต่อดิบ ต่อดิบ เอาง่าย ๆ ก็คือการประกอบตัวโมเดลขึ้นมาเฉย ๆ ตามแบบแปลงที่กำหนด โดยไม่ผ่านการดัดแปลง ตกแต่ง หรือทำสีใด ๆ เพิ่มเติม แต่บางครั้งหลาย ๆ ท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “ต่อดิบ+ตัดเส้น” หรือ “ติดดีคอล” ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า การตัดเส้นคือการตัดเส้นด้วยสีหรือหมึกลวดลายบนตัวโมเดลให้เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งมันเป็นวิธีนอกเหนือจากอุปกรณ์หรือที่คู่มือการต่อแนะนำมา ส่วนดีคอลก็คือสติกเกอร์สำหรับติดบนตัวโมเดลซึ่งมีทั้งที่ให้มาในกล่องอยู่แล้วหรืออาจหาจากที่อื่นมาติดเพิ่มก็ได้ โดยชนิดของดีคอลก็จะมีแตกต่างกันไปอีก ซึ่งบางท่านก็นับรวมการตัดเส้นหรือการติดดีคอล(ที่บางครั้งนอกเหนือจากที่โมเดลต้นแบบให้มา)เป็นการต่อดิบไปด้วยในตัวเนื่องจากเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ไม่ได้ยากอะไร แต่หลาย ๆ ท่านก็อาจไม่ได้ทำกัน เพราะหุ่นบางตัวบางรุ่นแค่ต่อเสร็จก็อาจจะสวยมากแล้ว บางทีจึงมีการบอกลักษณะผลงานให้เข้าใจได้ตรงกันว่าผลงานเป็นผลงานแบบไหน และพื้นฐานของการต่อโมเดลก็คืออย่างน้อย 3 อย่าง การประกอบเป็นตัว การตัดเส้น การติดดีคอลหรือสติกเกอร์ ซึ่งมักมาด้วยกัน ดังนั้นเราจึงมักได้ยินคำเหล่านี้เวลาบอกลักษณะผลงานมาคู่ ๆ กันนั่นเองครับผม การต่อดิบถือเป็นพื้นฐานของของเล่นแนวพลาโมหรือกันพลา ซึ่งจะมาในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปให้ผู้เล่นนำไปประกอบต่อเอง และสามารถที่จะนำไปดัดแปลงเสริมแต่งต่อได้ตามความพอใจของแต่ละคน ตรงจุดนี้ถือเป็นความสนุกและหัวใจสำคัญของกันพลา แต่บางครั้งผู้เล่นอาจจะไม่สะดวกพอที่จะทำการ Custom ต่อ อาจเนื่องจากความชอบส่วนตัว ความถนัดทักษะ ปัญหาด้านเวลา หรือปัญหาด้านอายุและสุขภาพ ตรงนี้เองในปัจจุบันผู้ผลิตได้มีการพัฒนาตัวพลาโมเดลให้มีความง่ายในการต่อ ทันสมัย และรายละเอียดที่สวยงามมากขึ้นเมื่อต่อเสร็จโดยไม่ต้องมีการตกแต่งต่อ ดังนั้นการต่อดิบเฉย ๆ กับกันพลาก็สามารถสร้างความสนุกและได้โมเดลที่สวยงามช่วยตอบโจทย์ให้คนหลายกลุ่มสนุกกับกันพลาได้มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นการต่อดิบแต่พลาโมเดลก็ยังเป็นพลาโมเดลที่หากอาศัยทักษะในการประกอบก็จะทำให้เราได้ชิ้นงานที่สวยงามมากยิ่งขึ้นแม้จะเป็นการต่อดิบก็ตาม ในครั้งหน้าผมจึงจะขอกลับมาแนะนำอุปกรณ์จำเป็น และเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยเป็นพื้นฐานในการประกอบชิ้นงานของเพื่อน ๆ ให้ออกมาเนียนเนี๊ยบสวยตรงตามปกพร้อมตั้งโชว์นะครับเครดิตของรูปภาพ :ภาพปก ภาพที่ 2 โดย Gunpla Navigation Web Catalogue 2019ภาพที่ 1,3,4,5 โดยเจ้าของบทความ